วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ประวัติย่อ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต2

ปฏิบัติ จิตใจของท่าน ก็เป็นไปโดยสม่ำเสมอ ไม่นอกลู่นอกทาง ทำให้ผู้อื่นเสียหาย และริจะทำเพื่อความเด่นความดัง อะไรออกนอกลู่นอกทาง นั้นไม่มี เป็นแนวทางที่ราบรื่นดีงามมาก นี่ละเป็นที่นอนใจ เป็นที่ตายใจ ยึดถือไว้ได้ โดยไม่ต้องสงสัย ก็คือปฏิปทาเครื่องดำเนินของท่าน
นี่ครูบาอาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาของท่าน ก็มีจำนวนมาก พากันดำเนินมายึดถือหลักนั้นแหละ มาปฏิบัติได้แพร่หลาย หรือกระจายออกไปแก่บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายเป็นแขนงๆ หรือแผลงๆ อะไรออกไปให้เป็นที่สะดุดตา ไม่แน่ใจอย่างนี้ไม่มี ท่านดำเนินอะไรเป็นที่เหมาะสมทั้งนั้น คือมีแบบมีฉบับเป็นเครื่องยืนยันไม่ผิดเพี้ยนไปเลย นี่เพราะเหตุไร เพราะเบื้องต้นท่านก็ตะเกียกตะกายก็จริง แต่ตะเกียกตะกายตามหลักธรรมหลักวินัย ไม่ได้นอกเหนือไปจากหลักธรรมหลักวินัย หลักวินัยคือกฎของพระระเบียบของพระ ท่านตรงเป๋งเลย และหลักธรรมก็ยึดธุดงค์๑๓ ข้อนี้เป็นทางดำเนิน ไม่ได้ออกนอกลู่นอกทางนี้ไปอย่างทางอื่นบ้างเลย นี่จึงเป็นที่น่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งมาตั้งแต่ขั้นเริ่มแรกของท่าน ต่อจากนั้นท่านก็ปรากฏเห็นผลขึ้นมาโดยอันดับอำดา ดังเคยเขียนไว้แล้วในประวัติของท่านจนกระทั้งเป็นผู้ทรงมรรคทรงผลโดยสมบูรณ์ในหัวใจท่าน แล้วก็ประกาศสั่งสอนธรรมแก่บรรดาศิษย์ทั้งหลายพร้อมทั้งปฏิปทาเครื่องดำเนินด้วยความองอาจกล้าหาญ ไม่มีคำว่าสะทกสะท้านแม้นิดหนึ่งเลย นี่เพราะความแน่ใจในใจของท่านเอง ทั้งฝ่ายเหตุทั้งฝ่ายผล ท่านเป็นที่แน่ใจทั้งสองแล้ว พวกบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายที่เข้าไปศึกษาอบรมกับท่าน จึงได้หลักได้เกณฑ์จากความถูกต้องแม่นยำที่ท่านพาดำเนินมา มาเป็นเครื่องดำเนอนของตน แล้วถ่ายทอดไปโดยลำดับลำดา ไม่มีประมาณเฉพาะอย่างยิ่งภิกษุบริษัท มีกว้างขวางอยู่มากสำหรับลูกศิษย์ของพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นแตกกระจายออกไปการที่ได้ปฏิปทาเครื่องดำเนินจากท่านผู้รู้ผู้ฉลาดพาดำเนินมาแล้วเช่นนี้ เป็นสิ่งที่หาได้ยากมาก นี่ละเป็นที่ ให้ตายใจนอนใจ อุ่นใจได้ ผิดกับเราเรียนมาโดยลำพัง และปฏิบัติโดยลำพังเป็นไหนๆ ยกตัวอย่างไม่ต้องเอาที่อื่นไกลที่ไหนเลย ผมเองนี่แหละเรียน จะว่าอวดหรือไม่อวดก็ตามก็เรียนถึงมหา แต่เวลาจะหาหลักหาเกณฑ์มายึดเป็นเครื่องดำเนินด้วยความอุ่น
แน่ใจตายใจสำหรับตัวเอง ไม่มีจะว่ายังไงนั่น มันเป็นอย่างนั้น จิตเสาะแสวงหาแต่ครูอาจารย์อยู่ตลอดเวลาเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น..."
พระธรรมวิสุทธิมงคล(หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ( จากหนังสือ"หยดน้ำบนใบบัว")
"...ที่ผมได้ความรู้ความฉลาด จนได้มาแบ่งปันพวกท่านทั้งหลายนั้น ก็เพราะผมได้ ไปกราบครูบาอาจารย์มั่น...ไปพบท่าน แล้วก็เห็นสภาพวัดวาอารามของท่าน ถึงจะไม่สวยงาม แต่ก็ สะอาดมาก พระเณรตั้งห้าสิบหกสิบ เงียบ! ขนาดจะถากแก่นขนุน (แก่นขนุนใช้ต้มเคี่ยว สำหรับย้อมและซักจีวร) ก็ยังแบกเอาไปฟันอยู่โน้น.. ไกล ๆ โน้น เพราะกลัวว่าจะ ก่อกวนความสงบของหมู่เพื่อน... พอตักน้ำทำกิจอะไรเสร็จ ก็เข้าทางจงกรม ของใครของมัน ไม่ได้ยินเสียง อะไร นอกจากเสียงเท้าที่เดินเท่านั้นแหละ บางวันประมาณหนึ่งทุ่ม เราก็เข้าไปกราบท่านเพื่อฟังธรรม ได้เวลาพอ สมควรประมาณสี่ทุ่มหรือห้าทุ่มก้กลับกุฏิ เอาธรรมะ ที่ได้ฟังไปวิจัย... ไปพิจารณา เมื่อได้ฟังเทศน์ท่าน มันอิ่ม เดินจงกรมทำสมาธินี่... มันไม่เหน็ดไม่เหนื่อย มันมีกำลังมาก ออกจากที่ประชุมกันแล้วก็เงียบ! บางครั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน เพื่อนเขาเดิน จงกรมอยู่ตลอดคืนตลอดวัน จนได้ย่องไปดูว่าใครท่านผู้นั้นเป็นใคร ทำไมถึงเดิน ไม่หยุดไม่พัก นั่น... เพราะจิตใจมันมีกำลัง..."
