วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สาเหตุของการต้องตั้ง นโม

สาเหตุของการต้องตั้ง นโม
หลวงปู่มั่น ภูริทัตตมหาเถระ
คัดลอกจาก http://www.thaitv3.com/what_up/bright_data/nakontam/nkt002.html
ได้มีโยมคนหนึ่ง คือ อาชญาขุนพิจารณ์ (บุญมาก) สุวรรณรงค์ เป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชีอยู่ในอำเภอพรรณา นิคม บุตรของพระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) เจ้าเมืองพรรณานิคมคนที่ 4 ( และเป็นนายอำเภอพรรณานิคม คนแรกในรัชสมัยของพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้นมัสการถามพระอาจารย์มั่นถึงเรื่อง"นโม" ว่าเหตุใดการให้ทานหรือการรับศีลจึงต้องตั้ง "นโม" ก่อนทุกครั้ง จะกล่าวคำถวายทาน และรับศีลเลยที เดียวไม่ได้หรือ ?
พระอาจารย์มั่นได้เทศชี้แจงเรื่อง "นโม" ให้ฟังว่า...
"เหตุใดหนอ นักปราชญ์ทั้งหลาย จะสวดก็ดีจะรับ ศีลก็ดีหรือจะทำการกุศลใดๆก็ดีจึงต้องตั้งนโมก่อนจะทิ้ง นโมไม่ได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ นโม ก็ต้องเป็น สิ่งสำคัญ จะยกขึ้นพิจารณา ได้ความปรากฏว่า น คือธาตุน้ำ โมคือธาตุดิน พร้อมกับบทพระคาถาขึ้นมาว่า
มาตาเปตฺติกสมฺภโว โอทนกุมฺมาสุปจโย
สัมภวธาตุของมารดาบิดาผสมกันจึงเป็นตัวตนขึ้นมาเมื่อคลอดจากครรภ์มารดาแล้วก็ได้รับข้าวสุกและขนมกุมมาสเป็นเครื่องเลี้ยงจึงเจริญเติบโตขึ้นมาได้
"น" เป็นธาตุ ของมารดา โม เป็นธาตุของบิดา ฉะนั้น เมื่อธาตุทั้ง 2 ผสมกันเข้าไป ไฟธาตุของมารดาเคี่ยวเข้าจนได้นามว่า "กลละ" คือ น้ำมันหยดเดียว ณ ที่นี้เอง ปฏิสนธิวิญญาณเข้าถือปฏิสนธิ ได้จิต จึงได้ปฏิสนธิในธาตุ "นโม" นั้น
เมื่อจิตเข้าไปอาศัยแล้ว "กลละ" ก็ค่อยเจริญขึ้นเป็น "อัมพุชะ" คือ เป็นก้อนเลือด เจริญจากก้อนเลือดมาเป็น "ฆนะ" คือ แท่งและเปสี คือ ชิ้นเนื้อ แล้วขยายตัวออกคล้ายรูปจิ้งเหลน จึงเป็น ปัญจสาขา คือ แขน 2 ขา 2 หัว 1
ส่วนธาตุ "พ" คือ ลม "ธ" คือ ไฟนั้น เป็นธาตุเข้ามาอาศัยภายหลัง เพราะจิตไม่ถือ เมื่อละจาก" กลละ" นั้นแล้ว กลละ ก็ต้องเข้ามาอาศัยภายหลัง เพราะจิตไม่ถือ เมื่อละจาก
กลละนั้นแล้ว กลละ ก็ต้องทิ้งเปล่า หรือ สูญเปล่า ลม และไฟก็ไม่มี คนตายลมและไฟก็ดับหายสาบสูญไป จึงว่าเป็นธาตุอาศัย ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ธาตุ ทั้ง 2 คือ นโม เป็นดั้งเดิม
ในกาลต่อมาเมื่อคลอดออกมาแล้วก็ต้องอาศัย "น" มารดา "โม" บิดาเป็นผู้ทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงมา ด้วยการให้ข้าวสุก และขนมกุมมาสเป็นต้น ตลอดจนการแนะนำสั่งสอนความดีทุกอย่าง
ท่านจึงเรียกมารดาบิดา ว่า "ปุพพาจารย์" เป็นผู้สอนก่อนใคร ๆ ทั้งสิ้น มารดาบิดาเป็นผู้มีเมตตาจิตต่อบุตรธิดาจะนับจะประมาณมิได้ มรดกที่ท่านทำให้กล่าวคือ รูปกายนี้แลเป็นมรดกดั้งเดิม ทรัพย์สินเงินทองอันเป็นภายนอก ก็เป็นไปจากรูปกายนี้เอง ถ้ารูปกายนี้ไม่มีแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ชื่อว่าไม่มีอะไรเลย
เพราะเหตุนั้นตัวของเราทั้งตัวนี้เป็น "มูลมรดก" ของมารดาบิดาทั้งสิ้น จึงว่าคุณของท่านจะนับจะประมาณมิได้เลย ปราชญ์ทั้งหลายจึงหาได้ละทิ้งไม่
เราต้องเอาตัวเราคือ นโม ตั้งขึ้นก่อน แล้วจึงทำกิริยา หาได้แปล ต้นกิริยาไม่
มูลมรดกนี้แลเป็นต้นทุนทำการฝึกหัดปฏิบัติตน ไม่ต้องเป็นคนจนทรัพย์สำหรับทำทุนปฏิบัติ
นโม เมื่อกล่าวเพียง 2 ธาตุเท่านั้นยังไม่สมประกอบ หรือยังไม่เต็มส่วน ต้องพลิกสระพยัญชนะดังนี้ คือ เอาสระอะ จากตัว "น" มาใส่ตัว "ม" เอา สระโอจากตัว "ม" มาใส่ตัว "น" แล้วกลับตัวมะ มาไว้หน้าตัว โน เป็น มโน แปลว่า ใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงได้ทั้งกายทั้งใจ เต็มตามสมควรแก่การใช้เป็นมูลฐานแห่งการปฏิบัติได้
มโน คือ ใจ นี้เป็นดั้งเดิมเป็นมหาฐานใหญ่ จะทำจะพูดอะไรก็ย่อมเป็นไปจากใจนี้ทั้งหมดได้ในพระพุทธพจน์ว่า
มโนปุพฺพงฺ คมา ธมฺมา มโนเสฎฐา มโมยา
ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ
พระบรมศาสดาจะทรงบัญญัติพระธรรมวินัยก็ทรงบัญญัติออกไปจากใจ คือ มหาฐานนี้ทั้งสิ้น
เหตุนี้เมื่อพระสาวกผู้ได้มาพิจารณาตามจนถึงรู้สึก นโมแจ่มแจ้งแล้ว มโน ก็สุดบัญญัติ คือพ้นจากบัญญัติทั้งสิ้น สมบัติทั้งหลาย ในโลกนี้ต้องออกไปจากนโมทั้งสิ้น
ของใครก็ก้อนของใคร ต่างคนต่างถือเอาก้อนอันนี้ ถือเอาเป็นสมบัติ บัญญัติตามกระแสแห่งน้ำ โอฆะ จนเป็นอวิชชาตัวก่อภพก่อชาติด้วยการไม่รู้เท่า ด้วยการหลงถือว่าตัวเป็นเราเป็นของเราไปหมด"

หลวงปู่มั่น2

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
* สิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรทำความผูกพัน เพราะเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้วอย่างแท้จริง แม้กระทำความผูกพันและมั่นใจในสิ่งนั้น กลับมาเป็นปัจจุบันก็เป็นไปไม่ได้ ผู้ทำความสำคัญมั่นหมายนั้นเป็นทุกข์แต่ผู้เดียว โดยความไม่สมหวังตลอดไป อนาคตที่ยังมาไม่ถึงนั้น เป็นสิ่งไม่ควรไปยึดเหนี่ยวเกี่ยวข้องเช่นกัน อดีตปล่อยไว้ตามอดีต อนาคตปล่อยไว้ตามกาลของมัน ปัจจุบันเท่านั้นจะสำเร็จประโยชน์ได้ เพราะอยู่ในฐานะที่ควรทำได้ ไม่สุดวิสัย
* การบำเพ็ยจิตให้สงบจนเกิดกำลังแล้ว ก็ไม่ควรที่จะทำความสงบอย่างเดียว เพราะถ้าทำแต่ความสงบไม่พิจารณาทุกขสัจจ์ ก็จะเป็นเฉพาะฌาน ก็จะเป็นมิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิผิด ไม่พ้นทุกข์ ต้องพิจารณาทุกข์จึงจะพ้นทุกข์
* การพิจารณาอย่างใด้จิตหนีออกนอกกายนี้ จะชัดเจนแจ่มแจ้งหรือไม่ ก็อย่าได้ท้อถอย เพ่งพิจารณาอยู่ ณ ที่นี่ล่ะ จะพิจารณาให้เห็นเป็นอสุภะ หรือให้เห็นเป็นธาตุก็ได้ หรือจะพิจารณาให้เห็นเป็นขันธ์ หรือให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ ได้ทั้งนั้น แต่ให้พิจารณาเพ่งลงเฉพาะในเรื่องนั้นจริงๆ
ตลอดอิริยาบถทั้งสี่ แล้วก็มิใช่ว่าเห็นแล้วจะหยุดเสียเมื่อไร จะเห็นชัดหรือไม่ชัดก็พิจารณาอยู่อย่างนั้นแหละ เมื่อพิจารณาอันใดชัดเจนแจ่มแจ้งด้วยใจตนเองแล้ว สิ่งอื่นนอกนี้จะมาปรากฏชัดในที่เดียวกันดอก
* การบำรุงรักษาสิ่งใดๆ ในโลก การบำรุงรักษาตนคือใจเป็นเยี่ยม จุดที่เยี่ยมยอดของโลกคือใจ ควรบำรุงรักษาด้วยดี ได้ใจแล้วคือได้ธรรม เห็นใจตนแล้วคือเห็นธรรม รู้ใจแล้วคือรู้ธรรมทั้งมวล ถึงใจตนแล้วคือถึงพระนิพพาน ใจนี้คือสมบัติอันล้ำค่า จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป คนพลาดใจคือไม่สนใจปฏิบัติต่อใจดวงวิเศษในร่างนี้ แม้จะเกิดสักร้อยชาติพันชาติก็คือผู้เกิดผิดพลาดอยู่นั่นเอง
* ผู้ปฏิบัติพึงใช้อุบายปัญญาฟังธรรมเทศนาทุกเมื่อ ถึงจะอยู่คนเดียวก็ตาม คืออาศัยการกำหนดพิจารณาธรรม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นรูปธรรมที่มีปรากฏอยู่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็มีอยู่ ได้ยินอยู่ สัมผัสอยู่ ปรากฏอยู่ จิตใจเล่าก็มีอยู่ ความนึกคิด รู้สึกในอารมณ์ต่างๆ ทั้งดี และร้ายก็มีอยู่ ความเสื่อม ความเจริญ ทั้งภายนอก ภายใน ก็มีอยู่ ธรรมชาติอันมีอยู่โดยธรรมดา เขาแสดงความจริงคือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ให้ปรากฏอยู่ทุกเมื่อ เช่น ใบไม้มันเหลืองหล่นร่วงลงมา พินิจพิจารณาด้วยสติปัญญา โดยอุบายมีอยู่เสมอแล้ว ชื่อว่า ได้ฟังธรรมทุกเมื่อแล
* ถ้าแลบุคคลมาปรารถนาเอาแต่รวงข้าว แต่หารักษาต้นข้าวไม่ เป็นผู้เกียจคร้าน จะปรารถนาจนวันตายรวงข้าวก็จะไม่มีขึ้นมาให้ฉันใด วิมุตติธรรมก็ฉันนั้นนั่นแล มิใช่สิ่งอันบุคคลจะพึงปรารถนาเอาได้ คนผู้ปรารถนาวิมุตติธรรมแต่ปฏิบัติไม่ถูก หรือไม่ปฏิบัติ มัวเกียจคร้านจนวันตาย จะประสพวิมุตติธรรมไม่ได้เลย ด้วยประการฉะนี้

หลวงปู่มั่น1

