วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สังคหะ

คำสอนในพระพูทธศาสนา ท่านแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ คำสอนระดับต้น ได้แก่ คำสอนที่ว่าด้วยศีล คำสอนระดับกลาง ได้แก่คำสอนที่ว่าด้วยสมาธิ และคำสอนระดับสูงได้แก่คำสอนที่ว่าด้วยปัญญา หรือปรัชญา การศึกษาและการปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนา ก็คือการศึกษาเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา และได้แก่การปฏิบัติตนให้มีศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง การศึกษาเรื่องศีล คือการศึกษาเรื่องระเบียบวินัย ทั้งที่เป็นของชาวบ้านทั่วไปและของนักบวช หรือของพระภิกษุสามเณร เพื่อให้เกิดความรอบรู้หลักการควบคุมกายวาจาให้มีความเรียบร้อยในการดำรงชีวิต ทั้งในด้านประกอบการงาน และด้านความประพฤติต่อสังคม การศึกษาดังกล่าวนี้ ทางพระพุทธศาสนาถือเป็นการศึกษาระดับต้น การศึกษาเรื่องสมาธิ คือการศึกษาเรื่องการอบรมใจให้มั่นคง ให้มีความสงบและสะอาด อันได้แก่การศึกษารายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับเรื่องสมถกรรมฐาน เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอารมณ์กรรมฐานเป็นต้นตลอดจนวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง การศึกษาดังกล่าวนี้ ถือเป็นการศึกษาระดับกลาง การศึกษาเรื่องปัญญา คือการศึกษาเรื่องการอบรมใจให้มีปัญญา มีความสว่างในใจ ให้มีความรู้แท้ รู้จริงในสภาวธรรม หรือปรมัตถธรรม อันได้แก่การศึกษาเรื่องวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสภาวธรรมที่เป็นอารมณ์กรรมฐาน เป็นต้น ตลอดจนวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง การศึกษาดังกล่าวนี้ ถือเป็นการศึกษาระดับสูง กล่าวโดยหลักสัจจธรรม การศึกษาเรื่องศีล และการศึกษาเรื่องสมาธิ ทั้งสองอย่างนี้เป็นการศึกษาเรื่อง สมมติสัจจะ คือศึกษาความจริงขั้นสมมติและบัญญัติ เป็นการศึกษาความจริงตามที่ชาวโลกยอมรับว่าจริง แต่มิใช่ความจริงจริงๆ ส่วนการศึกษาเรื่องปัญญานั้น เป็นการศึกษาเรื่อง ปรมัตถสัจจะ คือศึกษาความจริงขั้นสภาวธรรม เป็นการศึกษาความจริงจริงๆ การศึกษาระดับสูงนี้ รายละเอียดจะต้องศึกษาจากพระอภิธรรมปิฎก ผู้ที่ไม่มีความรู้พื้นฐานทางปรมัตถธรรมหรือทางสภาวธรรม ยากที่จะศึกษาให้เข้าใจในคำสอนระดับนี้ได้ เพราะในอภิธรรมปิฎกนั้นมีความยากเกี่ยวกับความหมายของหัวข้อธรรมและคำศัพท์เฉพาะ ซึ่งเป็นคำบาลีและมีความหมายลึกซึ้ง ยากที่จะหาคำไทยมาแปลให้ตรงกับสภาวะได้ หากผู้ศึกษามีความรู้พื้นฐานทางสภาวธรรมพอสมควรแล้ว ก็ย่อมจะศึกษาหาความรู้จากพระอภิธรรมปิฎกได้สะดวก ทั้งจะสามารถตีความอธิบายความ และวิเคราะห์หลักธรรมดาที่ปรากฏในพระสูตรต่างๆ ได้ถูกต้องด้วย
คำสอนในพระพุทธศาสนา ว่าโดยปิฎก แบ่งเป็น ๓ อย่าง คือ พระวินัยปิฎกพระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก คำสอนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้โดยอาณาเทศนา คือ ทรงแสดงเป็นระเบียบวินัยเป็นข้อบังคับ เป็นแบบแผนให้ปฏิบัติ โดยมีข้อกำหนดโทษหรือปรับอาบัติแก่ผู้ล่วงละเมิดไว้เป็นขั้นๆ ตามควรแก่โทษานุโทษ เรียกว่า พระวินัยปิฎก ซึ่งเป็นคำสอนที่เน้นในเรื่อง ศีลเพื่อสอนคนให้มีระเบียบวินัย