พระโพธิญาณเถร ( หลวงปู่ชา สุภัทโธ ) วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี ( จากอัตตโนประวัติหลวงปู่ชา )
คัดลอกจาก : http://www.geocities.com/luangpumun/his4.html และ http://www.geocities.com/luangpumun/his5.html
หลวงปู่มั่น ภูริทัตตมหาเถระ (4)
บันทึกส่วนตัว หลวงปู่ อุ่น ชาคโร
คดลอกมาจากหนังสือ ชาคโรบูชา
โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 006500 - โดยคุณจากคุณ : (อิ_อิ) [ 23 ก.ย. 2545]
เนื้อความ :
หลังจากที่หลวงปู่อุ่น ได้มรณภาพแล้ว ทางพระเณรที่วัดป่าหนองคำ (ดอยบันไดสวรรค์) ได้พยายามรวบรวมสิ่งของและบริขารเครื่องใช้ต่าง ๆ ของหลวงปู่ที่เคยใช้ในช่วงมีชีวิตอยู่โดยเข้าไปจัดเก็บสิ่งของที่กุฏิหลวงปู่ และได้พบสมุดบันทึกส่วนตัวของหลวงปู่โดยบังเอิญซึ่งเป็นข้อมูลที่หลวงปู่ได้บันทึกเหตุการณ์ในช่วงที่อยู่กับ พระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตโต ทางลูกศิษย์ได้ร่วมกันหารือ แล้วว่าเห็นควรจัดพิมพ์ เพื่อให้เป็นประโยชน์กับลูกศิษย์และผู้สนใจทั่วไป อีกทั้งเป็นการป้องกันไม่ให้ข้อมูลในส่วนนี้ได้สูญหาย ทางลูกศิษย์ได้ถ่ายภาพหน้าแรกมาให้ดูพอเป็นสังเขป สำหรับข้อความและตัวอักษรได้ถ่ายทอดจากต้นฉบับมาพิมพ์ไว้ในหนังสือเล่มนี้..ผมไม่สามารถนำภาพถ่ายหน้าแรกมาลงให้ได้ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
การนำเสนอในครั้งนี้หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ สร้างศรัทธาและเป็นกำลังใจแก่นักภาวนาให้มีความเพียรในการปฏิบัติไม่มาก ก็น้อย นะครับ เชิญอ่านเพื่อประเทืองปัญญา นะครับ สาธุ
บันทึกส่วนตัวของ หลวงปู่ อุ่น ชาคโร
เปิดเผยความลึกลับ ของท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
ข้าพเจ้าเกิดมาในชาตินี้ รู้สึกว่าเสียใจมากที่ได้ไปอยู่ร่วมจำพรรษากับท่านอาจารย์มั่นเพียงปีเดียวท่านก็มานิพานจาก แต่ก็ภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้ไปฟังเทศน์อยู่ร่วมอุปัฏฐากท่านผู้มีจิตรบริสุทธิ์ นึกว่าไม่เสียทีประการหนึ่ง ครั้งสมัยนั้นเป็นปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ข้าพเจ้าอยู่วัดอรัญญวาสีท่าบ่อกับท่านอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ท่านได้พูดว่า พระเณรรูปใดจะไปฟังเทศน์ อาจารย์มั่น ก็ไปเสียเดี๋ยวจะไม่เห็นท่านเพราะท่านได้ทำนายชีวิตท่านไว้แล้วว่า อายุผมจะถึงเพียง ๘๐ ปีเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้อายุท่านก็ ๗๙ จะเข้ามาแล้วพวกคุณจะเสียดายในภายหลังว่า ไม่ได้ฟังธรรมจากพระอรหันต์อย่างท่านอาจารย์ ครั้งนั้นก็ได้นมัสการลาท่านอาจารย์เทสก์ ท่านก็อนุญาตและส่งทางด้วยเมื่อเดินทางไปถึงวัดป่าบ้านหนองผือ ได้เข้าไปนมัสการท่าน ๆ ก็ยินยอมรับอยู่ในสำนักท่าน นึกว่าบุญเรามากเหนือหัว แต่นั้นก็ตั้งใจปฏิบัติอุปัฏฐากท่าน ฟังเทศน์ฟังธรรมจากท่านเรื่อย ๆ มาตลอดศึกษาเรื่องภายในจิตรที่เป็นไปต่าง ๆ นานา
๑. ความลึกลับที่มีอยู่ภายในท่าน ก็ถูกเปิดเผยออกมาที่จำได้คือ ข้าพเจ้ากราบเรียนท่านอาจารย์มั่นว่ากระผมขอโอกาสกราบเรียน การนิมิตเห็นดวงหฤทัย (หัวใจ) ของคน ตั้งปลายขึ้นข้างบนนั้น เป็นอะไร