กตัญญู วันหนึ่ง ท่านอาจารย์มั่นระลึกถึงพระครูสีทา ชยเสโน พระกรรมวาจาจารย์ของท่าน จึงไปหาท่านและเล่าประสปการณ์การปฏิบัติธรรมที่ถ้ำไผ่ขวางน้ำตกสาริกาให้ฟังว่า "การปฏิบัตินี้เป็นทางที่จะพาให้พ้นทุกข์คือมรรค ๘ มรรค ๘ ข้อต้นนั้นได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ความ-เห็นชอบ เห็นชอบอะไร เห็นอริยสัจ ๔ อริยสัจ ๔ คืออะไร คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคคือมรรค ๘ ฉะนั้นเมื่อปฏิบัติสัมมาทิฏฐิข้อเดียว จึงเท่ากับปฏิบัติทั้งหมด ทุกข์คืออะไร คือความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ใครคือผู้เกิดผู้ตาย ร่างกายของเรานี้ ฉะนั้นร่างกายของเรานี้จึงเป็นตัวทุกข์เพราะจิตเข้าไปยึดมั่น การบำเพ็ญจิตให้สงบจนเกิดกำลังแล้ว ก็ไม่ควรที่จะทำความสงบอย่างเดียว เพราะถ้าทำแต่ความสงบไม่พิจารณาทุกขสัจจ์ ก็จะเป็นเฉพาะฌาน ก็จะเป็นมิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิผิดไม่พ้นทุกข์ต้องพิจารณาทุกข์จึงจะพ้นทุกข์ คือต้องใช้กระแสจิตที่เป็นกำลังอันเกิดจากความสงบนั้นมาพิจารณาเพราะกระแสจิตนี้ได้รับการอบรมจากสมาธิ แล้วเป็นกำลังมหาศาล ซึ่งไม่ควรนำไปใช้ทางอื่นเสีย ควรใช้พิจารณาตัวทุกข์ คือร่างกายนี้ให้เห็นชัดเจนจนกระทั่งเกิดนิพพาทาญาณความเบื่อหน่ายเจริญให้มากกระทำให้มาก ญาณเกิดขึ้นจนกว่าจะแก่รอบ" ท่านพระครูสีทา ชยเสโน ฟังแล้วก็ชอบและขอบใจท่านอาจารย์มั่น ที่ไม่หลงลืม อุตสาห์เอาธรรมที่ตนได้รู้ได้เห็นมาบอก ต่อมาท่านพระครูสีทา ได้ทดลองปฏิบัติดูตามนั้น ก็ปรากฏความอัศจรรย์ขึ้น ท่านสามารถรู้เห็นสภาวะความจริง ได้ขอให้ท่านอาจารย์มั่นช่วยเป็นพยานในการเห็นธรรมของท่านด้วย ทั้งได้ยกย่องสรรเสริญอาจารย์มั่นว่าเป็นผู้มีกตัญญูกตเวทีมาก โปรดโยมแม่ ต่อมาในปีนั้นเอง ท่านอาจารย์มั่นได้เดินทางไปสอนโยมมารดาของท่าน เมื่อ
โยมได้ปฏิบัติตามคำแนะนำก็เกิดความเย็นอกเย็นใจขึ้น จึงลาลูกหลานออกบวชชี โยมมารดามีความเพียรแรงกล้า นอนตะแคงขวาตลอดชีวิต รับประทานอาหารมื้อเดียว ออกเดิน ธุดงค์เช่นเดียวกับพระสงฆ์ เมื่ออินทรีย์แก่กล้าขึ้น ท่านอาจารย์มั่นจึงแนะนำให้พิจารณาขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จนตัดความยึดมั่นถือมั่นได้ โยมมารดาถือศีล ๘ ตลอดชีวิต จนกระทั่งแตกดับสังขารไป ข้อสำคัญโยมมารดาของท่านรู้ วันตายของตัวเองด้วย เมื่อทำนายชะตาชีวิตตนเองไว้ว่าจะตายเมื่อไร ถึงวันนั้นก็ถือแก่ความตายจริง ๆ และท่านอาจารย์มั่นได้จัดการทำฌาปนกิจศพมารดาด้วยตัวท่านเอง ท่านอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ซึ่งได้หันมาปฏิบัติธรรมอย่างเอาจริงเอาจังก็ปรากฏผลการปฏิบัติรุดหน้าไปเรื่อย ๆ ต่อมาน้องชายของท่านคือ พระมหาปิ่น ปัญญาพโล เปรียญ ๕ ประโยคจากวัดบรมนิเวศ เลื่อมใสในพระอาจารย์มั่น ทั้งสองพี่น้องจึงร่วมเดินทางติดตามพระอาจารย์มั่น นอกจากนี้ยังมีพระอาจารย์-คำพวย , พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี และพระอาจารย์อ่อน ได้ออกธุดงค์ติดตามพระอาจารย์มั่นอีกด้วย สอนอาจารย์เสาร์ให้รู้ธรรม ปี พ.ศ.๒๔๕๙ หลังจากออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์มั่นได้ธุดงค์ไปหาพระอาจารย์เสาร์ซึ่งจำ-พรรษาอยู่ที่ถ้ำภูผากุด จังหวัดนครพนม ระหว่างทาง ท่านได้พิจารณาถึงพระอาจารย์เสาร์ เห็นว่ายังไม่บรรลุธรรมเพราะความปรารถนาความเป็นปัจเจกโพธิ เหมือนกับเราเมื่อก่อนท่านรำพึงกับตัวเองว่า "ถ้าเราไปพบอาจารย์ของเราเราก็จะต้องแนะนำให้ท่านเลิกการปรารถนาขั้นนั้นเสีย" เมื่อไปถึง ก็ปรากฏว่าท่านอาจารย์เสาร์ได้เตรียมสถานที่ไว้คอยต้อนรับล่วงหน้าแล้ว แปลว่า ไม่ใช่แต่ศิษย์เท่านั้นที่รู้อาจารย์ อาจารย์แม้ยังไม่บรรลุก็รู้ศิษย์เหมือนกัน
พรรษานั้น ศิษย์และอาจารย์ต่างปรึกษาสนทนาธรรม เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติธรรมกันเป็นประจำวันหนึ่งท่านอาจารย์มั่นได้ถามท่านอาจารย์เสาร์ว่า "ท่านอาจารย์ได้พิจารณาอริยสัจธรรมหรือไม่" "เราก็ได้พิจารณาเหมือนกัน" อาจารย์เสาร์ตอบ "ได้ผลเป็นอย่างไรบ้าง" "ได้ผลเหมือนกันแต่ไม่ชัดเจน" "เพราะเหตุไรบ้างครับ" "เราได้พยายามอยู่ คือพยายามคิดถึงความแก่ ความตาย แต่ว่าบางคราวมันไม่แจ่มแจ้ง" "ถ้าเช่นนั้นคงมีอะไรเป็นเครื่องห่วงหรือกระมัง" "เราก็พยายามพิจารณาเหมือนกัน แต่ก็หาสิ่งขัดข้องไม่ได้ ความจริงความสว่างของดวงจิตนั้นก็เป็นปกติดีอยู่ แม้มันจะดีบ้างไม่ดีบ้าง มันก็เป็นเรื่องธรรมดาของสมาธิ แต่ว่าเมื่อจิตพิจารณาทีไร รู้สึกว่าไม่ก้าวไป" "กระผมคิดว่า คงมีอะไรสักอย่างเป็นเครื่องห่วง" "ท่านอาจารย์ห่วงเรื่องการปรารถนาเป็นปัจเจกโพธิกระมังครับ" "แน่ทีเดียว ในใจเราตั้งอยู่ว่า จะขอให้รู้ธรรมเองโดยมิต้องให้ใครมาแนะนำหรือมาบอกให้และมันก็ตั้งอยู่ในใจของเรามาตลอด" "ขอให้ท่านอาจารย์อย่าเป็นห่วงเลย ขอให้พิจารณาอริยสัจเพื่อความพ้นทุกข์เสียแต่ชาตินี้เถิดเพราะกระผมเองก็ปรารถนาพระโพธิญาณและกระผมก็ได้ละความปรารถนานั้นแล้ว เนื่องด้วยว่าการท่องเที่ยวในสังสารวัฏฏ์นี้มันนานเหลือเกิน" ท่านอาจารย์เสาร์ประหลาดใจมาก ที่ศิษย์ของท่านล่วงรู้ความในใจของท่านได้ ทำให้ท่านรู้สึกว่าท่านอาจารย์มั่น คงต้องมีความชัดเจนในใจอย่างแน่นอน ต่อมาท่านอาจารย์เสาร์ได้พิจารณาอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พิจารณาสังขารร่างกายจนเกิดความเบื่อหน่ายคลายจาง เมื่อกระทำให้มากเข้า ท่านก็ได้ดวงตาเห็นธรรม เลิกปรารถนาพระปัจเจกโพธิ อาจารย์เสาร์เล่าเรื่องให้อาจารย์มั่นฟัง อาจารย์มั่นรับรองแล้วต่างก็เอิบอิ่มใน
ธรรม ท่านอาจารย์มั่นได้ปฏิบัติต่อท่านอาจารย์เสาร์ เหมือนดังตัวท่านเป็นพระใหม่เลยทีเดียว ตั้งแต่ล้างบาตรซักจีวร ปูที่นอนให้ตักน้ำมาให้สรง และถูหลัง เป็นต้น ท่านปฏิบัติด้วยความอ่อนน้อมเป็นที่สุด ช่วงที่ท่านอาจารย์มั่นได้มาอยู่ที่ถ้ำนี้ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้ตามไปปฏิบัติด้วย และได้ติดตามท่านอาจารย์มั่นไปทุกหนทุกแห่ง อย่าดูหมิ่นครูบาอาจารย์ พ.ศ.๒๔๖๐ อาจารย์มั่นได้จำพรรษาที่ป่าแห่งหนึ่ง ที่บ้านดงปอ ตำบลห้วยหลาง อำเภอเพ็งในปีนี้ท่านได้อบรมพระภิกษุสามเณร ในการปฏิบัติธรรมมากขึ้น ท่านแนะนำให้ลูกศิษย์ของท่านอยู่วิเวก ไม่ให้อยู่เป็นหมู่คณะเพราะจะหาความสงบมิได้ ให้อยู่แห่งละองค์สององค์ ใครสงสัยในการปฏิบัติ ท่านจะคอยแก้ไขให้ท่านติดตามดูความเคลื่อนไหวของศิษย์อยู่ตลอดเวลา องค์ไหนมีอุปนิสัยแก่กล้าในธรรม ท่านจะเร่งเร้าให้เข้าถึงธรรมโดยเร็ว องค์ไหนคิดออกนอกลู่นอกทาง ท่านจะคอยต้อนให้เข้าสู่หนทางอันถูกต้อง ครั้งหนึ่งท่านพระมหาปิ่น ปัญญาพโล ได้นึกถึงท่านอาจารย์มั่นแล้วเกิดความรู้สึกดูหมิ่นท่านอาจารย์ว่า "ท่านอาจารย์มั่นมิได้ร่ำเรียนพระปริยัติธรรมมากเหมือนเรา ท่านจะมีความรู้กว้างขวางได้อย่างไร เราได้ร่ำเรียนมาถึง ๕ ประโยค จะต้องมีความรู้กว้างขวางมากกว่าท่าน และที่ท่านสอนเราอยู่เดี๋ยวนี้จะถูกหรือผิดประการไรหนอ" ท่านอาจารย์มั่นนั่งอยู่ในกุฏิของท่าน อยู่กันคนละมุมวัด ได้ทราบวาระจิตของท่านมหาปิ่นกำลังคิดดูถูกท่าน อันเป็นภัยแก่การบำเพ็ญสมณธรรมอย่างยิ่ง ท่านจึงลงจากกุฏิ ถือไม้เท้าไปเคาะข้างฝาพระมหาปิ่น แล้วพูดขึ้นมา "ท่านมหาปิ่น เธอจะมานั่งดูถูกเราด้วยเหตุไร การคิดเช่นนี้ เป็นภัยต่อการบำเพ็ญสมณธรรมจริงหนา มหา" พระมหาปิ่นตกใจสุดขีด ไม่คิดไม่ฝันว่า พระอาจารย์มั่นจะล่วงรู้ความรู้สึกนึกคิดของตัวเองได้รีบลุกจากกุฏิลงไปกราบเรียนท่านว่า
