วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

หลวงปู่มั่น1

กตัญญู วันหนึ่ง ท่านอาจารย์มั่นระลึกถึงพระครูสีทา ชยเสโน พระกรรมวาจาจารย์ของท่าน จึงไปหาท่านและเล่าประสปการณ์การปฏิบัติธรรมที่ถ้ำไผ่ขวางน้ำตกสาริกาให้ฟังว่า "การปฏิบัตินี้เป็นทางที่จะพาให้พ้นทุกข์คือมรรค ๘ มรรค ๘ ข้อต้นนั้นได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ความ-เห็นชอบ เห็นชอบอะไร เห็นอริยสัจ ๔ อริยสัจ ๔ คืออะไร คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคคือมรรค ๘ ฉะนั้นเมื่อปฏิบัติสัมมาทิฏฐิข้อเดียว จึงเท่ากับปฏิบัติทั้งหมด ทุกข์คืออะไร คือความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ใครคือผู้เกิดผู้ตาย ร่างกายของเรานี้ ฉะนั้นร่างกายของเรานี้จึงเป็นตัวทุกข์เพราะจิตเข้าไปยึดมั่น การบำเพ็ญจิตให้สงบจนเกิดกำลังแล้ว ก็ไม่ควรที่จะทำความสงบอย่างเดียว เพราะถ้าทำแต่ความสงบไม่พิจารณาทุกขสัจจ์ ก็จะเป็นเฉพาะฌาน ก็จะเป็นมิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิผิดไม่พ้นทุกข์ต้องพิจารณาทุกข์จึงจะพ้นทุกข์ คือต้องใช้กระแสจิตที่เป็นกำลังอันเกิดจากความสงบนั้นมาพิจารณาเพราะกระแสจิตนี้ได้รับการอบรมจากสมาธิ แล้วเป็นกำลังมหาศาล ซึ่งไม่ควรนำไปใช้ทางอื่นเสีย ควรใช้พิจารณาตัวทุกข์ คือร่างกายนี้ให้เห็นชัดเจนจนกระทั่งเกิดนิพพาทาญาณความเบื่อหน่ายเจริญให้มากกระทำให้มาก ญาณเกิดขึ้นจนกว่าจะแก่รอบ" ท่านพระครูสีทา ชยเสโน ฟังแล้วก็ชอบและขอบใจท่านอาจารย์มั่น ที่ไม่หลงลืม อุตสาห์เอาธรรมที่ตนได้รู้ได้เห็นมาบอก ต่อมาท่านพระครูสีทา ได้ทดลองปฏิบัติดูตามนั้น ก็ปรากฏความอัศจรรย์ขึ้น ท่านสามารถรู้เห็นสภาวะความจริง ได้ขอให้ท่านอาจารย์มั่นช่วยเป็นพยานในการเห็นธรรมของท่านด้วย ทั้งได้ยกย่องสรรเสริญอาจารย์มั่นว่าเป็นผู้มีกตัญญูกตเวทีมาก โปรดโยมแม่ ต่อมาในปีนั้นเอง ท่านอาจารย์มั่นได้เดินทางไปสอนโยมมารดาของท่าน เมื่อ
โยมได้ปฏิบัติตามคำแนะนำก็เกิดความเย็นอกเย็นใจขึ้น จึงลาลูกหลานออกบวชชี โยมมารดามีความเพียรแรงกล้า นอนตะแคงขวาตลอดชีวิต รับประทานอาหารมื้อเดียว ออกเดิน ธุดงค์เช่นเดียวกับพระสงฆ์ เมื่ออินทรีย์แก่กล้าขึ้น ท่านอาจารย์มั่นจึงแนะนำให้พิจารณาขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จนตัดความยึดมั่นถือมั่นได้ โยมมารดาถือศีล ๘ ตลอดชีวิต จนกระทั่งแตกดับสังขารไป ข้อสำคัญโยมมารดาของท่านรู้ วันตายของตัวเองด้วย เมื่อทำนายชะตาชีวิตตนเองไว้ว่าจะตายเมื่อไร ถึงวันนั้นก็ถือแก่ความตายจริง ๆ และท่านอาจารย์มั่นได้จัดการทำฌาปนกิจศพมารดาด้วยตัวท่านเอง ท่านอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ซึ่งได้หันมาปฏิบัติธรรมอย่างเอาจริงเอาจังก็ปรากฏผลการปฏิบัติรุดหน้าไปเรื่อย ๆ ต่อมาน้องชายของท่านคือ พระมหาปิ่น ปัญญาพโล เปรียญ ๕ ประโยคจากวัดบรมนิเวศ เลื่อมใสในพระอาจารย์มั่น ทั้งสองพี่น้องจึงร่วมเดินทางติดตามพระอาจารย์มั่น นอกจากนี้ยังมีพระอาจารย์-คำพวย , พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี และพระอาจารย์อ่อน ได้ออกธุดงค์ติดตามพระอาจารย์มั่นอีกด้วย สอนอาจารย์เสาร์ให้รู้ธรรม ปี พ.ศ.๒๔๕๙ หลังจากออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์มั่นได้ธุดงค์ไปหาพระอาจารย์เสาร์ซึ่งจำ-พรรษาอยู่ที่ถ้ำภูผากุด จังหวัดนครพนม ระหว่างทาง ท่านได้พิจารณาถึงพระอาจารย์เสาร์ เห็นว่ายังไม่บรรลุธรรมเพราะความปรารถนาความเป็นปัจเจกโพธิ เหมือนกับเราเมื่อก่อนท่านรำพึงกับตัวเองว่า "ถ้าเราไปพบอาจารย์ของเราเราก็จะต้องแนะนำให้ท่านเลิกการปรารถนาขั้นนั้นเสีย" เมื่อไปถึง ก็ปรากฏว่าท่านอาจารย์เสาร์ได้เตรียมสถานที่ไว้คอยต้อนรับล่วงหน้าแล้ว แปลว่า ไม่ใช่แต่ศิษย์เท่านั้นที่รู้อาจารย์ อาจารย์แม้ยังไม่บรรลุก็รู้ศิษย์เหมือนกัน
พรรษานั้น ศิษย์และอาจารย์ต่างปรึกษาสนทนาธรรม เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติธรรมกันเป็นประจำวันหนึ่งท่านอาจารย์มั่นได้ถามท่านอาจารย์เสาร์ว่า "ท่านอาจารย์ได้พิจารณาอริยสัจธรรมหรือไม่" "เราก็ได้พิจารณาเหมือนกัน" อาจารย์เสาร์ตอบ "ได้ผลเป็นอย่างไรบ้าง" "ได้ผลเหมือนกันแต่ไม่ชัดเจน" "เพราะเหตุไรบ้างครับ" "เราได้พยายามอยู่ คือพยายามคิดถึงความแก่ ความตาย แต่ว่าบางคราวมันไม่แจ่มแจ้ง" "ถ้าเช่นนั้นคงมีอะไรเป็นเครื่องห่วงหรือกระมัง" "เราก็พยายามพิจารณาเหมือนกัน แต่ก็หาสิ่งขัดข้องไม่ได้ ความจริงความสว่างของดวงจิตนั้นก็เป็นปกติดีอยู่ แม้มันจะดีบ้างไม่ดีบ้าง มันก็เป็นเรื่องธรรมดาของสมาธิ แต่ว่าเมื่อจิตพิจารณาทีไร รู้สึกว่าไม่ก้าวไป" "กระผมคิดว่า คงมีอะไรสักอย่างเป็นเครื่องห่วง" "ท่านอาจารย์ห่วงเรื่องการปรารถนาเป็นปัจเจกโพธิกระมังครับ" "แน่ทีเดียว ในใจเราตั้งอยู่ว่า จะขอให้รู้ธรรมเองโดยมิต้องให้ใครมาแนะนำหรือมาบอกให้และมันก็ตั้งอยู่ในใจของเรามาตลอด" "ขอให้ท่านอาจารย์อย่าเป็นห่วงเลย ขอให้พิจารณาอริยสัจเพื่อความพ้นทุกข์เสียแต่ชาตินี้เถิดเพราะกระผมเองก็ปรารถนาพระโพธิญาณและกระผมก็ได้ละความปรารถนานั้นแล้ว เนื่องด้วยว่าการท่องเที่ยวในสังสารวัฏฏ์นี้มันนานเหลือเกิน" ท่านอาจารย์เสาร์ประหลาดใจมาก ที่ศิษย์ของท่านล่วงรู้ความในใจของท่านได้ ทำให้ท่านรู้สึกว่าท่านอาจารย์มั่น คงต้องมีความชัดเจนในใจอย่างแน่นอน ต่อมาท่านอาจารย์เสาร์ได้พิจารณาอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พิจารณาสังขารร่างกายจนเกิดความเบื่อหน่ายคลายจาง เมื่อกระทำให้มากเข้า ท่านก็ได้ดวงตาเห็นธรรม เลิกปรารถนาพระปัจเจกโพธิ อาจารย์เสาร์เล่าเรื่องให้อาจารย์มั่นฟัง อาจารย์มั่นรับรองแล้วต่างก็เอิบอิ่มใน