ท่านเลยอธิบายไปว่า ที่จริงดวงหฤทัยของคนนั้น ก็ตั้งอยู่ธรรมดา ๆ นี้แหละ อันมันเป็นต่าง ๆ นานา ตามเรานิมิตเห็นนั้น มันเป็นนิมิตเทียบเคียงคือ ปฏิภาคนิมิตนั้นเอง ที่ท่านว่ามันตั้งชันขึ้นนั้น แสดงถึงจิตรของคนนั้นมีกำลังทางสมาธิ ถ้าจิตรนั้นตั้งขึ้นและปลายแหลม กกใหญ่คล้ายกับดอกบัวตูมกำลังจะเบ่งบานนั้น แสดงว่าจิตรคนนั้นมีกำลังทางสมาธิและปัญญาแล้ว ถ้าน้ำเลี้ยงดวงหฤทัยมีสีต่าง ๆ กันนั้นหมายถึงจิตรของคน เช่น โทสจริตนั้นดวงหฤทัยแดง ถ้าราคะจริตน้ำเลี้ยงหฤทัยแดงเข้ม ๆ ถ้าจิตรของคนที่หลุดพ้นไปแล้วเป็น น้ำหฤทัยขาวสะอาดเลื่อมเป็นปภัสสรเหมือนทองหลอมแล้วอยู่ในเตา เลื่อมอย่างนั้นแหละ
ถ้าดวงหฤทัยเหี่ยว ๆ แห้ง ๆ นั้นหมายถึง จิตรของคนนั้นไม่มีกำลังทางจิตรคือ ศรัทธาพลัง วิริยะพลัง สติพลัง สมาธิพลัง ปัญญาพลัง ถ้าธรรมทั้ง ๕ อย่างนี้ไม่มีในจิตรแล้ว ท่านว่าอบรมไม่ขึ้น ไม่เป็นไป จะสั่งสอนทรมานสักปานใด ไม่มีประโยชน์เลย
ถ้าดวงหฤทัยคนนั้นมีกกเบ่งบานเหมือนดอกบัว อบรมสั่งสอนไปได้ผลตามคาดหมายจริง ๆ ท่านว่า ผมเองเคยเพ่งดวงหฤทัยของผมเอง เห็นเลื่อมเป็นแสงเลยทีเดียว เพ่งไปเพ่งมาปรากฏแตกใส่ดวงตา นี้คำพูดของท่าน ท่านจึงอธิบายว่า คนในประเทศไทยนี้ ดวงหฤทัยต่างหมู่อยู่สามองค์คือ ดวงหฤทัยปรากฏว่ามีจานหรือแท่นรองสวยงามดี พระสามองค์นี้ องค์หนึ่งคือ ท่านสมเด็จพระมหาวีรวงค์ (ติสโส อ้วน) ท่านตายไปแล้วส่วนอีก ๒ องค์นั้นยังอยู่ ท่านอาจารย์มั่นพูดว่า บุญวาสนาบารมีพระสามองค์นี้แปลก ๆ หมู่เพื่อนมากนี้ นึกว่าท่านอาจารย์นี้ท่านดูคนไม่ใช่ดูแต่หู ชิ้นตาหนัง เหมือนคนเราท่านสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาต้องดูด้วยตานอกตาใน เสียก่อนไม่เหมือนปุถุชนเรา อย่างพวกเรานี้มาเอาแต่กิเลสมาสั่งมาสอนบังคับไม่ว่าใครเป็นอย่างใด ฉะนั้นจึงเกิดสงครามกันบ่อย ๆ ระหว่าง อาจารย์กับลูกศิษย์จึงวุ่นวายกันอยู่ทั่วโลก ส่วนอาจารย์มั่น นั้นท่านสั่งสอนไปมันก็ได้ผลจริง ๆ อย่างว่าคนจริตไม่มีธรรม ๕ ข้อก็คือ คนอินทรีย์ไม่แก่กล้านั้นเอง อย่างนี้โดยมากท่านไม่รับเอาไว้ในสำนักของท่าน ม่านใช่อุบายว่าควรไปอยู่แห่งนั้นแห่งนี้หรือกับคนโน้นดีคนนี้ดี
๒. ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าตั้งใจปรึกษาท่านด้วยจิตรคือ กุฏิของท่านอยู่ไม่ห่างไกลกับกุฏิของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้เข้าสมาธิทำจิตรให้สงบดิ่งลงถึงจิตรที่เคยเป็นมา แล้วนึกถามท่านว่า จิตรของข้าน้อยตั้งอยู่อย่างนี้แหละ ข้าน้อยขอกราบเรียนว่า จิตรของข้าน้อยตั้งอยู่อย่างไร และเรียกว่าจิตรอะไร จึงขอนิมนต์ครูบาอาจารย์จงได้เมตตาบอกข้าน้อยด้วย นึกแล้วก็พยายามรักษาจิตรอย่างนั้นไว้จนกว่าท่านอาจารย์มั่น เลิกเดินจงกรม เมื่อท่านเลิกเดินจงกรมแล้วท่านก็ขึ้นไปกุฏิ และลูกศิษย์ผู้เคยปฏิบัติอุปัฏฐากท่านคือ ท่านอาจารย์วัน ก็ขึ้นไปนั่งอยู่กับท่าน
ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปนมัสการท่านแล้วนั่งอยู่ โดยไม่ได้พูดอะไร ๆ กับท่านเลย ท่านพูดเอ่ยมาว่าจิตรของท่านอุ่นเป็นอย่างนั้น ๆ ตั้งอยู่อย่างนั้น ๆ เรียกว่าจิตรอันนั้น ๆ ทีเดียวข้าพเจ้านั่งตัวแข็งเลย พูดอะไร ๆ ไม่ออก ทั้งดีใจ ทั้งเสียใจและทั้งกลัวท่าน ละอายท่าน ถ้าจะกราบเรียนท่านอย่างอื่น ๆ ไปก็กลัวท่านจะเล่นงานเราอย่างหนัก แต่ทุกวันนี้คิดเสียดายเมื่อภายหลังว่า เรานี้มันโง่ถึงขนาดนี้จริง ๆ จะเรียนท่านว่าจิตรเป็นอย่างนั้น แล้วข้าน้อยจะทำอย่างไรอีกจิตรจึงเจริญหลุดพ้นไปได้ สมกับคำโบราณว่า อายครูบ่ฮู้ อายชู้บ่ดี คำนี้มันถูกเอาเสียจริง ๆ
๓. ครั้งสมัยท่านกำลังแสดงธรรมเรื่อง ความหลุดพ้นและอริยสัจธรรม ๔ ข้าพเจ้าได้นั่งอยู่ตรงหน้าตรงตาของท่าน ตั้งจิตรสำรวม ส่งไปตามกระแสธรรมของท่านพร้อมทั้ง กำหนดพิจารณาไปด้วย จิตรข้าพเจ้าเลยรวมลงพับเดียวปรากฏว่าดวงจิตรของข้าพเจ้านี้คลายกับเครื่องนาฬิกากำลังเดินหมุนเวียนอยู่ พอนิมิตแล้วจิตรก็ถอนออกมาพอดี
ถูกท่านเทศน์ใหญ่เลยว่า จิตรพระอรหัตต์ทั้งหลายนั้น จิตรท่านไม่หมุนเวียนอีก ไม่หันต่อไปอีก จึงได้นามว่าอะระหัน แปลว่า ไม่หัน ท่านเหล่านั้นจะเอา อะ ไปไส่แล้ว ไม่เหมือนเรา เรามีแต่หันอย่างเดียวไม่หยุดไม่หย่อน พระอรหันต์นั้นท่านตัดกงหันได้แล้ว ท่านทำลายกงสังสารจักร์ขาดไปแล้วด้วย อรหัตตมรรค ข้าพเจ้านั่งฟังอยู่ครั้งนั้นจึงเกิดความมหัศจรรย์อย่างใหญ่หลวง
ท่านอาจารย์มั่น นั้นไม่แสดงธรรมด้วยหูหนังตาหนังเหมือนพวกเราท่านจก (ล้วง) เอาหัวใจผู้ฟังมาแสดงจริง ๆ ธรรมของท่านที่แสดงจึงถึงจิตรถึงใจของผู้ฟัง อย่างพวกเราแสดงให้กันฟังอยู่ทุกวันนี้มีแต่คนตาบอด ผู้แสดงบอด ผู้ฟังก็บอด บอดต่อบอดจูงกันไม่รู้ว่าจะไปถึงไหน จะไปโดนเอาหลักเอาตอ ตกเหว ตกขุม ที่ไหนไม่
ทราบกันเลย ผู้เทศน์ก็มีกิเลส ผู้ฟังก็มีกิเลสกันทั้งนั้น ผู้เทศน์เล่าก็หวังเอาแต่กัณฑ์เทศน์ ไม่เทศน์เอาคน มันจึงไกลกันแสนไกล สมกับพระพุทธเจ้าว่า ธรรมของสัตตบุรุษกับธรรมของอสัตตบุรุษไกลกันเหมือนฟ้ากับแผ่นดิน คำหนึ่งว่า ดูกรอานนท์ ถ้าธรรมของเราตถาคตไปสิงในจิตรของพระอรหันต์ผู้สิ้นจากกิเลสแล้ว ธรรมของเราก็เป็นธรรมแท้ไม่ปลอมแปลง ถ้าเมื่อใดธรรมของตถาคตนี้ไปสิงอยู่ในจิตรปุถุชนผู้มีกิเลส ธรรมของเราก็กลายเป็นธรรมปฏิรูปคือ ธรรมปลอมแปลง ถ้าผู้เขียนนี้เขียนไปมาก ๆ ก็เหมือนดูว่าเทศน์ไปอีกแหละ มันเป็นการเอามะพร้าวมาขายสวนไปจึงขอเขียนเรื่องท่านอาจารย์มั่นต่อไป
๔. วันหนึ่งตอนเช้ากำลังฉันจังหัน พระเณรกำลังแจกอาหารลงใส่ในบาตร และพระผู้อุปัฏฐากท่านก็กำลังจัดอาหารหวานคาวลงใส่ในบาตรท่านอาจารย์มั่น ถ้าเป็นอาหารของแข็งหรือใหญ่ ต่างองค์ก็ต่างเอามีดหั่น หรือโขลกด้วยครก ต่างคนต่างกระทำด้วยความเคารพจริง วันนั้นข้าพเจ้าได้มองไปเห็นพระท่านทำ ก็นึกเกิดปิติขึ้นมาด้วยความเลื่อมใสปล่อยใจเลื่อนลอยไปว่า แหม…พระลูกศิษย์ลูกหาของครูบาอาจารย์นี้ตั้งใจปฏิบัติอุปัฏฐากด้วยความเคารพเลื่อมใสจริง เอ๊ะ…ครั้งพุทธกาล โน้นบรรดาพระสาวกทั้งหลายนั้น จะมีสานุศิษย์ปฏิบัติอุปัฏฐากดี ๆ อย่างนี้ไหมหนอ คิดแล้วก็ไม่นึกไม่ฝันเลยว่า เราเป็นบ้าคิดเรื่องราวให้ไปกระทบกระทั่งจิตรใจของท่าน
ครั้นต่อมาในวันหลังบรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายที่เคยปฏิบัติอุปัฏฐากท่าน ก็เข้าไปจะปฏิบัติ ถูกท่านห้ามอย่างใหญ่ว่า หยุดอย่ามาทำนะ วันนั้น ท่านดุเอาจริง ๆ ครั้นต่อมาวันหลังอีก จะเข้าไปปฏิบัติ ท่านเล่นงานอย่างใหญ่อีกว่า ทำไมห้ามไม่ฟังเดี๋ยวถูกค้อนตีเอาแหละ แล้วท่านก็บ่นว่า มันมาดูถูกกัน การปฏิบัติอุปัฏฐากอย่างนี้ ในครั้งพุทธกาลโน้น พระสาวกไม่มีดอก วันนั้นไม่มีใครเข้าไปใกล้ท่านได้เลย การจัดสิ่งของลงในบาตร ท่านจัดเอง การอุปัฏฐากท่านนั้นจำเป็นต้องงดไปหลายวัน
ต่อมาท่านอาจารย์มหาบัว ท่านเป็นลูกศิษย์อาวุโสกว่าหมู่ พรรษาท่านขณะนั้นคงได้ในราว ๑๖ พรรษา จึงได้เรียกบรรดาสานุศิษย์รุ่นน้อย มีท่านอาจารย์วัน ท่านอาจารย์เนตร อาจารย์คำพอง อาจารย์สุวัจน์ อาจารย์จันโสม บ้านนาสีดา และข้าพเจ้า พร้อมอีกหลาย ๆ รูป ไปประชุมกันที่กุฏิท่านอาจารย์มหาบัว ว่าเรื่องนี้เป็นใครหนอได้นึกได้คิดอย่างว่านี้ เป็นเหตุให้ครูบาอาจารย์เดือดร้อน ผมเองว่าพิจารณาเห็นว่าคง