"กระผมกำลังนึกถึงท่านอาจารย์ในด้านอกุศลจิต กระผมขอกราบเท้าจงอโหสิกรรมให้แก่กระผมเถิด ตั้งแต่วันนี้ต่อไป กระผมจะบังคับจิตมิให้นึกคิดถึงสิ่งที่เป็นอกุศลจิตอย่างนี้ต่อไปอีก" ศิษย์ที่มีนิสัยดูหมิ่นครูบาอาจารย์ หากแก้ไขนิสัยนี้มิได้ ก็ยากที่จะบรรลุธรรมได้ อย่ามัวเที่ยวแสวงหา เมื่ออยู่ที่ใดที่หนึ่งนาน ๆ หมู่คณะก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้ท่านรู้สึกไม่ชอบใจ เพราะท่านไม่ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ในที่สุดพระอาจารย์มั่นจึงปลีกตัวไปอยู่ถ้ำผาปิ้ง จังหวัดเลย เพียงองค์เดียว ปีนี้เป็นปี พ.ศ.๒๔๖๑ ท่านได้พิจารณาถึงความจริงอันเกิดจากการบำเพ็ญเพียรของท่านและต้องการวัดผลการปฏิบัติที่ท่านได้แนะนำพร่ำสอนพระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกา ว่าถูกต้องหรือไม่ เมื่อได้พิจารณาว่าถูกต้องเป็นธรรม ท่านก็พอใจ และตั้งใจจะสั่งสอนต่อไปอีก เพื่อช่วยให้คนได้พ้นทุกข์ประสบสุขในชีวิตมากขึ้น วันหนึ่ง ท่านหวนพิจารณาถึง "ความรู้ของท่านและที่ได้แนะนำสั่งสอนผู้อื่นได้ปรากฏว่า อันที่จริงอริยธรรมเหล่านี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้วอย่างชัดเจน แต่เพราะเหตุที่ผู้ศึกษาไม่ได้ทำให้เป็นจริงขึ้น อริยธรรมจึงกลายเป็นสิ่งที่ลึกลับยากแก่การจะรู้จริงได้ แม้ว่าพระพุทธองค์จะทรงแสดงแจ้งชัดสักเท่าใดก็ตาม เช่นพระองค์แสดงอนัตตลักขณสูตรโปรดปัญจวัคคีย์ให้ได้สำเร็จเป็น พระอรหันต์นั้น พระองค์ก็ทรงแสดงชี้ลงไปที่กายคือรูปของปัญจวัคคีย์นั่นเอง ได้ทรงแสดงว่า
รูป ภิกฺขเว อนฺตตา รูปไม่ใช่ตน แม้รูปของปัญจวัคคีย์ก็มีอยู่แล้ว ทำไมปัญจวัคคีย์จึงไม่พิจารณาเอาเองเล่า มารู้แจ้งเห็นจริงเอาตอนที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้ดูจึงค่อยสำเร็จ ข้อนี้ก็เป็นเช่นกับตัวเรานั่นเอง ได้อุตส่าห์เที่ยวไปแสวงหาอาจารย์และ
ผู้ทรงคุณวุฒิกระทั่งทั่วประเทศไทยและต่างประเทศ แต่ครั้นจะมารู้จริงได้ก็คือการมาศึกษาปฏิบัติเอาโดยตนเองตามแนวของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง แต่ว่าเท่าที่เราเองได้เข้าใจนั้นก็เพราะเราไปเห็นความจริงเท่านั้นทั้ง ๆ ที่ความจริงก็อยู่ใกล้นิดเดียว แต่ว่าการรู้ปฏิบัติเพื่อความรู้จริงนี้มันเป็นสิ่งที่แปลก เพราะเหตุ ว่าการทำจิตเป็นนามธรรม เมื่อเกิดความอัศจรรย์หรือความสบายก็ไปเข้าใจเสียว่าดีเสียแล้ว จึงเป็นให้ไม่สามารถจะรู้ยิ่งขึ้นได้ จึงไม่ควรตำหนิผู้ที่เขาพากันทำสมาธิแล้ว หลงใหลไปตามโลกียฌานหรือตามวิปัสสนูปกิเลส เพราะเขาเหล่านั้นก็ได้รับความสงบความเย็นใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยาก แต่ที่ควรตำหนิก็เพราะว่าเขาไม่พยายามหาโลกุตตรธรรมนั่น แม้แต่เราในเบื้องแรกเราก็พบ โลกียฌาน ฌานมากมาย ซึ่งมันก็ทำให้เราต้องหลงใหลมันไปพักใหญ่ แต่เราพยายามที่จะแสวงหาให้ยิ่งขึ้น เราจึงไม่ติดอยู่เพียงแค่นั้น อันการติดอยู่หรือเข้าใจผิดในธรรมปฏิบัติจิตอันเป็นภายในนี้มันไม่ไปนรกดอก แต่ว่าการไปติดมัน มันทำให้ต้องล่าช้าต่อการรู้ยิ่งเห็นจริงต่าง ๆ หากเราเอง เมื่อได้ความรู้แจ้งนี้แล้วจึงได้พยายามเพื่อความที่จะทำจิตให้ก้าวหน้าโดยไม่หยุดยั้ง ทุกหมู่ทุกจำพวกในบรรดาผู้บำเพ็ญจิตในกัมมัฏฐานทั้งหลายนั้น ต่างก็มุ่งหวังเพื่อความดีความเจริญทุกหมู่ทุกคณะ แต่เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั่นเองที่ทำให้เขาต้องเสียประโยชน์ท่านได้ปรารภไปถึงอาฬารดาบาสกาลามโคตร และอุทกดาบสรามบุตร ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า "ฉิบหายเสียจากคุณอันใหญ่" เนื่องด้วยดาบสทั้ง ๒ นั้น ได้มรณะไปเสียก่อนที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ ความจริงดาบสทั้งสองก็เป็นผู้สำเร็จฌานชั้นสูงกันทั้งนั้น อันว่าฌานชั้นสูงนี้เป็นการให้ ความสุขอันยิ่งแก่ผู้ได้สำเร็จอยู่มากแล้ว แต่เพราะเหตุใดเล่าพระพุทธองค์จึงทรงแสดงว่า "ฉิบหายเสียจากคุณอันใหญ่" ก็เพราะว่ายังไม่หมดจากกิเลส เพราะเพียงแต่ข่มกิเลสไว้ เหมือนกับศิลาทับหญ้าเท่านั้น อันที่จริงฌานชั้นสูงนั้น ก็เป็นเบื้องต้นแห่งการดำเนินไปสู่ความหมดจดจากกิเลสแต่เพราะความที่ดาบสนั้นไม่เข้าใจวิธีแห่งการอันจะพึงทำจิตเข้าสู่อริยสัจจ์เท่านั้น ข้อนี้เป็นประการสำคัญนัก เพราะการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็เพราะเหตุนี้คือ อริยสัจจ์นี้ แต่ท่านได้พิจารณาต่อไปอีกว่า การบำเพ็ญ จิตต้องอาศัย
ปัญญาจึงจะรู้ถูกผิด และมิใช่แต่จะเอาแต่ทำจิตอย่างเดียว ต้องมีสิ่งแวดล้อมภายนอก อีกอาทิเช่น ธรรมวินัยทั้งอย่างหนักและอย่างเบา แม้ว่าจะพยายามทำจิตสักเท่าใดก็ตาม ถ้าประพฤติผิดพระธรรมวินัยน้อยใหญ่แล้วจะทำจิตย่อมไม่บังเกิดผล พร้อมกันนั้นต้องเป็นผู้สันโดษมักน้อยรักษาธุดงควัตรต่าง ๆ อันเป็นเครื่องขัดเกลากิเลสหยาบ ด้วยว่าสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ที่จะต้องพยายามปฏิบัติให้เป็นอันดี เท่ากับเป็นเครื่องบำรุงส่งเสริม เช่นกับรถยนต์เครื่องยนต์กลไกต่าง ๆ ถึงเป็นเครื่องดีมากสักเท่าใดก็ตาม ถ้าขาดการบำรุงรักษาก็ไม่สามารถที่จะให้ผลแก่ผู้ใช้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือเช่นต้นไม้ต่าง ๆ ถ้าเราจะปลูกบ้านให้ได้ผลก็ต้องบำรุงรักษาจึงจะให้ผลแก่เจ้าของได้ การบำเพ็ญจิตก็เช่นเดียวกัน ควรจะได้กำหนดข้อปฏิบัติอันเป็นการสันโดษมักน้อยเอาไว้ โดยการฉันหนเดียว การฉันในบาตร การบิณฑบาต การปัดกวาด ทำความสะอาดเสนาสนะ การอยู่โคนต้นไม้การอยู่ป่า การมีจีวรเพียงแต่ไตรจีวร การรักษาวัตรทั้งหลายมีเสขิยวัตรและอาจาริยวัตร เป็นต้น ในราตรีหนึ่งระหว่างกาลเข้าพรรษา ขณะที่กำลังบำเพ็ญสมณธรรมอยู่เกิดความสงบเยือกเย็นมาก จนเกิดแสงสว่างพุ่งไปสู่พระอภิธรรมทั้ง ๗ พระคัมภีร์ แล้วได้พิจารณากำหนดพิจารณาแยบคายค้นคว้าสามารถรู้ได้ทั้งอรรถและทั้งแปลอย่างคล่องแคล่ว ได้พิจารณาอย่างละเอียดตลอดคืนยันรุ่ง พอรุ่งเช้าออกจากสมาธิแล้ว ความรู้เหล่านั้นปรากฏว่าลบเลือนไปเสียเป็นส่วนมาก ยังจำได้เฉพาะที่สำคัญ พอรู้ความหมายเฉพาะเรื่องหนึ่ง ๆ เท่านั้น ท่านได้พิจารณาวาสนาบารมีของท่านแล้วคำนึงถึงว่าเมื่อแจ่มแจ้งแล้วทำไมถึงลบเลือนไปเสีย ท่านได้ทราบในญาณของท่านว่า "ปฏิสัมภิ-ทานุสาสน์" ความรู้ที่จะพึงแตกฉานในพระธรรมวินัยนี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จะได้มีความแตกฉาน เป็นปฏิสัมภิทาญาณก็หามิได้ เช้าวันนั้นเมื่อเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน มีโยมผู้ชายคนหนึ่งมาใส่บาตรแล้วพูดขึ้นมา "เมื่อคืนนี้ผมฝันเห็นท่านเปิดเอาหนังสือพระไตรปิฎกออกมาอ่านเป็นอันมาก ท่านคงภาวนาดีในคืนนี้" ท่านได้ยินโยมพูดก็เพียงแต่ยิ้มแย้มนิดหน่อยแล้วก็เดินบิณฑบาตต่อไป
เมื่อต้องการพ้นทุกข์ ไม่ควรติดฌาน ปีต่อมา พ.ศ.๒๔๖๒ ท่านอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ที่ป่า บ้านค้อ อำเภอผือ จังหวัดอุดรธานี ปีนี้ท่านได้แนะนำข้อปฏิบัติแก่พระภิกษุเป็นจำนวนมาก ได้แนะนำพระอาจารย์สุวรรณ สุจิณฺโณ , พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม , พระอาจารย์แหวน สุจิณโณและพระอาจารย์ตื้อ ซึ่งปฏิบัติได้ฌานกันมาบ้างแล้วว่าไม่ให้หลงใหลอยู่ในฌาน "ผู้ต้องการพ้นทุกข์จริง ๆ แล้ว ต้องไม่หลงในความเป็นเหล่านั้น ญาณ คือ ความรู้พิเศษที่เกิดขึ้นในระหว่างแห่งความสงบ เป็นต้นว่าญาณระลึกชาติได้ ญาณรู้จักเหตุการณ์ในอดีต ญาณรู้จักเหตุการณ์ในอนาคต รู้จักวาระจิตความนึกคิดของบุคคลอื่น เป็นต้น เหล่านี้ล้วนแต่เป็นวิชาที่น่าอัศจรรย์มากทีเดียว แต่ถ้าหากว่าหลงและติดอยู่ในญาณเหล่านี้แล้วจะทำให้เกิดความเนิ่นช้าในการปฏิบัติเพื่อเข้าสู่อริยสัจธรรม แต่ญาณเหล่านี้เป็นอุปกรณ์อย่างดีพิเศษในอันที่ดำเนินจิตเข้าสู่อริยสัจจ์หรือการทรมานบุคคลบางคน แต่ว่าจะต้องรู้ว่ามันเป็นญาณ อย่ายินดี หรือติดอยู่เพียงเท่านี้ เพราะเท่ากับว่ามันเป็นผลพลอยได้ เกิดจากการบำเพ็ญจิตเข้าสู่อริยสัจจ์นั่นเอง ถ้าหากว่าเราไปยินดีหรือไปติดอยู่เพียงเท่านี้แล้ว ก็จะก้าวเข้าไปสู่ความพ้นไปจากทุกข์ไม่ได้ แม้แต่พระเทวทัตในสมัยครั้งพุทธกาลก็สำเร็จญาณถึง ๕ ประการ แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้สมประสงค์ แต่หลงอยู่ในความรู้ญาณของตน เกิดทิฏฐิมานะว่าตนเก่งตนดี ถึงกับต้องการจะเป็นพระพุทธเจ้าแทนเอา เลยทีเดียว แต่ที่ไหนได้ ในที่สุดโดยอาศัยญาณกลับต้องเสื่อมหมดทุกอย่างไม่พ้นทุกข์ ไม่เข้าถึงอริยสัจจ์ แต่กลับตกนรกไปเลย ญาณเหล่านี้มันน่าคิดจริง ๆ เพราะมันวิเศษแท้ ทั้งเยือกเย็นทั้งสว่างผ่องใส ทั้งรู้อะไรที่เป็นอดีต อนาคต ตามความประสงค์ ผู้ที่ไม่เข้าใจความจริง ที่ไปติด ณ ที่นี้ เราจะสังเกตเห็นได้ตรงที่เกิดทิฏฐิขึ้นมาอย่างหนึ่ง คือการถือตัวว่าดีกว่าใคร ๆ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นครูบาอาจารย์หรือเพื่อนสหธรรมิกหรือศิษย์ หาว่าศิษย์สู้เราไม่ได้ ใครก็สู้เราไม่ได้ ทิฏฐิชนิดนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วด้วยตัวของตัวเองไม่รู้ตัวเอง