ธรรม ท่านอาจารย์มั่นได้ปฏิบัติต่อท่านอาจารย์เสาร์ เหมือนดังตัวท่านเป็นพระใหม่เลยทีเดียว ตั้งแต่ล้างบาตรซักจีวร ปูที่นอนให้ตักน้ำมาให้สรง และถูหลัง เป็นต้น ท่านปฏิบัติด้วยความอ่อนน้อมเป็นที่สุด ช่วงที่ท่านอาจารย์มั่นได้มาอยู่ที่ถ้ำนี้ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้ตามไปปฏิบัติด้วย และได้ติดตามท่านอาจารย์มั่นไปทุกหนทุกแห่ง อย่าดูหมิ่นครูบาอาจารย์ พ.ศ.๒๔๖๐ อาจารย์มั่นได้จำพรรษาที่ป่าแห่งหนึ่ง ที่บ้านดงปอ ตำบลห้วยหลาง อำเภอเพ็งในปีนี้ท่านได้อบรมพระภิกษุสามเณร ในการปฏิบัติธรรมมากขึ้น ท่านแนะนำให้ลูกศิษย์ของท่านอยู่วิเวก ไม่ให้อยู่เป็นหมู่คณะเพราะจะหาความสงบมิได้ ให้อยู่แห่งละองค์สององค์ ใครสงสัยในการปฏิบัติ ท่านจะคอยแก้ไขให้ท่านติดตามดูความเคลื่อนไหวของศิษย์อยู่ตลอดเวลา องค์ไหนมีอุปนิสัยแก่กล้าในธรรม ท่านจะเร่งเร้าให้เข้าถึงธรรมโดยเร็ว องค์ไหนคิดออกนอกลู่นอกทาง ท่านจะคอยต้อนให้เข้าสู่หนทางอันถูกต้อง ครั้งหนึ่งท่านพระมหาปิ่น ปัญญาพโล ได้นึกถึงท่านอาจารย์มั่นแล้วเกิดความรู้สึกดูหมิ่นท่านอาจารย์ว่า "ท่านอาจารย์มั่นมิได้ร่ำเรียนพระปริยัติธรรมมากเหมือนเรา ท่านจะมีความรู้กว้างขวางได้อย่างไร เราได้ร่ำเรียนมาถึง ๕ ประโยค จะต้องมีความรู้กว้างขวางมากกว่าท่าน และที่ท่านสอนเราอยู่เดี๋ยวนี้จะถูกหรือผิดประการไรหนอ" ท่านอาจารย์มั่นนั่งอยู่ในกุฏิของท่าน อยู่กันคนละมุมวัด ได้ทราบวาระจิตของท่านมหาปิ่นกำลังคิดดูถูกท่าน อันเป็นภัยแก่การบำเพ็ญสมณธรรมอย่างยิ่ง ท่านจึงลงจากกุฏิ ถือไม้เท้าไปเคาะข้างฝาพระมหาปิ่น แล้วพูดขึ้นมา "ท่านมหาปิ่น เธอจะมานั่งดูถูกเราด้วยเหตุไร การคิดเช่นนี้ เป็นภัยต่อการบำเพ็ญสมณธรรมจริงหนา มหา" พระมหาปิ่นตกใจสุดขีด ไม่คิดไม่ฝันว่า พระอาจารย์มั่นจะล่วงรู้ความรู้สึกนึกคิดของตัวเองได้รีบลุกจากกุฏิลงไปกราบเรียนท่านว่า
"กระผมกำลังนึกถึงท่านอาจารย์ในด้านอกุศลจิต กระผมขอกราบเท้าจงอโหสิกรรมให้แก่กระผมเถิด ตั้งแต่วันนี้ต่อไป กระผมจะบังคับจิตมิให้นึกคิดถึงสิ่งที่เป็นอกุศลจิตอย่างนี้ต่อไปอีก" ศิษย์ที่มีนิสัยดูหมิ่นครูบาอาจารย์ หากแก้ไขนิสัยนี้มิได้ ก็ยากที่จะบรรลุธรรมได้ อย่ามัวเที่ยวแสวงหา เมื่ออยู่ที่ใดที่หนึ่งนาน ๆ หมู่คณะก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้ท่านรู้สึกไม่ชอบใจ เพราะท่านไม่ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ในที่สุดพระอาจารย์มั่นจึงปลีกตัวไปอยู่ถ้ำผาปิ้ง จังหวัดเลย เพียงองค์เดียว ปีนี้เป็นปี พ.ศ.๒๔๖๑ ท่านได้พิจารณาถึงความจริงอันเกิดจากการบำเพ็ญเพียรของท่านและต้องการวัดผลการปฏิบัติที่ท่านได้แนะนำพร่ำสอนพระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกา ว่าถูกต้องหรือไม่ เมื่อได้พิจารณาว่าถูกต้องเป็นธรรม ท่านก็พอใจ และตั้งใจจะสั่งสอนต่อไปอีก เพื่อช่วยให้คนได้พ้นทุกข์ประสบสุขในชีวิตมากขึ้น วันหนึ่ง ท่านหวนพิจารณาถึง "ความรู้ของท่านและที่ได้แนะนำสั่งสอนผู้อื่นได้ปรากฏว่า อันที่จริงอริยธรรมเหล่านี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้วอย่างชัดเจน แต่เพราะเหตุที่ผู้ศึกษาไม่ได้ทำให้เป็นจริงขึ้น อริยธรรมจึงกลายเป็นสิ่งที่ลึกลับยากแก่การจะรู้จริงได้ แม้ว่าพระพุทธองค์จะทรงแสดงแจ้งชัดสักเท่าใดก็ตาม เช่นพระองค์แสดงอนัตตลักขณสูตรโปรดปัญจวัคคีย์ให้ได้สำเร็จเป็น พระอรหันต์นั้น พระองค์ก็ทรงแสดงชี้ลงไปที่กายคือรูปของปัญจวัคคีย์นั่นเอง ได้ทรงแสดงว่า
รูป ภิกฺขเว อนฺตตา รูปไม่ใช่ตน แม้รูปของปัญจวัคคีย์ก็มีอยู่แล้ว ทำไมปัญจวัคคีย์จึงไม่พิจารณาเอาเองเล่า มารู้แจ้งเห็นจริงเอาตอนที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้ดูจึงค่อยสำเร็จ ข้อนี้ก็เป็นเช่นกับตัวเรานั่นเอง ได้อุตส่าห์เที่ยวไปแสวงหาอาจารย์และ