ให้สังคมมีความสงบสุข คำสอนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้โดยโวหารเทศนา คือทรงแสดงโดยยักเยื้องโวหารเป็นต่างๆ ตามความเหมาะสมแก่บุคคลและกาละเทศะ ทรงยกบุคคลขึ้นเป็นตัวอย่างของการดำเนินชีวิต ทั้งในทางดี ทางชั่ว และทางถูก ทางผิด เรียกว่า พระสุตตันตปิฎก ซึ่งเป็นคำสอนที่เน้นในเรื่อง สมาธิ เพื่อสอนคนให้มีอัธยาศัยสงบ มีจิตใจแน่วแน่ มั่นคงในการบุญการกุศล คำสอนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้โดยปรมัตถเทศนา คือทรงแสดงตามหลักสัจจธรรมโดยไม่ยกบุคคลอื่นขึ้นเป็นตัวอย่าง ทรงแสดงเฉพาะสัจจธรรม หรือสภาวธรรมล้วนๆ เรียกว่าพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งเป็นคำสอนที่ เน้นในเรื่องปัญญา เพื่อสอนคนให้มีสติปัญญา รู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมทั้งปวง สัจจธรรม หรือสภาวธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในพระอภิธรรมปิฎกนั้นแบ่งเป็น๒ อย่าง คือ (๑) สมมุติสัจจะ จริงโดยสมมุติ (๒) ปรมัตถสัจจะ จริงโดยปรมัตถ์
ความจริงตามสมมุติของโลก ตามที่ชาวโลกยอมรับกัน เช่นสมมุติว่าเป็นกษัตริย์เป็นพราหมณ์ เป็นตำรวจ เป็นทหาร เป็นข้าราชการ เป็นเกียรติ เป็นยศ เป็นบ้าน เป็นเรือนเป็นรถ เป็นเรือ เป็นต้น เหล่านี้เรียกว่าสมมุติสัจจะ จริงโดยสมมุติ คือจริงที่ไม่จริง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บัญญัติธรรม คือสิ่งที่ชาวโลกบัญญัติขึ้น สมมุติขึ้นตามโวหารของโลก ตามความยอมรับของโลก ความจริงโดยปรมัตถ์ คือจริงอย่างแท้จริง หรือจริงจริงๆ โดยไม่มีความวิปริตแปรผันเรียกว่า ปรมัตถสัจจะ จริงโดยปรมัตถ์ คือจริงจริงๆ ซึ่งเป็นความจริงโดยสภาวะที่แท้จริงตามธรรมชาติที่แท้จริง มิได้มีใครบัญญัติ หรือแต่งตั้งขึ้น สมมุติขึ้น สิ่งที่เป็นปรมัตถสัจจะนั้น ท่านแสดงไว้ ๒ นัย คือนัยที่ ๑ ได้แก่สภาวธรรม ๒อย่าง คือ เบญจขันธ์และนิพพาน นัยที่ ๒ ได้แก่ปรมัตถธรรม ๔ อย่าง คือ จิต เจตสิก รูปและนิพพาน กล่าวโดยสรุป ปรมัตถสัจจะนั้น ได้แก่สภาวธรรม ๒ อย่าง คือ รูปธรรม และนามธรรม เพื่อให้ผู้ศึกษาได้มีความรู้ความเข้าใจในปรมัตถสัจจะพอเป็นพื้นฐาน จึงได้ลำดับหัวข้อสภาวธรรมและให้แนวการศึกษาไว้พอเป็นพื้นฐาน ดังต่อไปนี้:-
เบญจขันธ์และปรมัตถธรรม ก. เบญจขันธ์ พระพุทธองค์ทรงแสดงความจริงไว้ว่า "ชีวิตมีความตายเป็นที่สุด" และชีวิตนั้นมีส่วนประกอบสำคัญอยู่ ๕ ส่วน เรียกว่า เบญจขันธ์ หรือขันธ์ ๕ คือ (๑) รูปขันธ์ กองรูป (๒) เวทนาขันธ์ กองเวทนา (๓) สัญญาขันธ์ กองสัญญา (๔) สังขารขันธ์ กองสังขาร (๕) วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ ส่วนประกอบของชีวิตส่วนที่ ๑ เป็นส่วนที่เห็นได้ง่าย คือส่วนที่เป็นร่างกายหรือรูป-วัตถุ อันได้แก่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกเป็นต้น หรืออวัยวะต่างๆ เช่น มือ เท้า แขน ขา ศีรษะ เป็นต้น เหล่านี้ เรียกว่ารูปขันธ์ คนทุกคนต้องมีรูปขันธ์ ชีวิตทุกชีวิตต้องมีรูปขันธ์ ถ้าไม่มีรูปขันธ์ ก็จะมีรูปร่างตัวตนขึ้นไม่ได้ รูปขันธ์นี้เป็นสิ่งที่มีจริง จึงเป็นสภาวธรรมหรือปรมัตถสัจจะ ส่วนประกอบของชีวิตส่วนที่ ๒ ได้แก่ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เช่นรู้สึกเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง รู้สึกดีใจบ้าง เสียใจบ้าง รู้สึกเฉยๆ บ้าง ความรู้สึกเหล่านี้เรียกว่า เวทนาขันธ์ คนทุกคน ชีวิตทุกชีวิตจะต้องมีเวทนาขันธ์ คือมีความรู้สึกดังกล่าวนี้เวทนาขันธ์นี้เป็นสิ่งที่มีจริง จึงเป็นสภาวธรรมหรือปรมัตถสัจจะ ส่วนประกอบของชีวิตส่วนที่ ๓ ได้แก่ความจำได้ ความหมายรู้ต่างๆ เช่นจำรูป (สี)ได้ จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำสิ่งสัมผัสต่างๆ ได้ เป็นต้น ความจำสิ่งต่างๆ ได้นี้เรียกว่า สัญญาขันธ์ คนทุกคน ชีวิตทุกชีวิตต้องมีสัญญาขันธ์ คือมีความจำได้ด้วยกันทั้งนั้นความจำสิ่งต่างๆ ได้นี้เป็นสิ่งที่มีจริง จึงเป็นสภาวธรรม เป็นปรมัตถสัจจะ
ส่วนประกอบของชีวิตส่วนที่ ๔ ได้แก่ความดี ความชั่วหรือบุญบาปต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจ ปรุงแต่งให้เป็นไปต่างๆ คือให้ดีบ้าง ชั่วบ้าง เช่นความโลภ ความโกรธ ความหลง ความริษยา ความอาฆาตพยาบาท ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ความเมตตากรุณาเป็นต้น เหล่านี้ เรียกว่า สังขารขันธ์ คนทุกคน ชีวิตทุกชีวิตต้องมีสังขารขันธ์ด้วยกันทั้งนั้นสังขารขันธ์คือความดี ความชั่ว หรือบุญบาปนั้น เป็นสิ่งที่มีจริง จึงเป็นสภาวธรรมหรือปรมัตถ-สัจจะ ส่วนประกอบของชีวิตส่วนที่ ๕ เป็นส่วนสำคัญที่สุดของชีวิต เป็นส่วนประกอบที่เป็นธาตุรับรู้หรือเป็นตัวรับรู้อารมณ์ คือรับรู้รูป รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะ (สิ่งสัมผัส)และรู้ธรรมารมณ์ (อารมณ์ที่ผ่านมาทางใจ) ส่วนที่เป็นธาตุรับรู้หรือตัวรับรู้อารมณ์นี้ เรียกว่าวิญญาณขันธ์ ซึ่งได้แก่จิตหรือใจนั่นเอง คนทุกคน ชีวิตทุกชีวิตจะต้องมีวิญญาณขันธ์ คือมีจิตใจด้วยกันทั้งนั้น ถ้าไม่มีจิตใจ ก็จะรับรู้อารมณ์ใดๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น แต่ที่เรากล่าวว่าตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรู้รส กายรู้สึกสัมผัส นั้น เป็นคำล่าวตามโลกนิยม ว่าโดยปรมัตถสัจจะแล้ว ตาไม่ใช่ตัวเห็นรูป หูไม่ใช่ตัวได้ยินเสียง จมูกไม่ใช่ตัวได้กลิ่น ลิ้นไม่ใช่ตัวรู้รส กายไม่ใช่ตัวรู้สัมผัส แต่เป็นเพียงสื่อหรือเครื่องสัมผัสอารมณ์เท่านั้น ส่วนตัวรับรู้อารมณ์นั้น ได้ยินแก่วิญญาณหรือจิต เช่น เห็นรูปด้วยตา ได้ยินเสียงด้วยหู เป็นต้น วิญญาณขันธ์หรือจิตซึ่งเป็นธาตุรับรู้อารมณ์นี้เป็นสิ่งที่มีจริง จึงเป็นสภาวธรรมหรือปรมัตถสัจจะ เบญจขันธ์นั้นย่อลงได้เป็น ๒ ส่วน คือเป็นรูปส่วนหนึ่ง เป็นนามส่วนหนึ่ง รูปขันธ์จัดเป็นรูปหรือรูปธรรม ขันธ์อีก ๔ ขั้น เป็นนามหรือนามธรรม เบญจขันธ์นี้จึงนิยมเรียกสั้นๆว่า นามรูป หรือรูปนาม ชีวิตทุกชีวิตจึงเป็นเพียงรูปนามหรือรูปธรรมนามธรรมเท่านั้น ข. ปรมัตถธรรม ปรมัตถธรรม แปลว่าธรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง คือเป็นความจริงอย่างยิ่ง เป็นความจริงจริงๆ ได้แก่สภาวธรรม ๔ อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน สิ่งที่รู้นึก รู้คิด คือรับรู้อารมณ์ ได้แก่รู้รูป (สี) รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะและรู้ธรรมารมณ์ เรียกว่า จิต ได้แก่วิญญาณในเบญจขันธ์นั่นเอง เพราะวิญญาณกับจิตนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น