ไม่มีไครดอก เพราะว่าใคร ๆ ที่ได้มาอยู่ก็ได้มอบกายถวายชีวิตกับท่านแล้ว ต่างคนก็ต่างเคารพนับถือท่าน ผมว่าจะเป็นอุบายท่านอาจารย์ทรมานพวกเราเฉย ๆ ดอก ตามที่ผมได้อยู่กับท่านมาหลายปี ผมเองเคยถูกท่านทรมาน ดูว่าเรานี้จะปฏิบัติอุปัฏฐากท่านเอาจริง เอาจังไหม หรือสักแต่ว่าทำเพื่อแก้เก้อเฉย แต่นี้ไปพวกเราต้องเข้าไปทำปฏิบัติท่านเลย ท่านจะฆ่าจะแกงจะต้มอย่างไรเราก็ยอม เสียสละ นี้ท่านอาจารย์มหาบัวแนะนำสานุศิษย์รุ่นเล็ก ๆ ต่อมาก็เลยเข้าไปอุปัฏฐากท่าน
ครั้งนี้ท่านไม่ว่าอะไร เพราะจะห้ามไว้ก็ไม่ฟัง เป็นหน้าที่ข้อวัตรของสานุศิษย์ผู้หวังดีจะทำกัน แต่นั้นมาก็ไม่มีใครปรารภเรื่องนี้อีก แม้แต่ท่านอาจารย์มั่น ก็ไม่ว่าอะไรตลอดถึงวันท่านนิพานของท่านยังปิดบังไว้ ครั้นต่อมาประมาณ ๒๐ กว่าปี ข้าพเจ้าจึงมารำลึกถึงบุญคุณ ของท่านอาจารย์มั่นดู จึงนึกขึ้นมาได้ว่า เมื่ออยู่กับท่านอาจารย์มั่น ถูกท่านเทศน์กัณฑ์ใหญ่ สมัยนั้นเราผู้ที่ไม่มีสตินี้แหละ เป็นเหตุทำให้หมู่เพื่อนครูบาอาจารย์องค์อื่น ๆ เดือดร้อนไปตามกัน เมื่อมานึกทวนจิตรรู้มันก็สายเสียแล้ว จะทำอย่างไรดี จะไปขอขมาโทษคารวะท่าน ท่านก็ไม่อยู่ในโลกไหนภพไหน จึงนึกคิดขึ้นมาได้ว่าเหลืออยู่แต่โอวาทคำสอนของท่านนี้แหละให้เราเราต้องขอขมาโทษเคารพนักถือธรรมของท่านที่ให้ไว้นี้แหละ นึกขึ้นได้แล้วก็เบาใจ ต่อมานี้แหละ ท่านผู้อ่านทั้งหลาย คนเรานี้แม้แต่จิตรของตัวเราเองนี้ นึกคิดไปแล้วก็ยังไม่รู้ว่าขณะนี้เราคิดเรื่องอะไร มันจะไปรู้จิตรนึกคิดคนอื่นได้อย่างไร ทั้งวันทั้งคืนทั้งปีทั้งเดือนผ่านไปผ่านไปหมดไปเฉย ๆ ไม่ได้ทบทวนตรวจดูการดูจิตรของตนเลย อย่างท่านอาจารย์มั่นนั้นท่านเคยพูดให้ได้ยินบ่อยว่า ผมเองพิจารณาเห็นจิตรเห็นกายอยู่ทุก ๆ เวลาเช่น เห็นกายเป็นร่างกระดูกอย่างนั้นแหละ เอาผ้ามาห่มมาคลุมก็เห็นเอาผ้ามาคลุมร่างกระดูกอยู่อย่างนั้น ท่านอ่านเรื่องนี้แล้วจงระวัง อย่าให้เป็นดังจิตรของข้าพเจ้าผู้เขียนนี้เลย เรื่องนี้ข้าพเจ้าผู้ถูกมาเองจึงอดปิดบังไว้ไม่ได้ เป็นของอัศจรรย์ ข้อหนึ่งที่เคยประสบเหตุการณ์มากับท่านอาจารย์มั่น จริง ๆ
๕. วันหนึ่งตอนบ่ายท่านอาจารย์มั่นจะสรงน้ำ ตามธรรมดาเวลาสรงน้ำมีพระปฏิบัติท่านอาจารย์ในราวสัก ๓ รูปไม่ขาด ครั้งนั้น มีพระรูปหนึ่งท่านองค์ชอบหัวดื้อหน่อย และชอบทดลองสิ่งต่าง ๆ ด้วย พระองค์นั้นจึงคิดทดลองดูว่าท่านอาจารย์มั่นนี้จะรู้ไหม จึงคิดในขณะไปสีขาให้ท่านว่า กกขา (ต้นขา) นี้ขาวเหมือนขาผู้หญิงเลย พอนึกเท่านั้น ท่านอาจารย์มั่นจึงพูดขึ้นว่า เอ๊ะ ท่านนี้เป็นบ้าจริง ๆ เว้ย แล้ว
พระองค์นั้นก็ถอยออก จึงมานึกว่าเอ๊ะ….ท่านอาจารย์จะรู้จริง ๆ หรืออย่างไรหนอ แกยังสงสัยอยู่ พอวันหลังก็มาปฏิบัติเวลาท่านอาบน้ำอีก พอสีเหงื่อไคลขาท่านก็ลองนึกดูอีก ครั้งนี้ท่านดุเอาอย่างใหญ่เลยว่า ท่านนี้ออกหนี อย่ามาทำเลย ไปหนี ๆ ไล่ใหญ่ อันนี้ข้าพเจ้าผู้เขียนก็ได้ไปปฏิบัติท่านอาจารย์ในเวลานั้นเหมือนกัน อันนี้นึกว่าท่านอาจารย์มั่นนั้นท่านชำนาญทางปรจิตวิชาจริง ๆ จึงหาได้ยากอีกในโลกอันนี้
๖. สมัยหนึ่งเป็นเวลาออกพรรษาแล้วนายวัน และนางทองสุข ร้านศิริผล นครราชสีมา ได้มาถวายกฐิน ครั้งนั้นมีครูบาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่ นายวันนิมนต์มาด้วยมากองค์ เช่น ท่านอาจารย์ สิงห์ ใหญ่ อาจารย์ฝั้น อาจารย์สีโห วัดป่าสุมนามัยบ้านไผ่ ท่านอาจารย์องค์นี้ ไม่เคยมาและไม่เคยเห็นท่านอาจารย์มั่นเลย ได้ไปพักอยู่กุฏิเล็ก ๆ ห่างจากกุฏิท่านอาจารย์มั่น ประมาณ ๔ เส้น ขณะนั้นท่านอาจารย์สีโหอาบน้ำ ข้าพเจ้าและพระอื่น ๆ มาปฏิบัติท่านขณะนั้นท่านอาจารย์สีโห