ผู้ทรงคุณวุฒิกระทั่งทั่วประเทศไทยและต่างประเทศ แต่ครั้นจะมารู้จริงได้ก็คือการมาศึกษาปฏิบัติเอาโดยตนเองตามแนวของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง แต่ว่าเท่าที่เราเองได้เข้าใจนั้นก็เพราะเราไปเห็นความจริงเท่านั้นทั้ง ๆ ที่ความจริงก็อยู่ใกล้นิดเดียว แต่ว่าการรู้ปฏิบัติเพื่อความรู้จริงนี้มันเป็นสิ่งที่แปลก เพราะเหตุ ว่าการทำจิตเป็นนามธรรม เมื่อเกิดความอัศจรรย์หรือความสบายก็ไปเข้าใจเสียว่าดีเสียแล้ว จึงเป็นให้ไม่สามารถจะรู้ยิ่งขึ้นได้ จึงไม่ควรตำหนิผู้ที่เขาพากันทำสมาธิแล้ว หลงใหลไปตามโลกียฌานหรือตามวิปัสสนูปกิเลส เพราะเขาเหล่านั้นก็ได้รับความสงบความเย็นใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยาก แต่ที่ควรตำหนิก็เพราะว่าเขาไม่พยายามหาโลกุตตรธรรมนั่น แม้แต่เราในเบื้องแรกเราก็พบ โลกียฌาน ฌานมากมาย ซึ่งมันก็ทำให้เราต้องหลงใหลมันไปพักใหญ่ แต่เราพยายามที่จะแสวงหาให้ยิ่งขึ้น เราจึงไม่ติดอยู่เพียงแค่นั้น อันการติดอยู่หรือเข้าใจผิดในธรรมปฏิบัติจิตอันเป็นภายในนี้มันไม่ไปนรกดอก แต่ว่าการไปติดมัน มันทำให้ต้องล่าช้าต่อการรู้ยิ่งเห็นจริงต่าง ๆ หากเราเอง เมื่อได้ความรู้แจ้งนี้แล้วจึงได้พยายามเพื่อความที่จะทำจิตให้ก้าวหน้าโดยไม่หยุดยั้ง ทุกหมู่ทุกจำพวกในบรรดาผู้บำเพ็ญจิตในกัมมัฏฐานทั้งหลายนั้น ต่างก็มุ่งหวังเพื่อความดีความเจริญทุกหมู่ทุกคณะ แต่เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั่นเองที่ทำให้เขาต้องเสียประโยชน์ท่านได้ปรารภไปถึงอาฬารดาบาสกาลามโคตร และอุทกดาบสรามบุตร ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า "ฉิบหายเสียจากคุณอันใหญ่" เนื่องด้วยดาบสทั้ง ๒ นั้น ได้มรณะไปเสียก่อนที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ ความจริงดาบสทั้งสองก็เป็นผู้สำเร็จฌานชั้นสูงกันทั้งนั้น อันว่าฌานชั้นสูงนี้เป็นการให้ ความสุขอันยิ่งแก่ผู้ได้สำเร็จอยู่มากแล้ว แต่เพราะเหตุใดเล่าพระพุทธองค์จึงทรงแสดงว่า "ฉิบหายเสียจากคุณอันใหญ่" ก็เพราะว่ายังไม่หมดจากกิเลส เพราะเพียงแต่ข่มกิเลสไว้ เหมือนกับศิลาทับหญ้าเท่านั้น อันที่จริงฌานชั้นสูงนั้น ก็เป็นเบื้องต้นแห่งการดำเนินไปสู่ความหมดจดจากกิเลสแต่เพราะความที่ดาบสนั้นไม่เข้าใจวิธีแห่งการอันจะพึงทำจิตเข้าสู่อริยสัจจ์เท่านั้น ข้อนี้เป็นประการสำคัญนัก เพราะการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็เพราะเหตุนี้คือ อริยสัจจ์นี้ แต่ท่านได้พิจารณาต่อไปอีกว่า การบำเพ็ญ จิตต้องอาศัย
ปัญญาจึงจะรู้ถูกผิด และมิใช่แต่จะเอาแต่ทำจิตอย่างเดียว ต้องมีสิ่งแวดล้อมภายนอก อีกอาทิเช่น ธรรมวินัยทั้งอย่างหนักและอย่างเบา แม้ว่าจะพยายามทำจิตสักเท่าใดก็ตาม ถ้าประพฤติผิดพระธรรมวินัยน้อยใหญ่แล้วจะทำจิตย่อมไม่บังเกิดผล พร้อมกันนั้นต้องเป็นผู้สันโดษมักน้อยรักษาธุดงควัตรต่าง ๆ อันเป็นเครื่องขัดเกลากิเลสหยาบ ด้วยว่าสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ที่จะต้องพยายามปฏิบัติให้เป็นอันดี เท่ากับเป็นเครื่องบำรุงส่งเสริม เช่นกับรถยนต์เครื่องยนต์กลไกต่าง ๆ ถึงเป็นเครื่องดีมากสักเท่าใดก็ตาม ถ้าขาดการบำรุงรักษาก็ไม่สามารถที่จะให้ผลแก่ผู้ใช้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือเช่นต้นไม้ต่าง ๆ ถ้าเราจะปลูกบ้านให้ได้ผลก็ต้องบำรุงรักษาจึงจะให้ผลแก่เจ้าของได้ การบำเพ็ญจิตก็เช่นเดียวกัน ควรจะได้กำหนดข้อปฏิบัติอันเป็นการสันโดษมักน้อยเอาไว้ โดยการฉันหนเดียว การฉันในบาตร การบิณฑบาต การปัดกวาด ทำความสะอาดเสนาสนะ การอยู่โคนต้นไม้การอยู่ป่า การมีจีวรเพียงแต่ไตรจีวร การรักษาวัตรทั้งหลายมีเสขิยวัตรและอาจาริยวัตร เป็นต้น ในราตรีหนึ่งระหว่างกาลเข้าพรรษา ขณะที่กำลังบำเพ็ญสมณธรรมอยู่เกิดความสงบเยือกเย็นมาก จนเกิดแสงสว่างพุ่งไปสู่พระอภิธรรมทั้ง ๗ พระคัมภีร์ แล้วได้พิจารณากำหนดพิจารณาแยบคายค้นคว้าสามารถรู้ได้ทั้งอรรถและทั้งแปลอย่างคล่องแคล่ว ได้พิจารณาอย่างละเอียดตลอดคืนยันรุ่ง พอรุ่งเช้าออกจากสมาธิแล้ว ความรู้เหล่านั้นปรากฏว่าลบเลือนไปเสียเป็นส่วนมาก ยังจำได้เฉพาะที่สำคัญ พอรู้ความหมายเฉพาะเรื่องหนึ่ง ๆ เท่านั้น ท่านได้พิจารณาวาสนาบารมีของท่านแล้วคำนึงถึงว่าเมื่อแจ่มแจ้งแล้วทำไมถึงลบเลือนไปเสีย ท่านได้ทราบในญาณของท่านว่า "ปฏิสัมภิ-ทานุสาสน์" ความรู้ที่จะพึงแตกฉานในพระธรรมวินัยนี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จะได้มีความแตกฉาน เป็นปฏิสัมภิทาญาณก็หามิได้ เช้าวันนั้นเมื่อเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน มีโยมผู้ชายคนหนึ่งมาใส่บาตรแล้วพูดขึ้นมา "เมื่อคืนนี้ผมฝันเห็นท่านเปิดเอาหนังสือพระไตรปิฎกออกมาอ่านเป็นอันมาก ท่านคงภาวนาดีในคืนนี้" ท่านได้ยินโยมพูดก็เพียงแต่ยิ้มแย้มนิดหน่อยแล้วก็เดินบิณฑบาตต่อไป
เมื่อต้องการพ้นทุกข์ ไม่ควรติดฌาน ปีต่อมา พ.ศ.๒๔๖๒ ท่านอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ที่ป่า บ้านค้อ อำเภอผือ จังหวัดอุดรธานี ปีนี้ท่านได้แนะนำข้อปฏิบัติแก่พระภิกษุเป็นจำนวนมาก ได้แนะนำพระอาจารย์สุวรรณ สุจิณฺโณ , พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม , พระอาจารย์แหวน สุจิณโณและพระอาจารย์ตื้อ ซึ่งปฏิบัติได้ฌานกันมาบ้างแล้วว่าไม่ให้หลงใหลอยู่ในฌาน "ผู้ต้องการพ้นทุกข์จริง ๆ แล้ว ต้องไม่หลงในความเป็นเหล่านั้น ญาณ คือ ความรู้พิเศษที่เกิดขึ้นในระหว่างแห่งความสงบ เป็นต้นว่าญาณระลึกชาติได้ ญาณรู้จักเหตุการณ์ในอดีต ญาณรู้จักเหตุการณ์ในอนาคต รู้จักวาระจิตความนึกคิดของบุคคลอื่น เป็นต้น เหล่านี้ล้วนแต่เป็นวิชาที่น่าอัศจรรย์มากทีเดียว แต่ถ้าหากว่าหลงและติดอยู่ในญาณเหล่านี้แล้วจะทำให้เกิดความเนิ่นช้าในการปฏิบัติเพื่อเข้าสู่อริยสัจธรรม