ท่านเปรียบว่ามีจระเข้ตัวหนึ่งใหญ่เหลือเกินอยู่ในท้องทะเล มันไม่รู้ว่าหางของมันอยู่ที่ไหน เมื่อมันไม่รู้และมันเห็นหางของมัน มันก็กินหางของมัน กินไป ๆ จนเหลือแต่หัว เลยหม่ำซะหมดเลย และท่านก็อธิบายว่า การหลงตัวด้วยญาณนี้มันละเอียดนัก เราจะสังเกตได้อีกอย่างหนึ่ง คือการขาดจากความรอบคอบบางสิ่งบางประการ เพราะเหตุแห่งการถือตัว เช่นการกล่าวคำดูถูกดูหมิ่นต่อเพื่อน สหธรรมิกด้วยกัน หรือต่อครูบาอาจารย์ของตนหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งตนไม่เห็นด้วย กับการดำเนินญาณทุกญาณมันต้องเสื่อม มันจะคงตัวอยู่ได้ตลอดไปหาได้ไม่ แม้จะใช้ความพยายามสักเท่าใดก็ตาม คือว่าครั้งแรก ๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นความจริงได้ แต่ต่อไปก็เลือนเข้า ๆ กลับกลายเป็นความนึกคิด โดยอาศัยสัญญาเก่า นี้คือความเสื่อมแห่งญาณ ลูกศิษย์ก็มีหลายองค์ ที่ต้องเสื่อมลงจากญาณเหล่านี้อย่างน่าเสียดาย ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสื่อม จึงต้องรีบดำเนินจิตเข้าสู่อริยสัจจ์เสียเลย เพราะความที่จิตเข้าสู่อริยสัจจ์ได้แล้ว มันก็ห่างจากความเสื่อมไปทุกทีๆ ท่านหนูใหญ่ อายุคราวเดียวกับท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร ไม่พยายามดำเนินจิตเข้าสู่อริยสัจจ์ แต่ว่าวิญญาณแหลมคมดี เอาแต่ญาณภายนอกอย่างเดียว จึงเสื่อมไปได้ คือท่านหนูใหญ่นั้นเมื่อปฏิบัติไปแล้วเกิดญาณรู้ความจริงบางอย่าง ได้อย่างคล่องแคล่วเป็นที่ปรึกษาหารือแก่สหธรรมมิกด้วยกัน ได้เป็นอย่างดี ทั้งมีความรู้พิเศษเป็นที่น่าอัศจรรย์มาก เมื่อหมู่คณะที่อยู่ร่วมสำนักกับท่านประพฤติผิดธรรมวินัยในข้อวัตรปฏิบัติแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม ท่านสามารถรู้ได้ด้วยญาณของท่าน ทั้ง ๆ ที่ท่านก็ไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นแต่ประการใด อาทิเช่น ครั้งหนึ่งเวลาบ่ายสามเณรทั้งหลายได้จัดน้ำปานะ (อัฏฐบาล) ถวายพระเวลาที่พระทั้งหลายกำลังดื่มอยู่นั้น ขณะนั้นท่านหนูใหญ่กำลังทำสมาธิอยู่ในความสงบ ได้เห็นพระเหล่านั้นในญาณของท่านว่า กำลังฉันน้ำปานะกันอยู่ท่านจึงไปที่ท่ามกลางหมู่คณะนั้นและกล่าวว่า พวกเรากำลังฉันสิ่งของที่เจือด้วยอนามิสแน่ เพราะมันไม่บริสุทธิ์ ซึ่งพระภิกษุสามเณรทั้งหลายกำลังฉันน้ำปานะกันอยู่พากันสงสัยและสามเณรผู้ทำก็ยืนยันว่าบริสุทธิ์ไม่มีอะไรเพราะทำมากับมือ แต่ท่านหนูใหญ่ก็ยืนยันว่าไม่บริสุทธิ์แน่ จึงได้มีการตรวจค้นกันขึ้น ได้พบเมล็ด
ข้าวสุกติดอยู่ที่ก้นภาชนะนั้นจริง ๆ เพราะเหตุนั้นหมู่คณะทั้งหลายจึงเกรงขามท่านมาก เพราะเมื่ออยู่ใกล้ ๆ กับท่านแล้วต้องระวังความนึกคิดเป็นเหตุให้เกิดสติสัมปชัญญะขึ้นมาก แต่เมื่อท่านหนูใหญ่ไม่ได้หมั่นบำเพ็ญสมณธรรม ทำตัวอยู่ห่างจากท่านอาจารย์มั่นมากขึ้นเป็นสำคัญในที่สุดก็เสื่อมจากคุณอันนั้น จนสึกออกไปเป็นฆราวาส อยู่ใต้อำนาจของกิเลสต่อไป ท่านอาจารย์มั่นบอกว่า "ผู้ที่ได้ญาณนี้แล้ว ถ้าเป็นเช่นนี้ย่อมเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งทีเดียวเพราะเท่ากับคนได้สมบัติมหาศาลแล้วรักษาสมบัติไม่ได้หรือใช้สมบัติไม่เป็น ไม่ได้ประโยชน์จากสมบัตินั้น ผู้ที่ได้ญาณก็กว่าจะทำขึ้นมาได้แสนยากลำบากนัก แต่เมื่อได้มาแล้วไม่รู้จักรักษาและไม่รู้จักทำให้มันเป็นประโยชน์ ถึงเป็นสิ่งที่นักปฏิบัติทั้งหลายควรสังวรณ์เป็นอย่างยิ่ง สำหรับเรื่องญาณหรือความสงบ ถ้าหากไปหลงมันเข้าปล่อยให้มันเกิดแต่ความสงบอย่างเดียวย่อมไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร เพราะญาณนั้นเป็นที่สบายอย่างยิ่งและน่าอยู่ มันทำให้เกิดความสุขอย่างน่าพิศวง และที่น่าติดอยู่ของหมู่โยคาวจรทั้งหลายจริง ๆ มิหนำซ้ำบางทีท่านก็หลงไปถึงกับว่าที่นี่เป็นที่หมดไปจากกิเลส อันที่จริงแล้วที่นี่เองจำเป็นต้องแก้ไขตัวของตัวเองอย่างหนักเหมือน กันกับคนที่กำลังนั่งนอนสบาย และจะให้ทำงานหนักก็จำเป็นต้องทั้งบังคับทั้งปลอบ ท่านอาจารย์มั่น ชี้ตัวอย่าง ท่านอาจารย์เทสก์ เทสรังสี (พระนิโรธรงฺสี) ว่าท่านเทสก์นี้ได้ติดอยู่ในญาณนี้นานยิ่งกว่าใคร ๆ ในระยะที่ท่านเทสก์หลงอยู่ในญาณนั้น เราได้พยายามแก้ไขอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้คลายจาก ความเป็นเช่นนั้น กว่าจะได้ผลต้องใช้เวลาถึง ๑๒ ปี ครั้นเมื่อท่านอาจารย์เทสก์แก้ไขตัวของท่าน ได้แล้ว ถึงกับอุทานว่าเราหลงไปถึง ๑๒ ปี ถ้าไม่ได้ท่านอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิแก้ไขเราแล้วก็จะต้องติดไปจนตาย" ท่านอาจารย์มั่น ได้เน้นหนักว่า การแก้ไขสิ่งของที่ดีที่เกิดขึ้นนี้ลำบากกว่าแก้สิ่งของไม่ดี เพราะความไม่ดีรู้กันในหมู่ผู้หวังดี หาทางแก้ไขได้ง่าย ส่วนความดีที่ต้องติดดีนี่แก้ไขยาก ผู้ติดดีจึงต้องใช้ความพยายามหลายอย่างเพราะชั้นนี้มันเป็นขั้นปัญญา
เนื่องจากการเกิดขึ้นภายในนั้นมีพร้อมทั้งเหตุและผล จนทำให้เชื่อเอาจนได้ แม้แต่วิปัสสนาซึ่งก็เป็นทางไปสู่อริยสัจจ์อยู่แล้ว แต่ผู้ดำเนินไม่มีความรอบรู้พอ ก็กลับกลายเป็นวิปัสสนูปกิเลสไปได้ วิปัสสนูปกิเลส คือ ๑. โอภาส เมื่อจิตมีความสงบเป็นสมาธิแล้วจะเกิดความสว่างในทางใจ ความสว่างนี้จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับนิสัยของแต่ละคนไม่เหมือน กัน เมื่อความสว่างนี้เกิดขึ้นกับตัวเองเมื่อไร ให้รีบไปหาครูอาจารย์ช่วยแนะ วิธีแก้ไข ครูอาจารย์นั้นต้องมีความรอบรู้ในวิธีทำสมาธิเป็นอย่างดี จึงจะช่วย แก้ไขให้ได้ ถ้าครูอาจารย์ไม่มีความรู้ในทางนี้ ก็จะส่งเสริมตอกย้ำให้ทำในวิธี นี้ต่อไป ผู้ได้รับผลที่ผิด ๆ ก็ตกอยู่กับผู้ทำสมาธิเอง ๒. ปีติ ผู้ทำสมาธิจะมีความเอิบอิ่มใจเป็นอย่างมากมีความเบิกบานใจอยู่ ตลอดเวลา จะยืนเดินนั่งนอนอยู่ในอิริยาบถไหนใจจะมีความเอิบอิ่มอยู่ตลอด ทั้งวันทั้งคืน ในช่วงนั้นมีแต่เฝ้าดูจิตที่มีความเอิบอิ่มอยู่เป็นนิจ ความคิดทาง สติปัญญาจะพิจารณาในเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็หมดสภาพไป ใจมีแต่ ความเพลิดเพลินอยู่กับปีตินั้น ๆ ๓. ปัสสัทธิ ความสงบใจที่เป็นผลจากการทำสมาธิจะมีความสงบเป็นอย่างมาก จะมีความแน่วแน่มั่นคงอย่างแนบแน่นทีเดียว ใจไม่คิดวอกแวกแส่ส่ายไปตามอารมณ์แต่อย่างใด จะเป็นอารมณ์แห่งความรักหรืออารมณ์แห่งความชัง เนื่องจากสาเหตุอันใดก็ตามไม่มีความอยากคิดในเรื่องอะไรทั้งนั้น จะยืนเดินนั่งนอนอยู่ในที่ไหนมีแต่ความสงบใจอยู่ตลอดเวลา นี้ก็เป็นโมหสมาธิหลงอยู่ในความสุขจนลืมตัวไม่อยากคิดพิจารณาให้เป็นไปในการเจริญทางสติปัญญาแต่อย่างใด เพราะกลัวว่าใจจะเกิดความฟุ้งซ่าน มีแต่ใช้สติระลึกรู้อยู่ในอารมณ์แห่งความสงบนั้น ๆ จึงเป็นสมาธิที่โง่เขลาหาความฉลาดไม่ได้เลย ๔. สุขะ เมื่อจิตมีความสงบดีแล้วย่อมเกิดความสุขภายในใจเป็นอย่างมาก จะยืนเดินนั่งนอนอยู่ในที่ไหน ใจจะมีแต่ความสุขนี้อยู่เป็นคู่ของใจตลอดไปไม่อยากให้เสื่อมคลาย นี้เองผู้ปฏิบัติในยุคนี้จึงมีความต้องการภาวนาหาความสุขใจเพียงเท่านั้นที่สอนกันว่าทำสมาธิเพื่อให้เกิดความสุขภายในใจ ถ้าปัญญาไม่มีก็จะหลงความสุขได้