จึงพูดกับข้าพเจ้าขึ้นเบา ๆ ว่า เอ๊ะ ท่านอาจารย์มั่นนี้ รูปร่างหน้าตาเหมือนผมนิมิตเห็นท่านไม่ผิดเลย ว่าลักษณะท่านคน น้อย ๆ คางแบน ๆ บัดนี้เราจะได้ฟังเทศน์ท่าน เรานี้อยากให้เทศน์จริง ๆ ว่า เรานี้มันคาอยู่อะไร ทำไมจึงไม่เห็นตนคา ว่าแล้วก็ผลัดเปลี่ยนผ้า ข้าพเจ้าก็เลยไปกุฏิพอตอนค่ำครูบาอาจารย์ต่างก็ไปชุมนุมที่กุฏิท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์สีโหก็อยู่นั่นแหละ ท่านอาจารย์มั่นก็ทักทายปราศรัยกับท่านอาจารย์องค์นั้นองค์นี้ไป พอท่านมองไปเห็นท่านอาจารย์สีโห นั่งอยู่ ท่านเลยพูดขึ้นว่า ท่านสีโหนี้ก็มีแต่ไปหากินข้าวต้มขนมเขาอยู่แต่ในเมืองนี่นา ทำไมไม่เห็นเข้าป่าไปภาวนาเล่า ว่าแล้วท่านหัวเราะ ใครก็หัวเราะกัน เพราะเป็นเรื่องขบขัน ผู้ฟังเพลินดูคล้ายกับว่าท่านพูดเล่น แต่ที่จริงท่านพูดตามเหตุที่ท่านรู้ทางจิตร
๗. ครั้นต่อมาอีกเช้า เวลาฉันจังหัน ครั้งนั้นครูบาอาจารย์ที่เป็นพระแขกติดตามมากับองค์กฐินนายวัน แม่ทองสุข เช่น อาจารย์สิงห์ อาจารย์สีโห อาจารย์อ่อน อาจารย์ฝั้น และพระอื่น ๆ อีกมาก ได้ไปรวมกันฉันที่ศาลาหลังใหญ่เพราะที่หอฉันที่ไม่เพียงพอ จึงฉันอยู่ที่หอฉันก็มีแต่พระเณรเจ้าถิ่นเท่านั้น ครั้งนั้นบันดาอาหารหวานคาว พวกโยมทั้งหลายเลยเอาขึ้นไปแต่หอฉันที่อาจารย์มั่นอยู่ ไม่มีใครแบ่งไปศาลาใหญ่เลย พระผู้แจกอาหารเช่นอาจารย์วัน อาจารย์ทองคำ และข้าพเจ้าผู้เขียนนี้ด้วย ก็บังเอิญลืมแบ่งไปจริง ๆ พอฉันเสร็จแล้วไม่มีใครว่าอะไรอีกครูบา
อาจารย์ทั้งหลายที่ฉันอยู่ศาลาหลังใหญ่ก็ฉันแต่ อาหารที่ได้มาในบาตร ไม่มีใครพูดอะไร เพราะกลัวความกระทบกระเทือนจะไปถึงท่านอาจารย์ใหญ่ พอตื่นเช้าวันหลังเท่านั้นแหละ ท่านอาจารย์มั่นเลยว่า โยมชาวบ้านหนองผือเลยว่า พวกโยมทำอาหารมาให้พระฉันกันอย่างไร อาตมาได้ยินว่า ท่านอาจารย์สิงห์ บ่นว่าอาหารจาง อาหารจางอยู่ พระพวกภัตตุเทศที่แจกอาหารเลย สืบถามดูความจริงแล้ว ลืมแบ่งอาหารไปศาลาหลังใหญ่ปล่อยให้ครูบาอาจารย์ฉันแต่ข้าวที่ไม่มีอะไร ๆ กันทั้งนั้น จึงเป็นเหตุให้ท่านอาจารย์มั่นรู้เรื่องราวโดยไม่มีไครบอก อันนี้เป็นของอัศจรรย์ข้อหนึ่งตามข้าพเจ้าเคยผ่านเหตุการณ์มาในเรื่องท่านอาจารย์มั่น
๘. เรื่องอดีตชาติก่อนท่านอาจารย์มั่นพูดว่า สมัยพระโสณะกับพระอุตตระมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแคว้นสุวรรณภูมิ คือ นครปฐมเดี๋ยวนี้ ท่านอาจารย์มั่นนี้ได้เป็นสามเณรน้อยมาด้วย ท่านว่าสมัยนั้นท่าน ข้องคาอยู่ในการปรารถนาพุทธภูมิท่านจึงไม่ได้สำเร็จมรรคผลอะไร ท่านกล่าวว่าสมัยนั้นน้ำทะเลขึ้นไปจรดกับจังหวัดสระบุรี หรือเขาวงพระจันทร์ ส่วนพระโสณะและพระอุตตระนั้นชอบใช้ไม้เท้า ทางกกเป็น ๘ เหลื่อม ทางปลายนั้นเป็น ๑๖ เหลื่อม ท่านว่าเมืองไทยเรานี้มีคนมีบุญวาสนามากมาเกิดบ่อย ๆ และเป็นที่ชุมนุมของเทวดามเหศักดิ์ผู้มีฤทธิ์มาก ทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่น พระบรมสารีริกธาตุก็เสด็จมาอยู่ในเมืองไทย ประเทศอินเดียไม่ค่อยมี เพราะเมืองไทยเรามีพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองกว่าประเทศอื่น ฉะนั้นเมืองไทยเรา จึงเป็นเมืองแสนสงบสุข อุดมสมบูรณ์เป็นเอกราชมานาน เพราะเป็นดินแดนที่เกิดของนักปราชญ์ทั้งหลาย พูดถึงตอนนี้เป็นเหตุให้เราคนไทยที่เป็นเจ้าของประเทศภาคภูมิใจมาก และ ภาคภูมิใจที่ได้มาเกิดในเมืองไทยที่มีครูบาอาจารย์ผู้วิเศษมาโปรดนี้ได้ยินจาก ท่านพระครูสีลขันธ์สังวร (อาจารย์อ่อนสี) วัดพระงาม ท่าบ่อ พูดให้ฟัง เพราะอาจารย์องค์นี้ท่านได้อยู่กับท่านอาจารย์มั่นตั้ง ๖ ปี ท่านรู้ดีเรื่องอาจารย์มั่น ใครสนใจไปเรียนถามท่านก็ได้