แต่ญาณเหล่านี้เป็นอุปกรณ์อย่างดีพิเศษในอันที่ดำเนินจิตเข้าสู่อริยสัจจ์หรือการทรมานบุคคลบางคน แต่ว่าจะต้องรู้ว่ามันเป็นญาณ อย่ายินดี หรือติดอยู่เพียงเท่านี้ เพราะเท่ากับว่ามันเป็นผลพลอยได้ เกิดจากการบำเพ็ญจิตเข้าสู่อริยสัจจ์นั่นเอง ถ้าหากว่าเราไปยินดีหรือไปติดอยู่เพียงเท่านี้แล้ว ก็จะก้าวเข้าไปสู่ความพ้นไปจากทุกข์ไม่ได้ แม้แต่พระเทวทัตในสมัยครั้งพุทธกาลก็สำเร็จญาณถึง ๕ ประการ แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้สมประสงค์ แต่หลงอยู่ในความรู้ญาณของตน เกิดทิฏฐิมานะว่าตนเก่งตนดี ถึงกับต้องการจะเป็นพระพุทธเจ้าแทนเอา เลยทีเดียว แต่ที่ไหนได้ ในที่สุดโดยอาศัยญาณกลับต้องเสื่อมหมดทุกอย่างไม่พ้นทุกข์ ไม่เข้าถึงอริยสัจจ์ แต่กลับตกนรกไปเลย ญาณเหล่านี้มันน่าคิดจริง ๆ เพราะมันวิเศษแท้ ทั้งเยือกเย็นทั้งสว่างผ่องใส ทั้งรู้อะไรที่เป็นอดีต อนาคต ตามความประสงค์ ผู้ที่ไม่เข้าใจความจริง ที่ไปติด ณ ที่นี้ เราจะสังเกตเห็นได้ตรงที่เกิดทิฏฐิขึ้นมาอย่างหนึ่ง คือการถือตัวว่าดีกว่าใคร ๆ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นครูบาอาจารย์หรือเพื่อนสหธรรมิกหรือศิษย์ หาว่าศิษย์สู้เราไม่ได้ ใครก็สู้เราไม่ได้ ทิฏฐิชนิดนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วด้วยตัวของตัวเองไม่รู้ตัวเอง
ท่านเปรียบว่ามีจระเข้ตัวหนึ่งใหญ่เหลือเกินอยู่ในท้องทะเล มันไม่รู้ว่าหางของมันอยู่ที่ไหน เมื่อมันไม่รู้และมันเห็นหางของมัน มันก็กินหางของมัน กินไป ๆ จนเหลือแต่หัว เลยหม่ำซะหมดเลย และท่านก็อธิบายว่า การหลงตัวด้วยญาณนี้มันละเอียดนัก เราจะสังเกตได้อีกอย่างหนึ่ง คือการขาดจากความรอบคอบบางสิ่งบางประการ เพราะเหตุแห่งการถือตัว เช่นการกล่าวคำดูถูกดูหมิ่นต่อเพื่อน สหธรรมิกด้วยกัน หรือต่อครูบาอาจารย์ของตนหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งตนไม่เห็นด้วย กับการดำเนินญาณทุกญาณมันต้องเสื่อม มันจะคงตัวอยู่ได้ตลอดไปหาได้ไม่ แม้จะใช้ความพยายามสักเท่าใดก็ตาม คือว่าครั้งแรก ๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นความจริงได้ แต่ต่อไปก็เลือนเข้า ๆ กลับกลายเป็นความนึกคิด โดยอาศัยสัญญาเก่า นี้คือความเสื่อมแห่งญาณ ลูกศิษย์ก็มีหลายองค์ ที่ต้องเสื่อมลงจากญาณเหล่านี้อย่างน่าเสียดาย ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสื่อม จึงต้องรีบดำเนินจิตเข้าสู่อริยสัจจ์เสียเลย เพราะความที่จิตเข้าสู่อริยสัจจ์ได้แล้ว มันก็ห่างจากความเสื่อมไปทุกทีๆ ท่านหนูใหญ่ อายุคราวเดียวกับท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร ไม่พยายามดำเนินจิตเข้าสู่อริยสัจจ์ แต่ว่าวิญญาณแหลมคมดี เอาแต่ญาณภายนอกอย่างเดียว จึงเสื่อมไปได้ คือท่านหนูใหญ่นั้นเมื่อปฏิบัติไปแล้วเกิดญาณรู้ความจริงบางอย่าง ได้อย่างคล่องแคล่วเป็นที่ปรึกษาหารือแก่สหธรรมมิกด้วยกัน ได้เป็นอย่างดี ทั้งมีความรู้พิเศษเป็นที่น่าอัศจรรย์มาก เมื่อหมู่คณะที่อยู่ร่วมสำนักกับท่านประพฤติผิดธรรมวินัยในข้อวัตรปฏิบัติแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม ท่านสามารถรู้ได้ด้วยญาณของท่าน ทั้ง ๆ ที่ท่านก็ไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นแต่ประการใด อาทิเช่น ครั้งหนึ่งเวลาบ่ายสามเณรทั้งหลายได้จัดน้ำปานะ (อัฏฐบาล) ถวายพระเวลาที่พระทั้งหลายกำลังดื่มอยู่นั้น ขณะนั้นท่านหนูใหญ่กำลังทำสมาธิอยู่ในความสงบ ได้เห็นพระเหล่านั้นในญาณของท่านว่า กำลังฉันน้ำปานะกันอยู่ท่านจึงไปที่ท่ามกลางหมู่คณะนั้นและกล่าวว่า พวกเรากำลังฉันสิ่งของที่เจือด้วยอนามิสแน่ เพราะมันไม่บริสุทธิ์ ซึ่งพระภิกษุสามเณรทั้งหลายกำลังฉันน้ำปานะกันอยู่พากันสงสัยและสามเณรผู้ทำก็ยืนยันว่าบริสุทธิ์ไม่มีอะไรเพราะทำมากับมือ แต่ท่านหนูใหญ่ก็ยืนยันว่าไม่บริสุทธิ์แน่ จึงได้มีการตรวจค้นกันขึ้น ได้พบเมล็ด
ข้าวสุกติดอยู่ที่ก้นภาชนะนั้นจริง ๆ เพราะเหตุนั้นหมู่คณะทั้งหลายจึงเกรงขามท่านมาก เพราะเมื่ออยู่ใกล้ ๆ กับท่านแล้วต้องระวังความนึกคิดเป็นเหตุให้เกิดสติสัมปชัญญะขึ้นมาก แต่เมื่อท่านหนูใหญ่ไม่ได้หมั่นบำเพ็ญสมณธรรม ทำตัวอยู่ห่างจากท่านอาจารย์มั่นมากขึ้นเป็นสำคัญในที่สุดก็เสื่อมจากคุณอันนั้น จนสึกออกไปเป็นฆราวาส อยู่ใต้อำนาจของกิเลสต่อไป ท่านอาจารย์มั่นบอกว่า "ผู้ที่ได้ญาณนี้แล้ว ถ้าเป็นเช่นนี้ย่อมเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งทีเดียวเพราะเท่ากับคนได้สมบัติมหาศาลแล้วรักษาสมบัติไม่ได้หรือใช้สมบัติไม่เป็น ไม่ได้ประโยชน์จากสมบัตินั้น ผู้ที่ได้ญาณก็กว่าจะทำขึ้นมาได้แสนยากลำบากนัก แต่เมื่อได้มาแล้วไม่รู้จักรักษาและไม่รู้จักทำให้มันเป็นประโยชน์ ถึงเป็นสิ่งที่นักปฏิบัติทั้งหลายควรสังวรณ์เป็นอย่างยิ่ง สำหรับเรื่องญาณหรือความสงบ ถ้าหากไปหลงมันเข้าปล่อยให้มันเกิดแต่ความสงบอย่างเดียวย่อมไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร เพราะญาณนั้นเป็นที่สบายอย่างยิ่งและน่าอยู่ มันทำให้เกิดความสุขอย่างน่าพิศวง และที่น่าติดอยู่ของหมู่โยคาวจรทั้งหลายจริง ๆ มิหนำซ้ำบางทีท่านก็หลงไปถึงกับว่าที่นี่เป็นที่หมดไปจากกิเลส อันที่จริงแล้วที่นี่เองจำเป็นต้องแก้ไขตัวของตัวเองอย่างหนักเหมือน กันกับคนที่กำลังนั่งนอนสบาย และจะให้ทำงานหนักก็จำเป็นต้องทั้งบังคับทั้งปลอบ ท่านอาจารย์มั่น ชี้ตัวอย่าง ท่านอาจารย์เทสก์ เทสรังสี (พระนิโรธรงฺสี) ว่าท่านเทสก์นี้ได้ติดอยู่ในญาณนี้นานยิ่งกว่าใคร ๆ ในระยะที่ท่านเทสก์หลงอยู่ในญาณนั้น เราได้พยายามแก้ไขอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้คลายจาก ความเป็นเช่นนั้น กว่าจะได้ผลต้องใช้เวลาถึง ๑๒ ปี ครั้นเมื่อท่านอาจารย์เทสก์แก้ไขตัวของท่าน ได้แล้ว ถึงกับอุทานว่าเราหลงไปถึง ๑๒ ปี ถ้าไม่ได้ท่านอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิแก้ไขเราแล้วก็จะต้องติดไปจนตาย" ท่านอาจารย์มั่น ได้เน้นหนักว่า การแก้ไขสิ่งของที่ดีที่เกิดขึ้นนี้ลำบากกว่าแก้สิ่งของไม่ดี เพราะความไม่ดีรู้กันในหมู่ผู้หวังดี หาทางแก้ไขได้ง่าย ส่วนความดีที่ต้องติดดีนี่แก้ไขยาก ผู้ติดดีจึงต้องใช้ความพยายามหลายอย่างเพราะชั้นนี้มันเป็นขั้นปัญญา
เนื่องจากการเกิดขึ้นภายในนั้นมีพร้อมทั้งเหตุและผล จนทำให้เชื่อเอาจนได้ แม้แต่วิปัสสนาซึ่งก็เป็นทางไปสู่อริยสัจจ์อยู่แล้ว แต่ผู้ดำเนินไม่มีความรอบรู้พอ ก็กลับกลายเป็นวิปัสสนูปกิเลสไปได้ วิปัสสนูปกิเลส คือ ๑. โอภาส เมื่อจิตมีความสงบเป็นสมาธิแล้วจะเกิดความสว่างในทางใจ ความสว่างนี้จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับนิสัยของแต่ละคนไม่เหมือน กัน เมื่อความสว่างนี้เกิดขึ้นกับตัวเองเมื่อไร ให้รีบไปหาครูอาจารย์ช่วยแนะ วิธีแก้ไข ครูอาจารย์นั้นต้องมีความรอบรู้ในวิธีทำสมาธิเป็นอย่างดี จึงจะช่วย แก้ไขให้ได้ ถ้าครูอาจารย์ไม่มีความรู้ในทางนี้ ก็จะส่งเสริมตอกย้ำให้ทำในวิธี นี้ต่อไป ผู้ได้รับผลที่ผิด ๆ ก็ตกอยู่กับผู้ทำสมาธิเอง ๒. ปีติ ผู้ทำสมาธิจะมีความเอิบอิ่มใจเป็นอย่างมากมีความเบิกบานใจอยู่ ตลอดเวลา จะยืนเดินนั่งนอนอยู่ในอิริยาบถไหนใจจะมีความเอิบอิ่มอยู่ตลอด ทั้งวันทั้งคืน ในช่วงนั้นมีแต่เฝ้าดูจิตที่มีความเอิบอิ่มอยู่เป็นนิจ ความคิดทาง สติปัญญาจะพิจารณาในเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็หมดสภาพไป ใจมีแต่ ความเพลิดเพลินอยู่กับปีตินั้น ๆ ๓. ปัสสัทธิ ความสงบใจที่เป็นผลจากการทำสมาธิจะมีความสงบเป็นอย่างมาก จะมีความแน่วแน่มั่นคงอย่างแนบแน่นทีเดียว ใจไม่คิดวอกแวกแส่ส่ายไปตามอารมณ์แต่อย่างใด จะเป็นอารมณ์แห่งความรักหรืออารมณ์แห่งความชัง เนื่องจากสาเหตุอันใดก็ตามไม่มีความอยากคิดในเรื่องอะไรทั้งนั้น จะยืนเดินนั่งนอนอยู่ในที่ไหนมีแต่ความสงบใจอยู่ตลอดเวลา นี้ก็เป็นโมหสมาธิหลงอยู่ในความสุขจนลืมตัวไม่อยากคิดพิจารณาให้เป็นไปในการเจริญทางสติปัญญาแต่อย่างใด เพราะกลัวว่าใจจะเกิดความฟุ้งซ่าน มีแต่ใช้สติระลึกรู้อยู่ในอารมณ์แห่งความสงบนั้น ๆ จึงเป็นสมาธิที่โง่เขลาหาความฉลาดไม่ได้เลย ๔. สุขะ เมื่อจิตมีความสงบดีแล้วย่อมเกิดความสุขภายในใจเป็นอย่างมาก จะยืนเดินนั่งนอนอยู่ในที่ไหน ใจจะมีแต่ความสุขนี้อยู่เป็นคู่ของใจตลอดไปไม่อยากให้เสื่อมคลาย นี้เองผู้ปฏิบัติในยุคนี้จึงมีความต้องการภาวนาหาความสุขใจเพียงเท่านั้นที่สอนกันว่าทำสมาธิเพื่อให้เกิดความสุขภายในใจ ถ้าปัญญาไม่มีก็จะหลงความสุขได้
๕. ญาณะ เมื่อจิตมีความสงบเป็นสมาธิได้แล้วย่อมมีความรู้เกิดขึ้น ความรู้ที่เกิดขึ้นนี้เองจะทำให้เกิดความหลงผิดไปได้ง่าย จะตีความหมายไปว่าปัญญาณาณได้เกิดขึ้นกับตัวเองแล้ว อยากรู้เรื่องอะไรอยากรู้ในธรรมหมวดไหนก็กำหนดถามลงไปที่ใจก็จะมีความรู้ตอบขึ้นมาในหมวดธรรมนั้น ๆ จะเข้าใจไปว่าคุณธรรมได้เกิดขึ้นกับตัวเองแล้ว อยากรู้ว่าเราอยู่ในคุณธรรมระดับไหน ก็จะมีความรู้บอกขึ้นมาว่า เป็นคุณธรรมของพระอริยโสดาบันบ้าง เป็นคุณธรรมของพระสกิทาคามีบ้าง เป็นคุณธรรมของพระอนาคามีบ้าง เป็นคุณธรรมของพระอรหันต์บ้าง จึงได้เกิดความเชื่อมั่นในความรู้ที่เกิดขึ้นว่าเป็นของจริงที่ฝังใจอย่างสนิททีเดียว ใครจะมาว่ามีความสำคัญผิดก็จะยืนยันว่าเรามีญาณรู้ที่ถูกต้องและมีความเชื่อมั่นว่าตัวเองได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าจริง ถ้าเป็นในลักษณะนี้จึงยากที่จะแก้ไข ๖. อธิโมกข์ น้อมใจเชื่อว่าเป็นของจริงอย่างฝังใจทีเดียว เข้าใจว่าเรามีดวงตาเห็นธรรม ก็เพราะมีญาณรู้ที่เกิดขึ้นจากสมาธิความสงบเป็นต้นเหตุนั่นเอง มีความเชื่อมั่นในความรู้ของตัวเองสูงมาก ให้ความสำคัญตัวเองว่า พุทโธ รู้ตื่นเบิกบานได้เกิดขึ้นกับตัวเองแล้ว ถ้ามีอภิญญาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นก็จะเกิดความเชื่อมั่นเพิ่มทิฏฐิมานะอัตตาจนลืมตัว ถ้าพระเป็นในลักษณะนี้ก็จะได้รับพยากรณ์จากลูกศิษย์ว่าอาจารย์ของเราได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ทันที ๗. ปัคคาหะ มีความเพียรที่เข้มแข็งเป็นอย่างมาก ความเพียรนั้นจะมุ่งทำสมาธิมีความสงบเพียงอย่างเดียว จะไปที่ไหนอยู่ในที่ใดจะปรารภความเพียรทำสมาธิอยู่เสมอจะอยู่เฉพาะตัวหรือในสังคมใดจะอยู่ในความสำรวมผิดปกติ จะอยู่แบบนิ่งเฉยไม่อยากจะพูดคุยกับใคร ๆ ผู้ที่ไม่เข้าใจก็คิดว่าเป็นผู้ปฏิบัติที่เคร่งครัดมาก หรือลืมตาก็จะอยู่ในท่าเงียบขรึมซึมเซ่อเหม่อลอย ไม่ชอบอยู่ในสังคมอยากจะอยู่เป็นเอกเทศเฉพาะตัวไม่มีความฉลาดรอบรู้ในทางปัญญาแต่อย่างใด จึงเรียกว่า มิจฉาวายามะ เป็นความผิดไม่ถูกต้องชอบธรรมแต่อย่างใด ๘. อุปัฏฐาน มีสติระลึกรู้ในอารมณ์ภายในใจได้ดีมาก แต่เป็นเพียงสติสมาธิเท่านั้นส่วนสติปัญญาจะไม่มีกับผู้เป็นในลักษณะนี้แต่อย่างใด ถ้าอารมณ์ของใจเปลี่ยนไปตาม เหตุปัจจัยอย่างไร ก็จะมีสติระลึกรู้ไปตามอารมณ์ประเภทนั้น ๆ