๕. ญาณะ เมื่อจิตมีความสงบเป็นสมาธิได้แล้วย่อมมีความรู้เกิดขึ้น ความรู้ที่เกิดขึ้นนี้เองจะทำให้เกิดความหลงผิดไปได้ง่าย จะตีความหมายไปว่าปัญญาณาณได้เกิดขึ้นกับตัวเองแล้ว อยากรู้เรื่องอะไรอยากรู้ในธรรมหมวดไหนก็กำหนดถามลงไปที่ใจก็จะมีความรู้ตอบขึ้นมาในหมวดธรรมนั้น ๆ จะเข้าใจไปว่าคุณธรรมได้เกิดขึ้นกับตัวเองแล้ว อยากรู้ว่าเราอยู่ในคุณธรรมระดับไหน ก็จะมีความรู้บอกขึ้นมาว่า เป็นคุณธรรมของพระอริยโสดาบันบ้าง เป็นคุณธรรมของพระสกิทาคามีบ้าง เป็นคุณธรรมของพระอนาคามีบ้าง เป็นคุณธรรมของพระอรหันต์บ้าง จึงได้เกิดความเชื่อมั่นในความรู้ที่เกิดขึ้นว่าเป็นของจริงที่ฝังใจอย่างสนิททีเดียว ใครจะมาว่ามีความสำคัญผิดก็จะยืนยันว่าเรามีญาณรู้ที่ถูกต้องและมีความเชื่อมั่นว่าตัวเองได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าจริง ถ้าเป็นในลักษณะนี้จึงยากที่จะแก้ไข ๖. อธิโมกข์ น้อมใจเชื่อว่าเป็นของจริงอย่างฝังใจทีเดียว เข้าใจว่าเรามีดวงตาเห็นธรรม ก็เพราะมีญาณรู้ที่เกิดขึ้นจากสมาธิความสงบเป็นต้นเหตุนั่นเอง มีความเชื่อมั่นในความรู้ของตัวเองสูงมาก ให้ความสำคัญตัวเองว่า พุทโธ รู้ตื่นเบิกบานได้เกิดขึ้นกับตัวเองแล้ว ถ้ามีอภิญญาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นก็จะเกิดความเชื่อมั่นเพิ่มทิฏฐิมานะอัตตาจนลืมตัว ถ้าพระเป็นในลักษณะนี้ก็จะได้รับพยากรณ์จากลูกศิษย์ว่าอาจารย์ของเราได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ทันที ๗. ปัคคาหะ มีความเพียรที่เข้มแข็งเป็นอย่างมาก ความเพียรนั้นจะมุ่งทำสมาธิมีความสงบเพียงอย่างเดียว จะไปที่ไหนอยู่ในที่ใดจะปรารภความเพียรทำสมาธิอยู่เสมอจะอยู่เฉพาะตัวหรือในสังคมใดจะอยู่ในความสำรวมผิดปกติ จะอยู่แบบนิ่งเฉยไม่อยากจะพูดคุยกับใคร ๆ ผู้ที่ไม่เข้าใจก็คิดว่าเป็นผู้ปฏิบัติที่เคร่งครัดมาก หรือลืมตาก็จะอยู่ในท่าเงียบขรึมซึมเซ่อเหม่อลอย ไม่ชอบอยู่ในสังคมอยากจะอยู่เป็นเอกเทศเฉพาะตัวไม่มีความฉลาดรอบรู้ในทางปัญญาแต่อย่างใด จึงเรียกว่า มิจฉาวายามะ เป็นความผิดไม่ถูกต้องชอบธรรมแต่อย่างใด ๘. อุปัฏฐาน มีสติระลึกรู้ในอารมณ์ภายในใจได้ดีมาก แต่เป็นเพียงสติสมาธิเท่านั้นส่วนสติปัญญาจะไม่มีกับผู้เป็นในลักษณะนี้แต่อย่างใด ถ้าอารมณ์ของใจเปลี่ยนไปตาม เหตุปัจจัยอย่างไร ก็จะมีสติระลึกรู้ไปตามอารมณ์ประเภทนั้น ๆ
ไม่ชอบพิจารณาในทาง สติปัญญาแต่อย่างใด ไม่สนใจพิจารณาในเรื่องที่เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ถึงจะพูดธรรมะได้ก็พูดไปตามตำราที่ได้ศึกษามาเท่านั้น จึงเรียกว่า มิจฉาสติระลึกรู้ในสิ่งใดจะไม่เป็นไปในความถูกต้องชอบธรรมแต่อย่างใด ๙. อุเบกขา ความวางเฉยในทางใจได้ดีมาก ใจไม่รับในอารมณ์ที่ชอบใจและไม่ชอบใจอะไรที่มาสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันเป็นสิ่งที่จะให้เกิดขึ้นความรักความชังใจจะวางเฉยอยู่ตลอดเวลา เมื่อใจลงสู่อุเบกขาความวางเฉยที่มั่นคงแล้ว จะไม่ทำให้เกิดความรู้สึกในอารมณ์ ไม่มีความเอาใจใส่ในส่งใด ๆ ทั้งสิ้น เมื่อเป็นอย่างนี้จะทำสมาธิได้ง่าย แต่ก็จะเป็นมิจฉาสมาธิ ความตั้งใจมั่นผิดต่อไป จึงยากที่จะแก้ไขหรือแก้ไขไม่ได้เลย ๑๐. นิกันติ มีความยินดีพอใจในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด ยอมรับผลที่เกิดขึ้นว่าเป็นของจริงมีความเชื่อว่าเป็นแนวทางที่จะทำให้ถึงซึ่งมรรคผลนิพพานได้แน่นอนใครจะมาว่าภาวนาผิดอย่างไรก็มีความมั่นใจในตัวเองว่าภาวนาถูกต่อไป และยังไปตำหนิผู้อื่นว่าภาวนาไม่เก่งเหมือนเรา ถึงครูอาจารย์องค์ที่มีความฉลาดรอบรู้เข้ามาช่วยเหลือก็สายไปเสียแล้ว ชีวิตได้ทุ่มเทในการทำสมาธิอย่างจริงจัง ก็มาพังเพราะวิปัสสนูปกิเลสที่เกิดขึ้นนี้เอง มรรคผลไม่พ้นสมัย พ.ศ.๒๔๖๓ ท่านอาจารย์มั่น ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย จะเห็นว่าท่านจะอยู่ไม่ประจำที่ จะท่องธุดงค์ไปเรื่อย ๆ ลูกศิษย์ลูกหาผู้หวังความเจริญในทางธรรม จึงติดตามท่านไปเรื่อย ๆ เพื่อจะได้เรียนรู้ธรรมและปฏิบัติธรรมให้สูงขึ้น ก่อนนี้การศึกษาธรรมปฏิบัติธรรม เป็นเรื่องคร่ำครึล้าสมัย แต่ท่านอาจารย์มั่นได้ปฏิบัติให้ดูอยู่กับธรรมอย่างเป็นสุขให้เห็น จนความรู้สึกแง่ลบของผู้คนค่อยจางไป พุทธบริษัทกล่าวว่า มรรค ผล นิพพาน มันล้าสมัย จึงไม่สนใจต่อการปฏิบัติธรรม ไม่ว่าพระภิกษุ สามเณร หรืออุบาสกอุบาสิกาพากันเหินห่างจากธรรม
แต่เมื่อได้มีผู้ปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจังจนได้บรรลุมรรค ผล นิพพานได้ รับผลแห่งความเย็นอกเย็นใจ ทั้งพระภิกษุและฆราวาสทุกท่านได้ประจักษ์แก่ใจตน ความเชื่อผิด ๆ ที่ว่ามรรค ผล นิพพาน พ้นสมัยแล้วนั้น เป็นอันถูกลบไป ที่ท่าบ่อนี้ ต่อมาได้กลายมาเป็นวัดป่า อันเป็นสถานที่บำเพ็ญกัมมัฏฐานอย่างสำคัญ ชื่อว่า อรัญญวาสี มีพระอาจารย์หลายท่าน ได้มาเห็นสถานที่นี้และชมว่าเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม ทั้งตัวท่านเอง ก็ได้รับประโยชน์มาแล้วด้วย ให้เลิกนับถือผี พระธุดงค์ไม่ติดที่อยู่ นิยมจาริกไปเรื่อย ๆ ในปี พ.ศ.๒๔๖๔ ท่านอาจารย์มั่นก็ได้จำพรรษาอยู่ กับพระภิกษุสามเณร ๑๐ รูป รวมทั้งอาจารย์มั่นด้วยเป็น ๑๑ รูป ที่ป่าแห่งหนึ่ง ในที่อันไม่ไกลจาก บ้านห้วยทราย จังหวัดนครพนม ที่บ้านห้วยทรายนี้ ท่านได้แก้ความเห็นผิดของชาวบ้าน เกี่ยวกับเรื่องการนับถือผีสาง ให้หันมา นับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะพระรัตนตรัย ๓ ประการนี้ เป็นที่พึ่งอันปลอดภัย พึ่งได้อย่างแท้จริง ได้สอนชาวบ้านให้ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะเสียใหม่ ทั้งได้ฝึกอบรมในเรื่องของการเจริญกัมมัฏฐานด้วย ตลอดเวลาที่พักอยู่ที่นี่ ๑๐ เดือน ก็ปรากฏว่าได้ผลน่าพึงพอใจ ออกจากบ้านห้วยทรายแล้ว ท่านอาจารย์มั่นได้ไปนมัสการท่านอาจารย์เสาร์ที่ถ้ำภูผากุด แล้วได้ร่วมเดินธุดงค์ด้วยกันไปหลายที่หลายแห่ง ระหว่างทางได้สั่งสอนประชาชน ให้รู้จักนับถือพระรัตนตรัย เพราะผู้คนส่วนใหญ่นับถือผีกันเป็นพื้นในปีนั้น ท่านอาจารย์มั่นได้มอบศิษย์ทั้งหมดให้อยู่ในความปกครองของพระอาจารย์สิงห์ขันตยาคโม ปรับปรุงระเบียบคำสอน พ.ศ.๒๔๖๕ พระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น พร้อมทั้งศิษย์ของท่านอาจารย์ทั้งสองรุ่นแรก และผู้เข้ามาฝึกหัดใหม่จำนวนมากได้จำพรรษาอยู่ที่บ้านหนอง
ลาด อำเภอสว่างดินแดน จังหวัดสกลนคร ท่านอาจารย์ได้ทำการสั่งสอนในเรื่องการปฏิบัติธรรม มาถึงปีนี้ก็เป็นเวลา ๗ ปีแล้ว ยังไม่ได้มีการปรับปรุงการฝึกธรรมเลย สมควรจะได้มีการแก้ไขให้เหมาะสม เพื่อประโยชน์แก่การเข้าถึงธรรม ท่านอาจารย์เสาร์ได้มอบให้อาจารย์มั่นเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องการวางแผน เป็นแผนที่เมื่อปฏิบัติแล้วจะต้องได้ผลหากเอาจริง และข้อสำคัญจะต้องทำให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว ไม่ใช่ปฏิบัติกันไปคนละทิศละทาง ท่านอาจารย์มั่นได้ยืนยันถึงการปฏิบัติตามอริยสัจธรรม จึงได้ผลอย่างแน่นอน เพราะท่านได้ทำมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพิจารณากายของเรานี้ เป็นหลักสำคัญนัก ขอให้หมั่นเพียรกระทำกัน ให้ศิษย์ทุกคนดำเนินตามนี้เพราะพระพุทธองค์และพระอริยสาวกในอดีตกาล ก็ผ่านการพิจารณากายมาเหมือนกัน ท่านเน้นย้ำแล้วย้ำอีกด้วยกลัวศิษย์ไขว้เขว ไม่เข้าใจ เพราะวันหนึ่งท่านเกิดนิมิตฝันว่า "ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า เราได้พาพระภิกษุสามเณรเป็นจำนวนมาก เข้าไปบิณฑบาตในละแวกบ้านขณะนั้นก็ได้เกิดนิมิตในสมาธิเป็นที่น่าประหลาดใจขึ้น คือ พระภิกษุสามเณรที่ตามเราดี ๆ ก็เกิดมีพวก หนึ่งแซงซ้ายบ้าง ขวาบ้าง ขึ้นหน้าเราไป บางพวกก็เลยเดินออกไปนอกทางเสีย และก็มีอีกพวกหนึ่งที่เดินตามเราไป" ได้เล่าความฝันนี้ให้ศิษย์ฟัง พร้อมทั้งอธิบายว่า "ที่มีพวกภิกษุสามเณรแซงท่านขึ้นไปข้างหน้านั้น คือบางพวกจะพากันอวดตัวว่าเก่งว่าดีแล้ว ก็จะละจากข้อปฏิบัติที่เราได้พากันดำเนิน ครั้นแล้วก็จะเกิดความเสื่อมเสียไม่ได้ผลตามที่เคยได้ผลแล้วซึ่งเขาเหล่านั้นก็จะมาอ้างเอาว่าเป็นศิษย์ของเรา แต่ที่ไหนได้พากันหลีกเลี่ยงการปฏิบัติต่าง ๆ ที่เรากำหนดให้ไว้ ที่สุดแม้แต่สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นสีจีวรเป็นต้น การจะปฏิบัติเพื่อการพิจารณากายอันนับเนื่องด้วยอริยสัจธรรมก็ยิ่งห่างไกล