๙. เรื่องเข้าสมาธิเวทยิตนิโรธสมาบัติ ท่านอาจารย์อ่อนสี วัดพระงาม เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า เรื่องเข้าเวยิตนิโรธนี้ เคยมีครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่กราบเรียนท่านอาจารย์มั่น ท่านตอบว่า พระอรหันต์จำพวกได้อภิญญา ๖ และ ปฏิสัมภิทา ๔ จิตรถึงจตุตถญาณแล้วจึงเข้าได้อย่างพระมหาสารีบุตร พระมหากัสสป ท่านเข้าได้ถึง ๗ - ๘ วัน จำพวกพระอรหันต์สุกขวิปัสโก เตวิโช อันนี้เข้าไม่ได้ ท่านอาจารย์มั่นพูดว่า เอาน่า
เชื่ออ้ายเฒ่าเถอะน่า และท่านเคยเตือนลูกศิษย์ว่า อย่าไปคิดมันเลยเรื่องนี้ ว่าแต่สิ้นกิเลสตัณหาก็พอ พวกเรานี้มันหมดยุคผู้มีบุญวาสนามากแล้ว วาสนาของสัตว์โลกนับวันแต่จะด้อยลงไปทุกทียิ่งเลย ๒๕๐๐ ปี ไปแล้วคนที่จะสำเร็จมรรคผลเพียงแค่แต่พระโสดาบันนี้ก็ยาก ท่านว่าดังนั้น อย่าอยากดีอยากดังเกินไปมันจะไม่พ้นทุกข์ นี้ท่านเตือนสานุศิษย์ อย่างท่านอาจารย์ลี วัดอโศการามก็เคยพูดบ่อย ๆ ว่า เลย ๒๕๐๐ ไปแล้วคนจะทำความดีได้ยาก มีแต่คนชั่วเอาความชั่วมาทับถมกัน จริงอยู่คำนี้สมัยทุกวันนี้พระท่านถือธุดงค์ไปเจริญสมณธรรมอยู่ป่าอยู่เขา ไกลแสนไกล สูงแสนสูงเท่าใด คนยังไปรบกวนถามบัตรถามเบอร์ท่าน ไม่ถามเรื่องบุญเหมือนสมัยที่ท่านอาจารย์มั่นยังมีชีวิตอยู่ ถามกันแต่เรื่องเบอร์ทั้งนั้น พระสมัยนี้ก็แสวงหาแต่อย่างนั้นเหมือนกัน แล้วมันจะดีขึ้นได้อย่างไร ใครก็หาแค่มนุษย์สมบัติ ไม่หานิพพานสมบัติ พระท่านผู้หวังจะขามจากโลกก็พลอยลำบากไปด้วย เพราะโลกเขาไม่อยากให้ขามไปเลย
ข้าพเจ้าได้ค้นดูหนังสือโบราณคือ หนังสืออุรังคธาตุตอนหนึ่งว่า พระมหากัสสปเถระเจ้าได้สร้างพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ทางฝ่ายฆราวาสมีพระยาคำแดง พระยาเมืองอินทปัตถานคร พระยานันทเสน พระยาปิงคราช พระยาสุมิตถานคร โปรดให้เขียนรูปม้าอัสดรใส่พระธาตุ โดยผินหน้าไปทางทิศเหนือแม่น้ำโขง ผินหางไปทางทิศใต้แม่น้ำโขง แล้วพระมหากัสสปเถระเจ้าจึงทำนายพยากรณ์ไว้ว่า ต่อไปครั้งหน้าศาสนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อถวายสร้อย ศาสนาแถบแม่น้ำโขงนี้จะเจริญรุ่งเรือง จะมีพระอรหันต์เกิดขึ้นแถบสายแม่น้ำโขง อันนี้ข้าพเจ้าบอกตรง ๆ เลยว่ามันต้องเป็นสมัยอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์เสาร์นี้ไม่มีผิดจริง ๆ เพราะพระทั้งสององค์ท่านนี้ก็เป็นคนชาวอุบลซึ่งมีเขตต์จรดกับแม่น้ำโขง และเวลาท่านสององค์นี้เที่ยวเทศนาโปรดประชาชนก็เทียวโปรดตามสายแม่น้ำโขง นี้เป็นคำสันนิษฐานของข้าพเจ้า จะผิดหรือถูกประการใด ขอพิจารณาดูเถิดและให้อภัยแก่ข้าพเจ้าผู้เขียนด้วย
อีกตอนหนึ่งในหนังสือพุทธทำนายว่า ใกล้ศาสนา ๒๕๐๐ จะมีผู้มีบุญวาสนามาเกิด มี พระยาธรรมมิกราชมาปกครองบ้านเมือง ฝ่ายพระศาสนาจะมีพระอรหันต์มาเทศน์โปรดบ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรืองวัฒนาถาวร พระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเจริญเรื่องทางด้านปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรม เรื่องนี้ได้มีครู