ไม่ชอบพิจารณาในทาง สติปัญญาแต่อย่างใด ไม่สนใจพิจารณาในเรื่องที่เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ถึงจะพูดธรรมะได้ก็พูดไปตามตำราที่ได้ศึกษามาเท่านั้น จึงเรียกว่า มิจฉาสติระลึกรู้ในสิ่งใดจะไม่เป็นไปในความถูกต้องชอบธรรมแต่อย่างใด ๙. อุเบกขา ความวางเฉยในทางใจได้ดีมาก ใจไม่รับในอารมณ์ที่ชอบใจและไม่ชอบใจอะไรที่มาสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันเป็นสิ่งที่จะให้เกิดขึ้นความรักความชังใจจะวางเฉยอยู่ตลอดเวลา เมื่อใจลงสู่อุเบกขาความวางเฉยที่มั่นคงแล้ว จะไม่ทำให้เกิดความรู้สึกในอารมณ์ ไม่มีความเอาใจใส่ในส่งใด ๆ ทั้งสิ้น เมื่อเป็นอย่างนี้จะทำสมาธิได้ง่าย แต่ก็จะเป็นมิจฉาสมาธิ ความตั้งใจมั่นผิดต่อไป จึงยากที่จะแก้ไขหรือแก้ไขไม่ได้เลย ๑๐. นิกันติ มีความยินดีพอใจในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด ยอมรับผลที่เกิดขึ้นว่าเป็นของจริงมีความเชื่อว่าเป็นแนวทางที่จะทำให้ถึงซึ่งมรรคผลนิพพานได้แน่นอนใครจะมาว่าภาวนาผิดอย่างไรก็มีความมั่นใจในตัวเองว่าภาวนาถูกต่อไป และยังไปตำหนิผู้อื่นว่าภาวนาไม่เก่งเหมือนเรา ถึงครูอาจารย์องค์ที่มีความฉลาดรอบรู้เข้ามาช่วยเหลือก็สายไปเสียแล้ว ชีวิตได้ทุ่มเทในการทำสมาธิอย่างจริงจัง ก็มาพังเพราะวิปัสสนูปกิเลสที่เกิดขึ้นนี้เอง มรรคผลไม่พ้นสมัย พ.ศ.๒๔๖๓ ท่านอาจารย์มั่น ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย จะเห็นว่าท่านจะอยู่ไม่ประจำที่ จะท่องธุดงค์ไปเรื่อย ๆ ลูกศิษย์ลูกหาผู้หวังความเจริญในทางธรรม จึงติดตามท่านไปเรื่อย ๆ เพื่อจะได้เรียนรู้ธรรมและปฏิบัติธรรมให้สูงขึ้น ก่อนนี้การศึกษาธรรมปฏิบัติธรรม เป็นเรื่องคร่ำครึล้าสมัย แต่ท่านอาจารย์มั่นได้ปฏิบัติให้ดูอยู่กับธรรมอย่างเป็นสุขให้เห็น จนความรู้สึกแง่ลบของผู้คนค่อยจางไป พุทธบริษัทกล่าวว่า มรรค ผล นิพพาน มันล้าสมัย จึงไม่สนใจต่อการปฏิบัติธรรม ไม่ว่าพระภิกษุ สามเณร หรืออุบาสกอุบาสิกาพากันเหินห่างจากธรรม
แต่เมื่อได้มีผู้ปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจังจนได้บรรลุมรรค ผล นิพพานได้ รับผลแห่งความเย็นอกเย็นใจ ทั้งพระภิกษุและฆราวาสทุกท่านได้ประจักษ์แก่ใจตน ความเชื่อผิด ๆ ที่ว่ามรรค ผล นิพพาน พ้นสมัยแล้วนั้น เป็นอันถูกลบไป ที่ท่าบ่อนี้ ต่อมาได้กลายมาเป็นวัดป่า อันเป็นสถานที่บำเพ็ญกัมมัฏฐานอย่างสำคัญ ชื่อว่า อรัญญวาสี มีพระอาจารย์หลายท่าน ได้มาเห็นสถานที่นี้และชมว่าเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม ทั้งตัวท่านเอง ก็ได้รับประโยชน์มาแล้วด้วย ให้เลิกนับถือผี พระธุดงค์ไม่ติดที่อยู่ นิยมจาริกไปเรื่อย ๆ ในปี พ.ศ.๒๔๖๔ ท่านอาจารย์มั่นก็ได้จำพรรษาอยู่ กับพระภิกษุสามเณร ๑๐ รูป รวมทั้งอาจารย์มั่นด้วยเป็น ๑๑ รูป ที่ป่าแห่งหนึ่ง ในที่อันไม่ไกลจาก บ้านห้วยทราย จังหวัดนครพนม ที่บ้านห้วยทรายนี้ ท่านได้แก้ความเห็นผิดของชาวบ้าน เกี่ยวกับเรื่องการนับถือผีสาง ให้หันมา นับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะพระรัตนตรัย ๓ ประการนี้ เป็นที่พึ่งอันปลอดภัย พึ่งได้อย่างแท้จริง ได้สอนชาวบ้านให้ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะเสียใหม่ ทั้งได้ฝึกอบรมในเรื่องของการเจริญกัมมัฏฐานด้วย ตลอดเวลาที่พักอยู่ที่นี่ ๑๐ เดือน ก็ปรากฏว่าได้ผลน่าพึงพอใจ ออกจากบ้านห้วยทรายแล้ว ท่านอาจารย์มั่นได้ไปนมัสการท่านอาจารย์เสาร์ที่ถ้ำภูผากุด แล้วได้ร่วมเดินธุดงค์ด้วยกันไปหลายที่หลายแห่ง ระหว่างทางได้สั่งสอนประชาชน ให้รู้จักนับถือพระรัตนตรัย เพราะผู้คนส่วนใหญ่นับถือผีกันเป็นพื้นในปีนั้น ท่านอาจารย์มั่นได้มอบศิษย์ทั้งหมดให้อยู่ในความปกครองของพระอาจารย์สิงห์ขันตยาคโม ปรับปรุงระเบียบคำสอน พ.ศ.๒๔๖๕ พระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น พร้อมทั้งศิษย์ของท่านอาจารย์ทั้งสองรุ่นแรก และผู้เข้ามาฝึกหัดใหม่จำนวนมากได้จำพรรษาอยู่ที่บ้านหนอง