จำพวกหนึ่งเดินออกนอกทาง คือจำพวกนี้เพียงแต่ได้ยินกิตติศัพท์เราแล้วก็อ้างเอาว่าเป็นศิษย์ บางทีจะยังไม่เคยเห็นหน้าเราเสียด้วยซ้ำและก็หาได้รู้อุบายแยบคายในการปฏิบัติแต่อย่างใดไม่หรือพวกที่เคยอยู่กับเรามา แต่เมื่ออยู่กับเราก็คงเคร่งครัดเพราะกลัว แต่พอออกจากเราไปแล้วก็ไม่นำพาในข้อธรรมและการปฏิบัติของเรา เพียงแต่มีชื่อว่าเป็นศิษย์ของอาจารย์มั่นเท่านั้น แต่ไม่มีข้อปฏิบัติอันใดที่จะถือได้ว่าเป็นแนวทางเป็นตัวอย่างอันนำมาจากเราเลย จำพวกหนึ่งที่เดินตามหลังเราไปนั้น จำพวกนี้เป็นผู้ดำเนินตามคำแนะนำของเราทั้งภายนอกและภายใน เป็นผู้ใคร่ต่อธรรม ต้องการพ้นทุกข์ในวัฏฏสงสาร พยายามศึกษาหาความรู้ทุก ๆ ประการที่มีความสนใจต่อหน้าหรือลับหลังก็เหมือนกัน รับข้อปฏิบัติแม้เล็กน้อย รักษาไว้ด้วยชีวิตจิตใจเพราะจำพวกนี้ได้รับผลแห่งการปฏิบัติมากับเราแล้ว เกิดผลอันละเอียดอ่อน จากข้อวัตรปฏิบัติ เหล่านี้ก็เป็นที่แน่นอนว่าจะแปรผันเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ พวกที่ออกนอกลู่นอกทางนั้นคือ ไม่ได้รับ ผลอย่างจริงจังจากการปฏิบัติอยู่กับเรา เพราะเหตุที่ไม่ได้ผลจริงนั่นเอง ทำให้เกิดความลังเล ไม่แน่ใจแต่พวกที่เดินตามเรา ย่อมได้รับความเจริญ" ท่านกล่าวว่า "ธรรมปฏิบัติที่ท่านได้อุตส่าห์ลงทุนลงแรงพากเพียรพยายามทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จนบังเกิดผลมหาศาลจะพึงอยู่นานได้เพียงนั้นก็แล้วแต่ศิษย์ทั้งหลายจะพากันมีสติหรือพากเพียรเพื่อให้เกิดผลจริงจัง จะรักษาการปฏิบัติเหล่านี้ได้ ถ้าใครจักพึงกล่าวว่าเป็นศิษย์ท่านอาจารย์มั่น เขาก็จะได้รักษาไว้ซึ่งข้อวัตรปฏิบัติของท่านอาจารย์มั่น ผลลัพธ์ที่จะได้ก็จะได้สมจริง" วาทะข้างต้นท่านได้กล่าวสอนศิษย์ที่เป็นพระภิกษุสามเณร ส่วนศิษย์ที่เป็นฆราวาส ท่านสอนเน้น หนักในด้านศรัทธา ความเชื่อ ให้รู้จักเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ ไม่ใช่เชื่อง่ายงมงายไปหมด ท่านสอนให้ศิษย์ฆราวาสเลิกนับถือในสิ่งผิด ๆ เรื่องภูติผีปีศาจ ศาลเจ้าที่เจ้าทาง เข้าทรง การนับ-ถือเลื่อมใสในสิ่งเหล่านี้ เป็นความเสียหาย มันผิดคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นความงมงาย ผู้เป็นพุทธบริษัทไม่ควรนับถือสิ่งเหล่านี้
"อันที่จริงการนับถืองมงายนี้เกิดจากการไม่เข้าใจถ่องแท้ในพระพุทธศาสนา หรือขาดการศึกษาอย่างแท้จริงในพระพุทธศาสนานั่นเอง ยิ่งชาวชนบทห่างไกลความเจริญแล้ว ก็ยิ่งมีแต่เชื่องมงายกับสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน จึงเป็นสิ่งที่แก้ยากมากทีเดียว ไม่ต้องพูดถึงว่าชาวชนบทจะพากัน หลงงมงายหรอก แม้แต่ชาวเมืองหลวงอย่างในกรุงเทพฯ ก็ตาม ยังพากันหลงงมงายในสิ่งเหล่านั้นมาก เช่นเจ้าพ่อนั้นเจ้าแม่นี้ บางแห่งพากันสร้างเป็นเทวสถานแล้วก็ไปบูชาถือเอาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปก็มีมากมาย" ท่านอาจารย์มั่นถือว่า เรื่องเหล่านี้สำคัญมาก เพราะเป็นตัวขวางกั้นไม่ให้เข้าสู่ความเป็นอริยะ ผู้ยึดติดสิ่งเหล่านี้จะจมดิ่มอยู่กับความงมงาย ไม่สามารถพ้นทุกข์ได้ ในปีนี้ท่านได้แนะนำแก่พระภิกษุแทบจะถือได้ว่าล้วนแต่หัวหน้าทั้งนั้น จึงเท่ากับท่านได้แนะแนวสำคัญให้แก่บรรดาศิษย์โดยแท้ หลังจากท่านอาจารย์มั่นได้ธุดงค์ไปจังหวัดเชียงใหม่แล้ว มอบศิษย์ทั้งหลายให้แก่ท่านอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ซึ่งศิษย์เหล่านี้เป็นศิษย์ชั้นหัวกะทิทั้งนั้น จึงเป็นกำลังให้ท่าน อาจารย์สิงห์ในการที่จะปราบพวกนับถือผิดมีภูติผีได้เป็นอย่างดี บ้านหนองบัวลำภู พ.ศ.๒๔๖๖ ท่านอาจารย์มั่นได้จำพรรษาอยู่ที่บ้านหนองบัวลำภู อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี ปีนี้เป็นปีที่แปดแห่งการแนะนำการปฏิบัติซึ่งก็ปรากฏว่าได้ผลดีมาก อาจารย์มั่นท่านเลือกสอนคน เมื่อตรวจดูอุปนิสัยว่า จะสามารถปฏิบัติธรรมได้ท่านก็จะสอนเลย แต่ถ้าอุปนิสัยยังหยาบกร้านสันดาน เลวท่านก็ไม่เสียเวลาสอน โดยปกติท่านใช้เวลาในการสั่งสอนพระภิกษุสามเณรมากกว่า เพราะถ้าสอนพระภิกษุสามเณรจนได้ผลดีแล้ว พระภิกษุสามเณรแม้รูปเดียว ก็จะสามารถสอนฆราวาสได้เป็นร้อยคนพันคน ก่อนจะเข้าพรรษาในปีนี้ ได้มีพระอาจารย์หลายท่าน เช่น อาจารย์กู่ , อาจารย์เทสก์ เทสรังสีได้อยู่ร่วมที่บ้านหนองบัวลำภูนี้ด้วย เพื่อการปฏิบัติให้ลึกซึ้งถึง
แก่นมากขึ้น ท่านอาจารย์มั่นได้มีการสอบสวนถึงภูมิจิตด้วย เมื่อมีพระภิกษุสามเณรใหม่เข้ามาสู่คณะ ก็จะไต่ถามแบบเป็นกันเองและแนะนำกันโดยพระอาจารย์มั่นจะไม่เข้ามายุ่งในจุดนี้ปล่อยให้ทำกันเอง เพราะท่านแก่แล้ว ยิ่งเมื่อท่านอายุได้ ๗๐ กว่าปีแล้ว ท่านถึงกับไม่สอนเลยในเบื้องต้น ผู้ใดมาใหม่ท่านก็มอบให้พระมหาเขียน (เจ้าคุณอริยเวที) และท่านมหาบัว ญาณสัมปันโน สั่งสอนอบรมแทน ศิษย์ชั้นแนวหน้าจะต้องรับภาระแทนอาจารย์มั่น ช่วยสอนช่วยแนะนำการปฏิบัติแก่ผู้ยังใหม่อยู่ เพราะชื่อเสียงของท่านอาจารย์โด่งดังไปไกล จึงมีผู้มาศึกษากับท่านอยู่ ปฏิบัติกับท่านเป็นจำนวนมาก และท่านเองนำหมู่คณะปฏิบัติอย่างดียิ่ง ท่านอาจารย์วิริยังค์ ศิษย์ของท่านอาจารย์มั่น ได้เล่าว่า "ขณะที่พักปฏิบัติธรรมร่วมอยู่กับท่านนั้น ท่านได้บำเพ็ญเองจะมีการประมาทไม่ได้ ต้องพยายามอย่างเต็มความสามารถของแต่ละบุคคล ถ้าผู้ใดประมาทหรือไม่พยายามเพื่อการปฏิบัติอย่างจริงจังแล้วท่านจะต้องทราบในญาณของท่านทันที ท่านก็จะเตือนในขั้นแรก เมื่อผู้นั้นเชื่อก็ดีไป แต่ถ้าไม่เชื่อท่านจะตักเตือนเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อผู้นั้นเชื่อก็ดีไป ถ้าไม่เชื่อท่านจะตักเตือนเป็นครั้งที่ ๓ ครั้งนี้ถ้าไม่เชื่อท่านก็ไล่ออกไม่ให้อยู่ต่อไป ฉะนั้นถ้าหากองค์ใดสามารถอยู่กับท่านได้เป็นเวลานานพอสมควร ก็จะต้องได้ผลสมความตั้งใจแน่นอน เพราะนโยบายและอุบายฝึกหัดของท่านนั้นมีเพียบพร้อม พร้อมที่จะแนะนำให้แก่ศิษย์ทุก ๆองค์ที่มีนิสัยเป็นประการใด ท่านก็แสดงธรรม หรืออบรมตามที่มีนิสัยวาสนามาอย่างไร จึงทำให้ได้ผลอย่างมหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง ในข้อนี้ผู้ที่เคยไปอยู่ศึกษามากับท่านแล้วจะทราบได้ดีด้วยตนเอง" "การปฏิบัติอันเป็นวัตรที่ท่านอาจารย์มั่น พาศิษย์ของท่านปฏิบัตินั้นออกจะแปลกกว่าบรรดาพระปฏิบัติหรือพระอื่น ๆ ในสมัยนั้นมาก เช่นการฉันหนเดียว การฉันในบาตร เป็นต้น เฉพาะการฉันในบาตรนี้ เวลาไปในบ้านหรือเขานิมนต์ให้ไปฉันในบ้านต้องเอาบาตรไปด้วย เขาจัดสำรับคาวหวานอย่างเป็นระเบียบ