บาอาจารย์บางรูปได้ยินท่านอาจารย์มั่น เคยพูดว่ามันเจริญมาแล้วแต่พระเจ้าแผ่นดินรัชการที่ ๔ ท่านก็เป็นจอมปราชญ์ ปกครองบ้านเมือง ได้ปรับปรุงทางคณะสงฆ์ และได้ปรับปรุงบ้านเมืองให้เจริญ จนมาถึงรัชการที่ ๕ บ้านเมืองได้เจริญถึงขีด ท่านว่าดังนั้น ส่วนฝ่ายพระศาสนาก็มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระองค์ท่านก็ได้ปรับปรุงด้านการศึกษาปริยัติธรรมนี้ขึ้นมาจนถึงสมัยทุกวันนี้ ด้านปฏิบัติปฏิเวธธรรมอันนี้มันเจริญอยู่กับผู้ปฏิบัติ ผู้ไม่ปฏิบัติก็ไม่เห็นความเจริญ มันไม่ใช่ทั่วไป ผู้ใดปฏิบัติเห็นมรรคผลนิพพาน ก็ว่ามรรคผลนิพพานยังอยู่เหมือนเดิม ไม่ไปไหน พระพุทธเจ้าปรินิพพานไป ท่านไม่ได้เอามรรคผลนิพพานไปด้วยคงอยู่ตามเดิม ( เอสะ ธัมโม สะนันตะโน ) พระธรรมเป็นของมีมาแต่ดั่งเดิม ไม่ไปไหน พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่า ดูกรอานนท์ เมื่อใดภิกษุในพระศาสนานี้ยังปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่ พระอรหันต์จะไม่ว่างจากโลก อันนี้คำพูดของท่านผู้เห็นธรรมแล้วหลุดพ้นแล้วพูด ทีนี้เราผู้มืดมนและข้องคาอยู่ มาพูดกันตามความเห็นแล้วว่า พระผู้วิเศษคือ พระอรหันต์ จะมาเที่ยวเทศนาโปรดประชาชนนั้น ข้าพเจ้าว่าไม่ใช่อื่นไกลคือ ท่านเจ้าคุณอุบาลี ซึ่งเป็นนักเทศน์เอกในประเทศไทยและท่านอาจารย์เสาร์ ท่านอาจารย์มั่น นี้แหละ ไม่ใช่ท่านเหาะมาทางอากาศ มาประกาศว่า ข้าพเจ้านี้คือพระอรหันต์จะมาโปรดท่านเน้อ อย่างพวกเรานึกคิดกัน ท่านได้สำเร็จแล้วก็แล้วกันไป หลุดพ้นแล้วก็แล้วกันไป ไม่ใช่ว่าจะหามแข่งหามเสงเหมือนกลองยาว เคยมีพระบางพวกหามไปเข้าสมาธิให้คนดู อันอย่างนั้นมันไม่มีในพระสาวกเสียแล้ว และ พระพุทธเจ้าก็ไม่ปรากฏว่าพระองค์เข้านิโรธสมาบัติแล้วให้สาวกหามไปให้คนดูว่า มาเน้อ มาดูเราเข้านิโรธ อย่างนี้ไม่มี พระวินัยก็ปรับอาบัติไว้แล้วว่า ภิกษุใดบอกอุตตริมนุสสธรรมแก่ชาวโลกเขาปรับอาบัติปาจิตตีย์ ดังนี้ ท่านผู้มีจิตรหลุดพ้นแล้วท่านไม่โอ้อวด ไม่อยากดังเหมือนพวกเราที่มีกิเลสอยู่ดอก ถึงบอกไปคนอื่นเขาจะเชื่ออย่างไร เขาไม่เห็นด้วย มีแต่เขาจะว่าท่านนี้บ้าแล้วกระมัง ฉะนั้นการบอกเปิดเผยธรรมวิเศษที่มีในตนนี้ นอกจากอาบัติแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์ผลได้ น้อยกว่าผลเสีย จะประสาอะไรแต่สาวกของพระพุทธเจ้า แม้แต่พระองค์เองได้ประกาศว่า เราเป็นสยุมภูผู้ตรัสรู้เอง คนอื่นก็ยังเชื่อยากทั้งตำราพวกพราหมณ์ก็ทำนายกันทั้งประเทศอินเดียว่าพระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้ในโลก เมื่อพระองค์เที่ยวประกาศพระศาสนา คนบางจำพวกก็ยังไม่เชื่อพระองค์ จนได้แข่งฤทธิ์แข่งเดชกับพระองค์จะเอาอย่างไรกับ
มนุษย์ผู้มืดหนา ฉะนั้นเรื่องอาจารย์มั่นนี้ก็เหมือนกัน ต้องถูกปิดบังไว้ตั้ง ๒๐ กว่าปีจึงมีวี่แววขึ้นเดียวนี้เอง………………………
จากคุณ : (อิ_อิ) [ 23 ก.ย. 2545]
ความคิดเห็นที่ 7 : (อภิสิทธิ์)
สาธุ ขอบพระคุณนะครับ หลวงปู่อุ่นท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่เทสก์และหลวงปู่เทสก์ได้ฝากให้ท่านมาปฏิบัติกับหลวงปู่มั่นก่อนที่หลวงปู่มั่นจะนิพพาน หลวงปู่อุ่นท่านมรณะเมื่อปีที่แล้ว 2544 อายุ 79 ปี กระดูกท่านกายเป็นพระธาตุ ในงานพระราชทานเพลิงศพเดือนกรกฎาคม 2545 หลวงตาบัวได้เป็นประธาน และมีหลวงปู่เหรียญ หลวงปู่ท่อน หลวงปู่ต่าง ๆ หลายรูปก็ได้มาร่วมงานนี้ ตอนที่หลวงปู่อุ่นอยู่ท่านได้สร้างเจดีย์เพื่อระลึกถึงหลวงปู่มั่นที่วัดดอยบันไดสวรรค์ บ้านหนองคำ ต.อูบมุง อ.หนองวัวซอ จ.อุดร มีพระที่ท่านปฏิบัติดีหลายท่านที่เรายังไม่รู้ ท่านไม่ค่อยแสดงตัวเท่าไหร่แล้วแต่ว่าใครจะมีโอกาสได้พบท่านเหล่านั้น
จากคุณ : อภิสิทธิ์ [ 23 ก.ย. 2545]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น