ลาด อำเภอสว่างดินแดน จังหวัดสกลนคร ท่านอาจารย์ได้ทำการสั่งสอนในเรื่องการปฏิบัติธรรม มาถึงปีนี้ก็เป็นเวลา ๗ ปีแล้ว ยังไม่ได้มีการปรับปรุงการฝึกธรรมเลย สมควรจะได้มีการแก้ไขให้เหมาะสม เพื่อประโยชน์แก่การเข้าถึงธรรม ท่านอาจารย์เสาร์ได้มอบให้อาจารย์มั่นเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องการวางแผน เป็นแผนที่เมื่อปฏิบัติแล้วจะต้องได้ผลหากเอาจริง และข้อสำคัญจะต้องทำให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว ไม่ใช่ปฏิบัติกันไปคนละทิศละทาง ท่านอาจารย์มั่นได้ยืนยันถึงการปฏิบัติตามอริยสัจธรรม จึงได้ผลอย่างแน่นอน เพราะท่านได้ทำมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพิจารณากายของเรานี้ เป็นหลักสำคัญนัก ขอให้หมั่นเพียรกระทำกัน ให้ศิษย์ทุกคนดำเนินตามนี้เพราะพระพุทธองค์และพระอริยสาวกในอดีตกาล ก็ผ่านการพิจารณากายมาเหมือนกัน ท่านเน้นย้ำแล้วย้ำอีกด้วยกลัวศิษย์ไขว้เขว ไม่เข้าใจ เพราะวันหนึ่งท่านเกิดนิมิตฝันว่า "ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า เราได้พาพระภิกษุสามเณรเป็นจำนวนมาก เข้าไปบิณฑบาตในละแวกบ้านขณะนั้นก็ได้เกิดนิมิตในสมาธิเป็นที่น่าประหลาดใจขึ้น คือ พระภิกษุสามเณรที่ตามเราดี ๆ ก็เกิดมีพวก หนึ่งแซงซ้ายบ้าง ขวาบ้าง ขึ้นหน้าเราไป บางพวกก็เลยเดินออกไปนอกทางเสีย และก็มีอีกพวกหนึ่งที่เดินตามเราไป" ได้เล่าความฝันนี้ให้ศิษย์ฟัง พร้อมทั้งอธิบายว่า "ที่มีพวกภิกษุสามเณรแซงท่านขึ้นไปข้างหน้านั้น คือบางพวกจะพากันอวดตัวว่าเก่งว่าดีแล้ว ก็จะละจากข้อปฏิบัติที่เราได้พากันดำเนิน ครั้นแล้วก็จะเกิดความเสื่อมเสียไม่ได้ผลตามที่เคยได้ผลแล้วซึ่งเขาเหล่านั้นก็จะมาอ้างเอาว่าเป็นศิษย์ของเรา แต่ที่ไหนได้พากันหลีกเลี่ยงการปฏิบัติต่าง ๆ ที่เรากำหนดให้ไว้ ที่สุดแม้แต่สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นสีจีวรเป็นต้น การจะปฏิบัติเพื่อการพิจารณากายอันนับเนื่องด้วยอริยสัจธรรมก็ยิ่งห่างไกล
จำพวกหนึ่งเดินออกนอกทาง คือจำพวกนี้เพียงแต่ได้ยินกิตติศัพท์เราแล้วก็อ้างเอาว่าเป็นศิษย์ บางทีจะยังไม่เคยเห็นหน้าเราเสียด้วยซ้ำและก็หาได้รู้อุบายแยบคายในการปฏิบัติแต่อย่างใดไม่หรือพวกที่เคยอยู่กับเรามา แต่เมื่ออยู่กับเราก็คงเคร่งครัดเพราะกลัว แต่พอออกจากเราไปแล้วก็ไม่นำพาในข้อธรรมและการปฏิบัติของเรา เพียงแต่มีชื่อว่าเป็นศิษย์ของอาจารย์มั่นเท่านั้น แต่ไม่มีข้อปฏิบัติอันใดที่จะถือได้ว่าเป็นแนวทางเป็นตัวอย่างอันนำมาจากเราเลย จำพวกหนึ่งที่เดินตามหลังเราไปนั้น จำพวกนี้เป็นผู้ดำเนินตามคำแนะนำของเราทั้งภายนอกและภายใน เป็นผู้ใคร่ต่อธรรม ต้องการพ้นทุกข์ในวัฏฏสงสาร พยายามศึกษาหาความรู้ทุก ๆ ประการที่มีความสนใจต่อหน้าหรือลับหลังก็เหมือนกัน รับข้อปฏิบัติแม้เล็กน้อย รักษาไว้ด้วยชีวิตจิตใจเพราะจำพวกนี้ได้รับผลแห่งการปฏิบัติมากับเราแล้ว เกิดผลอันละเอียดอ่อน จากข้อวัตรปฏิบัติ เหล่านี้ก็เป็นที่แน่นอนว่าจะแปรผันเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ พวกที่ออกนอกลู่นอกทางนั้นคือ ไม่ได้รับ ผลอย่างจริงจังจากการปฏิบัติอยู่กับเรา เพราะเหตุที่ไม่ได้ผลจริงนั่นเอง ทำให้เกิดความลังเล ไม่แน่ใจแต่พวกที่เดินตามเรา ย่อมได้รับความเจริญ" ท่านกล่าวว่า "ธรรมปฏิบัติที่ท่านได้อุตส่าห์ลงทุนลงแรงพากเพียรพยายามทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จนบังเกิดผลมหาศาลจะพึงอยู่นานได้เพียงนั้นก็แล้วแต่ศิษย์ทั้งหลายจะพากันมีสติหรือพากเพียรเพื่อให้เกิดผลจริงจัง จะรักษาการปฏิบัติเหล่านี้ได้ ถ้าใครจักพึงกล่าวว่าเป็นศิษย์ท่านอาจารย์มั่น เขาก็จะได้รักษาไว้ซึ่งข้อวัตรปฏิบัติของท่านอาจารย์มั่น ผลลัพธ์ที่จะได้ก็จะได้สมจริง" วาทะข้างต้นท่านได้กล่าวสอนศิษย์ที่เป็นพระภิกษุสามเณร ส่วนศิษย์ที่เป็นฆราวาส ท่านสอนเน้น หนักในด้านศรัทธา ความเชื่อ ให้รู้จักเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ ไม่ใช่เชื่อง่ายงมงายไปหมด ท่านสอนให้ศิษย์ฆราวาสเลิกนับถือในสิ่งผิด ๆ เรื่องภูติผีปีศาจ ศาลเจ้าที่เจ้าทาง เข้าทรง การนับ-ถือเลื่อมใสในสิ่งเหล่านี้ เป็นความเสียหาย มันผิดคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นความงมงาย ผู้เป็นพุทธบริษัทไม่ควรนับถือสิ่งเหล่านี้
"อันที่จริงการนับถืองมงายนี้เกิดจากการไม่เข้าใจถ่องแท้ในพระพุทธศาสนา หรือขาดการศึกษาอย่างแท้จริงในพระพุทธศาสนานั่นเอง ยิ่งชาวชนบทห่างไกลความเจริญแล้ว ก็ยิ่งมีแต่เชื่องมงายกับสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน จึงเป็นสิ่งที่แก้ยากมากทีเดียว ไม่ต้องพูดถึงว่าชาวชนบทจะพากัน หลงงมงายหรอก แม้แต่ชาวเมืองหลวงอย่างในกรุงเทพฯ ก็ตาม ยังพากันหลงงมงายในสิ่งเหล่านั้นมาก เช่นเจ้าพ่อนั้นเจ้าแม่นี้ บางแห่งพากันสร้างเป็นเทวสถานแล้วก็ไปบูชาถือเอาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปก็มีมากมาย" ท่านอาจารย์มั่นถือว่า เรื่องเหล่านี้สำคัญมาก เพราะเป็นตัวขวางกั้นไม่ให้เข้าสู่ความเป็นอริยะ ผู้ยึดติดสิ่งเหล่านี้จะจมดิ่มอยู่กับความงมงาย ไม่สามารถพ้นทุกข์ได้ ในปีนี้ท่านได้แนะนำแก่พระภิกษุแทบจะถือได้ว่าล้วนแต่หัวหน้าทั้งนั้น จึงเท่ากับท่านได้แนะแนวสำคัญให้แก่บรรดาศิษย์โดยแท้ หลังจากท่านอาจารย์มั่นได้ธุดงค์ไปจังหวัดเชียงใหม่แล้ว มอบศิษย์ทั้งหลายให้แก่ท่านอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ซึ่งศิษย์เหล่านี้เป็นศิษย์ชั้นหัวกะทิทั้งนั้น จึงเป็นกำลังให้ท่าน อาจารย์สิงห์ในการที่จะปราบพวกนับถือผิดมีภูติผีได้เป็นอย่างดี บ้านหนองบัวลำภู พ.ศ.๒๔๖๖ ท่านอาจารย์มั่นได้จำพรรษาอยู่ที่บ้านหนองบัวลำภู อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี ปีนี้เป็นปีที่แปดแห่งการแนะนำการปฏิบัติซึ่งก็ปรากฏว่าได้ผลดีมาก อาจารย์มั่นท่านเลือกสอนคน เมื่อตรวจดูอุปนิสัยว่า จะสามารถปฏิบัติธรรมได้ท่านก็จะสอนเลย แต่ถ้าอุปนิสัยยังหยาบกร้านสันดาน เลวท่านก็ไม่เสียเวลาสอน โดยปกติท่านใช้เวลาในการสั่งสอนพระภิกษุสามเณรมากกว่า เพราะถ้าสอนพระภิกษุสามเณรจนได้ผลดีแล้ว พระภิกษุสามเณรแม้รูปเดียว ก็จะสามารถสอนฆราวาสได้เป็นร้อยคนพันคน ก่อนจะเข้าพรรษาในปีนี้ ได้มีพระอาจารย์หลายท่าน เช่น อาจารย์กู่ , อาจารย์เทสก์ เทสรังสีได้อยู่ร่วมที่บ้านหนองบัวลำภูนี้ด้วย เพื่อการปฏิบัติให้ลึกซึ้งถึง