เรียบร้อยดี ท่านก็เอาเข้าใส่บาตรหมดด้วย เหตุที่ท่านได้นำมาปฏิบัติเช่นนี้ ศิษย์ผู้หวังดีและใคร่ในธรรมกับได้ผลการปฏิบัติมาแล้ว ก็ต้องรักษาข้อปฏิบัติเหล่านี้" ท่านพระครูปลัดอ่อนตา ท่านมีความเลื่อมใสท่านอาจารย์มั่นเป็นอย่างยิ่งและสนใจต่อข้อปฏิบัติของท่านอาจารย์มั่นยิ่งนัก แต่เนื่องด้วยท่านพระครูรูปนี้ท่านมีนิสัยสนใจมานานแล้ว เมื่อมาได้รับการศึกษาเพิ่มเติมเข้ายิ่งทำให้ท่านได้มีความเลื่อมใสต่อข้อปฏิบัติภิญโญยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก แต่การปฏิบัติดังที่ได้ปฏิบัติตามแนวพระอาจารย์มั่นซึ่งเป็นไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นย่อมเป็นการขัดข้องต่อบุคคลบางคนเป็นธรรมดา เพราะบางคนหาว่ารุ่มร่าม หาว่าอวดเคร่งในท่ามกลางชุมนุมชน หาว่าไม่รู้กาละเทศะ หาว่าคร่ำครึ หาว่าเป็นคนล้าสมัย พากันว่ากันไปต่าง ๆ นานาท่านพระครูจึงได้นำข้อครหาเหล่านี้เข้ากราบเรียนต่อท่านอาจารย์มั่นว่า "พวกเราปฏิบัติตรงต่อพระธรรม วินัยทุกประการ ย่อมเป็นการขัดข้องเขาหาว่าเราปฏิบัติเคร่งครัดเกินไป ไม่รู้จักกาละเทศะคร่ำครึไม่ทันการทันสมัย" ท่านอาจารย์มั่นตอบว่า "พวกเราผู้ปฏิบัติพระธรรมวินัยนั้น จะถือเอาชาวบ้านนักบวชผู้นอกรีตเป็นศาสดา หรือจะถือเอาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของพวกเรา ถ้าจะถือเอาพระสัมมาสัม-พุทธเจ้าเป็นศาสดาของตนก็ต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่พระองค์เจ้าทรงบัญญัติไว้แล้วทุกประการหรือถ้าต้องการเอาผู้อื่นนอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา ก็จงปฏิบัติตามผู้นั้นไป" พระครูปลัดอ่อนฟังคำอธิบายจากท่านอาจารย์มั่น ทำให้อาจหาญยิ่งขึ้นในการปฏิบัติธรรม ท่านพระครูได้ธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร เพื่อหาที่สงบเข้าสมาธิวิปัสสนา พระครูปลัดอ่อนตา ท่านเป็นพระมหานิกาย ต่อมาจึงเปลี่ยนนิกายมาเป็นธรรมยุติเพื่อจะได้ใกล้ชิดกับพระอาจารย์มั่นมากยิ่งขึ้น และท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดโยธานิมิตซึ่งพวกทหารและชาวบ้านสร้างถวาย

ความรัก

ความรัก ตัดตอนมาจาก ปฏิปัตติวิภังค์ จากหนังสือ ธัมมานุธัมมปฏิบัติ โดย พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร จัดพิมพ์โดย ชมรมพุทธศาสน์ การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย
โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 006301 - โดยคุณ สี่ปอ [ 7 ก.ย. 2545]
เนื้อความ :
หมายเหตุ ตัดตอนมาจาก ปฏิปัตติวิภังค์ จากหนังสือ ธัมมานุธัมมปฏิบัติ โดย พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร จัดพิมพ์โดย ชมรมพุทธศาสน์ การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย
ถาม เมตตา กรุณา กับรัก นั้นเหมือนกันหรือต่างกัน
ตอบ ต่างกันมาก อย่างละอริยสัจทีเดียว ความรักนั้นเป็นสมุทัย เมตตานั้นเป็นมรรค
ถาม เช่นรักบุตรหลาน ญาติมิตร คิดให้เป็นสุขและให้พ้นทุกข์หรือสงสารจะว่าเป็นสมุทัยได้อย่างไร รู้สึกรสชาติของใจประกอบด้วยความเอ็นดูปราณี
ตอบ ความรักและความสงสารบุตรหลานญาติมิตร ประกอบด้วยฉันทราคะอาลัยห่วงใยกังวลพัวพันยึดถือ หนักใจไม่โปร่ง เมื่อคนรักเหล่านั้นวิบัติไป เช่น ตาย เป็นต้นก็เกิดทุกข์โทมนัสเศร้าโศกเสียใจอาลัยคิดถึง ถ้ารักมาก็โศกมาก สมด้วยพระพุทธสุภาษิตคาถาธรรมบทปิยวรรคที่ ๑๖ ว่า
เปมโต ชายเต โสโก ความโศกย่อมเกิดแต่ความรัก
เปมโต ชายเต ภยํ ภัยย่อมเกิดแต่ความรัก
เปมโต วิปฺปมุตฺตสฺส ความโศกไม่มีแก่ผู้พ้นแล้ว
นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ จากความรัก ภัยจะมีมาแต่ที่ไหน
เพราะฉะนั้น จึงผิดกับเมตตากรุณา ส่วนรักนั้นมีความชอบ และสงสารบุตรหลานญาติมิตร ไม่ทั่วไปในสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง เป็นแต่พรหมวิหาร ส่วนเมตตากรุณาที่เป็น
อัปปมัญญานั้นทั่วไปในสัตว์ไม่มีประมาณและไม่ประกอบด้วยความห่วงใยอาลัยพัวพันยึดถือ มีความโปร่งและเบาใจไม่หนัก มีจิตเย็นเป็นสุขและเป็นข้าศึกแก่พยาบาทโดยตรง และได้รับอานิสงส์ ๑๑ ประการด้วย ตามแบบที่ท่านแสดงไว้ในเมตตานิสังสสูตรว่า
๑. สขํ สุปติ หลับก็เป็นสุข
๒. สุขํ ปฏิพุชฺฌติ ตื่นก็เป็นสุข
๓. น ปาปกํ สุปินํ ปสฺสติ ย่อมไม่ฝันเห็นลามก
๔. มนิสฺสานํ ปิโย โหติ ย่อมเป็นที่ชอบใจของมนุษย์ทั้งหลาย
๕. อมนุสฺสานํ ปิโย โหติ ย่อมเป็นที่ชอบใจของอมนุษย์ทั้งหลาย
๖. เทวตา รกฺขนฺติ เทวดาทั้งหลายย่อมรักษา
๗. นาสฺส อคฺคิ วา วิสํ ไฟหรือยาพิษหรือศัสตรา
วา สตฺถํ วา กมต ย่อมไม่ต้องผู้เจริญเมตตานั้น
๘. ตุวฏํ จิตฺตํ สมาธิยติ จิตของผู้เจริญเมตตาย่อมมั่นเป็นสมาธิเร็ว
๙. มุขวณฺโณ วิปฺปสีทติ สีหน้าของผู้เจริญเมตตาย่อมผ่องใส
๑๐. อสมฺมูโฬฺห กาลํ กโรติ ย่อมไม่มีสติหลงตาย
๑๑. อุตฺตริ อปฺปฏิวิชฺณนฺโต เมื่อยังไม่สำเร็จพระอรหันต์อันยิ่ง
พฺรหฺมโลกุปฺโค โหติ ย่อมไปเกิดในพรหมโลก
ได้หยิบหนังสือที่ตีพิมพ์ธรรมที่หลวงปู่มั่นแสดงไว้มาอ่านอีกครั้ง ยังคงได้รับความร่มเย็น และเข้าใจธรรมที่ท่านแสดงมากขึ้น และส่วนที่ตัดตอนมานี้ เผอิญไปอ่านตอนที่มีคำถามนี้อยู่ในใจพอดี เลยคิดว่าน่าจะสามารถตอบคำถามเรื่องความรักได้ในระดับหนึ่ง เลยเอามาฝากค่ะ ^__^
จากคุณ : สี่ปอ [ 7 ก.ย. 2545]
จบกระทู้บริบูรณ์

ประวัติย่อ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต2

ปฏิบัติ จิตใจของท่าน ก็เป็นไปโดยสม่ำเสมอ ไม่นอกลู่นอกทาง ทำให้ผู้อื่นเสียหาย และริจะทำเพื่อความเด่นความดัง อะไรออกนอกลู่นอกทาง นั้นไม่มี เป็นแนวทางที่ราบรื่นดีงามมาก นี่ละเป็นที่นอนใจ เป็นที่ตายใจ ยึดถือไว้ได้ โดยไม่ต้องสงสัย ก็คือปฏิปทาเครื่องดำเนินของท่าน
นี่ครูบาอาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาของท่าน ก็มีจำนวนมาก พากันดำเนินมายึดถือหลักนั้นแหละ มาปฏิบัติได้แพร่หลาย หรือกระจายออกไปแก่บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายเป็นแขนงๆ หรือแผลงๆ อะไรออกไปให้เป็นที่สะดุดตา ไม่แน่ใจอย่างนี้ไม่มี ท่านดำเนินอะไรเป็นที่เหมาะสมทั้งนั้น คือมีแบบมีฉบับเป็นเครื่องยืนยันไม่ผิดเพี้ยนไปเลย นี่เพราะเหตุไร เพราะเบื้องต้นท่านก็ตะเกียกตะกายก็จริง แต่ตะเกียกตะกายตามหลักธรรมหลักวินัย ไม่ได้นอกเหนือไปจากหลักธรรมหลักวินัย หลักวินัยคือกฎของพระระเบียบของพระ ท่านตรงเป๋งเลย และหลักธรรมก็ยึดธุดงค์๑๓ ข้อนี้เป็นทางดำเนิน ไม่ได้ออกนอกลู่นอกทางนี้ไปอย่างทางอื่นบ้างเลย นี่จึงเป็นที่น่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งมาตั้งแต่ขั้นเริ่มแรกของท่าน ต่อจากนั้นท่านก็ปรากฏเห็นผลขึ้นมาโดยอันดับอำดา ดังเคยเขียนไว้แล้วในประวัติของท่านจนกระทั้งเป็นผู้ทรงมรรคทรงผลโดยสมบูรณ์ในหัวใจท่าน แล้วก็ประกาศสั่งสอนธรรมแก่บรรดาศิษย์ทั้งหลายพร้อมทั้งปฏิปทาเครื่องดำเนินด้วยความองอาจกล้าหาญ ไม่มีคำว่าสะทกสะท้านแม้นิดหนึ่งเลย นี่เพราะความแน่ใจในใจของท่านเอง ทั้งฝ่ายเหตุทั้งฝ่ายผล ท่านเป็นที่แน่ใจทั้งสองแล้ว พวกบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายที่เข้าไปศึกษาอบรมกับท่าน จึงได้หลักได้เกณฑ์จากความถูกต้องแม่นยำที่ท่านพาดำเนินมา มาเป็นเครื่องดำเนอนของตน แล้วถ่ายทอดไปโดยลำดับลำดา ไม่มีประมาณเฉพาะอย่างยิ่งภิกษุบริษัท มีกว้างขวางอยู่มากสำหรับลูกศิษย์ของพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นแตกกระจายออกไปการที่ได้ปฏิปทาเครื่องดำเนินจากท่านผู้รู้ผู้ฉลาดพาดำเนินมาแล้วเช่นนี้ เป็นสิ่งที่หาได้ยากมาก นี่ละเป็นที่ ให้ตายใจนอนใจ อุ่นใจได้ ผิดกับเราเรียนมาโดยลำพัง และปฏิบัติโดยลำพังเป็นไหนๆ ยกตัวอย่างไม่ต้องเอาที่อื่นไกลที่ไหนเลย ผมเองนี่แหละเรียน จะว่าอวดหรือไม่อวดก็ตามก็เรียนถึงมหา แต่เวลาจะหาหลักหาเกณฑ์มายึดเป็นเครื่องดำเนินด้วยความอุ่น
แน่ใจตายใจสำหรับตัวเอง ไม่มีจะว่ายังไงนั่น มันเป็นอย่างนั้น จิตเสาะแสวงหาแต่ครูอาจารย์อยู่ตลอดเวลาเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น..."