แก่นมากขึ้น ท่านอาจารย์มั่นได้มีการสอบสวนถึงภูมิจิตด้วย เมื่อมีพระภิกษุสามเณรใหม่เข้ามาสู่คณะ ก็จะไต่ถามแบบเป็นกันเองและแนะนำกันโดยพระอาจารย์มั่นจะไม่เข้ามายุ่งในจุดนี้ปล่อยให้ทำกันเอง เพราะท่านแก่แล้ว ยิ่งเมื่อท่านอายุได้ ๗๐ กว่าปีแล้ว ท่านถึงกับไม่สอนเลยในเบื้องต้น ผู้ใดมาใหม่ท่านก็มอบให้พระมหาเขียน (เจ้าคุณอริยเวที) และท่านมหาบัว ญาณสัมปันโน สั่งสอนอบรมแทน ศิษย์ชั้นแนวหน้าจะต้องรับภาระแทนอาจารย์มั่น ช่วยสอนช่วยแนะนำการปฏิบัติแก่ผู้ยังใหม่อยู่ เพราะชื่อเสียงของท่านอาจารย์โด่งดังไปไกล จึงมีผู้มาศึกษากับท่านอยู่ ปฏิบัติกับท่านเป็นจำนวนมาก และท่านเองนำหมู่คณะปฏิบัติอย่างดียิ่ง ท่านอาจารย์วิริยังค์ ศิษย์ของท่านอาจารย์มั่น ได้เล่าว่า "ขณะที่พักปฏิบัติธรรมร่วมอยู่กับท่านนั้น ท่านได้บำเพ็ญเองจะมีการประมาทไม่ได้ ต้องพยายามอย่างเต็มความสามารถของแต่ละบุคคล ถ้าผู้ใดประมาทหรือไม่พยายามเพื่อการปฏิบัติอย่างจริงจังแล้วท่านจะต้องทราบในญาณของท่านทันที ท่านก็จะเตือนในขั้นแรก เมื่อผู้นั้นเชื่อก็ดีไป แต่ถ้าไม่เชื่อท่านจะตักเตือนเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อผู้นั้นเชื่อก็ดีไป ถ้าไม่เชื่อท่านจะตักเตือนเป็นครั้งที่ ๓ ครั้งนี้ถ้าไม่เชื่อท่านก็ไล่ออกไม่ให้อยู่ต่อไป ฉะนั้นถ้าหากองค์ใดสามารถอยู่กับท่านได้เป็นเวลานานพอสมควร ก็จะต้องได้ผลสมความตั้งใจแน่นอน เพราะนโยบายและอุบายฝึกหัดของท่านนั้นมีเพียบพร้อม พร้อมที่จะแนะนำให้แก่ศิษย์ทุก ๆองค์ที่มีนิสัยเป็นประการใด ท่านก็แสดงธรรม หรืออบรมตามที่มีนิสัยวาสนามาอย่างไร จึงทำให้ได้ผลอย่างมหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง ในข้อนี้ผู้ที่เคยไปอยู่ศึกษามากับท่านแล้วจะทราบได้ดีด้วยตนเอง" "การปฏิบัติอันเป็นวัตรที่ท่านอาจารย์มั่น พาศิษย์ของท่านปฏิบัตินั้นออกจะแปลกกว่าบรรดาพระปฏิบัติหรือพระอื่น ๆ ในสมัยนั้นมาก เช่นการฉันหนเดียว การฉันในบาตร เป็นต้น เฉพาะการฉันในบาตรนี้ เวลาไปในบ้านหรือเขานิมนต์ให้ไปฉันในบ้านต้องเอาบาตรไปด้วย เขาจัดสำรับคาวหวานอย่างเป็นระเบียบ
เรียบร้อยดี ท่านก็เอาเข้าใส่บาตรหมดด้วย เหตุที่ท่านได้นำมาปฏิบัติเช่นนี้ ศิษย์ผู้หวังดีและใคร่ในธรรมกับได้ผลการปฏิบัติมาแล้ว ก็ต้องรักษาข้อปฏิบัติเหล่านี้" ท่านพระครูปลัดอ่อนตา ท่านมีความเลื่อมใสท่านอาจารย์มั่นเป็นอย่างยิ่งและสนใจต่อข้อปฏิบัติของท่านอาจารย์มั่นยิ่งนัก แต่เนื่องด้วยท่านพระครูรูปนี้ท่านมีนิสัยสนใจมานานแล้ว เมื่อมาได้รับการศึกษาเพิ่มเติมเข้ายิ่งทำให้ท่านได้มีความเลื่อมใสต่อข้อปฏิบัติภิญโญยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก แต่การปฏิบัติดังที่ได้ปฏิบัติตามแนวพระอาจารย์มั่นซึ่งเป็นไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นย่อมเป็นการขัดข้องต่อบุคคลบางคนเป็นธรรมดา เพราะบางคนหาว่ารุ่มร่าม หาว่าอวดเคร่งในท่ามกลางชุมนุมชน หาว่าไม่รู้กาละเทศะ หาว่าคร่ำครึ หาว่าเป็นคนล้าสมัย พากันว่ากันไปต่าง ๆ นานาท่านพระครูจึงได้นำข้อครหาเหล่านี้เข้ากราบเรียนต่อท่านอาจารย์มั่นว่า "พวกเราปฏิบัติตรงต่อพระธรรม วินัยทุกประการ ย่อมเป็นการขัดข้องเขาหาว่าเราปฏิบัติเคร่งครัดเกินไป ไม่รู้จักกาละเทศะคร่ำครึไม่ทันการทันสมัย" ท่านอาจารย์มั่นตอบว่า "พวกเราผู้ปฏิบัติพระธรรมวินัยนั้น จะถือเอาชาวบ้านนักบวชผู้นอกรีตเป็นศาสดา หรือจะถือเอาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของพวกเรา ถ้าจะถือเอาพระสัมมาสัม-พุทธเจ้าเป็นศาสดาของตนก็ต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่พระองค์เจ้าทรงบัญญัติไว้แล้วทุกประการหรือถ้าต้องการเอาผู้อื่นนอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา ก็จงปฏิบัติตามผู้นั้นไป" พระครูปลัดอ่อนฟังคำอธิบายจากท่านอาจารย์มั่น ทำให้อาจหาญยิ่งขึ้นในการปฏิบัติธรรม ท่านพระครูได้ธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร เพื่อหาที่สงบเข้าสมาธิวิปัสสนา พระครูปลัดอ่อนตา ท่านเป็นพระมหานิกาย ต่อมาจึงเปลี่ยนนิกายมาเป็นธรรมยุติเพื่อจะได้ใกล้ชิดกับพระอาจารย์มั่นมากยิ่งขึ้น และท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดโยธานิมิตซึ่งพวกทหารและชาวบ้านสร้างถวาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น