พระธรรมวิสุทธิมงคล(หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ( จากหนังสือ"หยดน้ำบนใบบัว")
"...ที่ผมได้ความรู้ความฉลาด จนได้มาแบ่งปันพวกท่านทั้งหลายนั้น ก็เพราะผมได้ ไปกราบครูบาอาจารย์มั่น...ไปพบท่าน แล้วก็เห็นสภาพวัดวาอารามของท่าน ถึงจะไม่สวยงาม แต่ก็ สะอาดมาก พระเณรตั้งห้าสิบหกสิบ เงียบ! ขนาดจะถากแก่นขนุน (แก่นขนุนใช้ต้มเคี่ยว สำหรับย้อมและซักจีวร) ก็ยังแบกเอาไปฟันอยู่โน้น.. ไกล ๆ โน้น เพราะกลัวว่าจะ ก่อกวนความสงบของหมู่เพื่อน... พอตักน้ำทำกิจอะไรเสร็จ ก็เข้าทางจงกรม ของใครของมัน ไม่ได้ยินเสียง อะไร นอกจากเสียงเท้าที่เดินเท่านั้นแหละ บางวันประมาณหนึ่งทุ่ม เราก็เข้าไปกราบท่านเพื่อฟังธรรม ได้เวลาพอ สมควรประมาณสี่ทุ่มหรือห้าทุ่มก้กลับกุฏิ เอาธรรมะ ที่ได้ฟังไปวิจัย... ไปพิจารณา เมื่อได้ฟังเทศน์ท่าน มันอิ่ม เดินจงกรมทำสมาธินี่... มันไม่เหน็ดไม่เหนื่อย มันมีกำลังมาก ออกจากที่ประชุมกันแล้วก็เงียบ! บางครั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน เพื่อนเขาเดิน จงกรมอยู่ตลอดคืนตลอดวัน จนได้ย่องไปดูว่าใครท่านผู้นั้นเป็นใคร ทำไมถึงเดิน ไม่หยุดไม่พัก นั่น... เพราะจิตใจมันมีกำลัง..."
พระโพธิญาณเถร ( หลวงปู่ชา สุภัทโธ ) วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี ( จากอัตตโนประวัติหลวงปู่ชา )
คัดลอกจาก : http://www.geocities.com/luangpumun/his4.html และ http://www.geocities.com/luangpumun/his5.html
หลวงปู่มั่น ภูริทัตตมหาเถระ (4)
บันทึกส่วนตัว หลวงปู่ อุ่น ชาคโร
คดลอกมาจากหนังสือ ชาคโรบูชา
โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 006500 - โดยคุณจากคุณ : (อิ_อิ) [ 23 ก.ย. 2545]
เนื้อความ :
หลังจากที่หลวงปู่อุ่น ได้มรณภาพแล้ว ทางพระเณรที่วัดป่าหนองคำ (ดอยบันไดสวรรค์) ได้พยายามรวบรวมสิ่งของและบริขารเครื่องใช้ต่าง ๆ ของหลวงปู่ที่เคยใช้ในช่วงมีชีวิตอยู่โดยเข้าไปจัดเก็บสิ่งของที่กุฏิหลวงปู่ และได้พบสมุดบันทึกส่วนตัวของหลวงปู่โดยบังเอิญซึ่งเป็นข้อมูลที่หลวงปู่ได้บันทึกเหตุการณ์ในช่วงที่อยู่กับ พระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตโต ทางลูกศิษย์ได้ร่วมกันหารือ แล้วว่าเห็นควรจัดพิมพ์ เพื่อให้เป็นประโยชน์กับลูกศิษย์และผู้สนใจทั่วไป อีกทั้งเป็นการป้องกันไม่ให้ข้อมูลในส่วนนี้ได้สูญหาย ทางลูกศิษย์ได้ถ่ายภาพหน้าแรกมาให้ดูพอเป็นสังเขป สำหรับข้อความและตัวอักษรได้ถ่ายทอดจากต้นฉบับมาพิมพ์ไว้ในหนังสือเล่มนี้..ผมไม่สามารถนำภาพถ่ายหน้าแรกมาลงให้ได้ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
การนำเสนอในครั้งนี้หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ สร้างศรัทธาและเป็นกำลังใจแก่นักภาวนาให้มีความเพียรในการปฏิบัติไม่มาก ก็น้อย นะครับ เชิญอ่านเพื่อประเทืองปัญญา นะครับ สาธุ
บันทึกส่วนตัวของ หลวงปู่ อุ่น ชาคโร
เปิดเผยความลึกลับ ของท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
ข้าพเจ้าเกิดมาในชาตินี้ รู้สึกว่าเสียใจมากที่ได้ไปอยู่ร่วมจำพรรษากับท่านอาจารย์มั่นเพียงปีเดียวท่านก็มานิพานจาก แต่ก็ภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้ไปฟังเทศน์อยู่ร่วมอุปัฏฐากท่านผู้มีจิตรบริสุทธิ์ นึกว่าไม่เสียทีประการหนึ่ง ครั้งสมัยนั้นเป็นปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ข้าพเจ้าอยู่วัดอรัญญวาสีท่าบ่อกับท่านอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ท่านได้พูดว่า พระเณรรูปใดจะไปฟังเทศน์ อาจารย์มั่น ก็ไปเสียเดี๋ยวจะไม่เห็นท่านเพราะท่านได้ทำนายชีวิตท่านไว้แล้วว่า อายุผมจะถึงเพียง ๘๐ ปีเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้อายุท่านก็ ๗๙ จะเข้ามาแล้วพวกคุณจะเสียดายในภายหลังว่า ไม่ได้ฟังธรรมจากพระอรหันต์อย่างท่านอาจารย์ ครั้งนั้นก็ได้นมัสการลาท่านอาจารย์เทสก์ ท่านก็อนุญาตและส่งทางด้วยเมื่อเดินทางไปถึงวัดป่าบ้านหนองผือ ได้เข้าไปนมัสการท่าน ๆ ก็ยินยอมรับอยู่ในสำนักท่าน นึกว่าบุญเรามากเหนือหัว แต่นั้นก็ตั้งใจปฏิบัติอุปัฏฐากท่าน ฟังเทศน์ฟังธรรมจากท่านเรื่อย ๆ มาตลอดศึกษาเรื่องภายในจิตรที่เป็นไปต่าง ๆ นานา
๑. ความลึกลับที่มีอยู่ภายในท่าน ก็ถูกเปิดเผยออกมาที่จำได้คือ ข้าพเจ้ากราบเรียนท่านอาจารย์มั่นว่ากระผมขอโอกาสกราบเรียน การนิมิตเห็นดวงหฤทัย (หัวใจ) ของคน ตั้งปลายขึ้นข้างบนนั้น เป็นอะไร
ท่านเลยอธิบายไปว่า ที่จริงดวงหฤทัยของคนนั้น ก็ตั้งอยู่ธรรมดา ๆ นี้แหละ อันมันเป็นต่าง ๆ นานา ตามเรานิมิตเห็นนั้น มันเป็นนิมิตเทียบเคียงคือ ปฏิภาคนิมิตนั้นเอง ที่ท่านว่ามันตั้งชันขึ้นนั้น แสดงถึงจิตรของคนนั้นมีกำลังทางสมาธิ ถ้าจิตรนั้นตั้งขึ้นและปลายแหลม กกใหญ่คล้ายกับดอกบัวตูมกำลังจะเบ่งบานนั้น แสดงว่าจิตรคนนั้นมีกำลังทางสมาธิและปัญญาแล้ว ถ้าน้ำเลี้ยงดวงหฤทัยมีสีต่าง ๆ กันนั้นหมายถึงจิตรของคน เช่น โทสจริตนั้นดวงหฤทัยแดง ถ้าราคะจริตน้ำเลี้ยงหฤทัยแดงเข้ม ๆ ถ้าจิตรของคนที่หลุดพ้นไปแล้วเป็น น้ำหฤทัยขาวสะอาดเลื่อมเป็นปภัสสรเหมือนทองหลอมแล้วอยู่ในเตา เลื่อมอย่างนั้นแหละ
ถ้าดวงหฤทัยเหี่ยว ๆ แห้ง ๆ นั้นหมายถึง จิตรของคนนั้นไม่มีกำลังทางจิตรคือ ศรัทธาพลัง วิริยะพลัง สติพลัง สมาธิพลัง ปัญญาพลัง ถ้าธรรมทั้ง ๕ อย่างนี้ไม่มีในจิตรแล้ว ท่านว่าอบรมไม่ขึ้น ไม่เป็นไป จะสั่งสอนทรมานสักปานใด ไม่มีประโยชน์เลย
ถ้าดวงหฤทัยคนนั้นมีกกเบ่งบานเหมือนดอกบัว อบรมสั่งสอนไปได้ผลตามคาดหมายจริง ๆ ท่านว่า ผมเองเคยเพ่งดวงหฤทัยของผมเอง เห็นเลื่อมเป็นแสงเลยทีเดียว เพ่งไปเพ่งมาปรากฏแตกใส่ดวงตา นี้คำพูดของท่าน ท่านจึงอธิบายว่า คนในประเทศไทยนี้ ดวงหฤทัยต่างหมู่อยู่สามองค์คือ ดวงหฤทัยปรากฏว่ามีจานหรือแท่นรองสวยงามดี พระสามองค์นี้ องค์หนึ่งคือ ท่านสมเด็จพระมหาวีรวงค์ (ติสโส อ้วน) ท่านตายไปแล้วส่วนอีก ๒ องค์นั้นยังอยู่ ท่านอาจารย์มั่นพูดว่า บุญวาสนาบารมีพระสามองค์นี้แปลก ๆ หมู่เพื่อนมากนี้ นึกว่าท่านอาจารย์นี้ท่านดูคนไม่ใช่ดูแต่หู ชิ้นตาหนัง เหมือนคนเราท่านสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาต้องดูด้วยตานอกตาใน เสียก่อนไม่เหมือนปุถุชนเรา อย่างพวกเรานี้มาเอาแต่กิเลสมาสั่งมาสอนบังคับไม่ว่าใครเป็นอย่างใด ฉะนั้นจึงเกิดสงครามกันบ่อย ๆ ระหว่าง อาจารย์กับลูกศิษย์จึงวุ่นวายกันอยู่ทั่วโลก ส่วนอาจารย์มั่น นั้นท่านสั่งสอนไปมันก็ได้ผลจริง ๆ อย่างว่าคนจริตไม่มีธรรม ๕ ข้อก็คือ คนอินทรีย์ไม่แก่กล้านั้นเอง อย่างนี้โดยมากท่านไม่รับเอาไว้ในสำนักของท่าน ม่านใช่อุบายว่าควรไปอยู่แห่งนั้นแห่งนี้หรือกับคนโน้นดีคนนี้ดี
๒. ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าตั้งใจปรึกษาท่านด้วยจิตรคือ กุฏิของท่านอยู่ไม่ห่างไกลกับกุฏิของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้เข้าสมาธิทำจิตรให้สงบดิ่งลงถึงจิตรที่เคยเป็นมา แล้วนึกถามท่านว่า จิตรของข้าน้อยตั้งอยู่อย่างนี้แหละ ข้าน้อยขอกราบเรียนว่า จิตรของข้าน้อยตั้งอยู่อย่างไร และเรียกว่าจิตรอะไร จึงขอนิมนต์ครูบาอาจารย์จงได้เมตตาบอกข้าน้อยด้วย นึกแล้วก็พยายามรักษาจิตรอย่างนั้นไว้จนกว่าท่านอาจารย์มั่น เลิกเดินจงกรม เมื่อท่านเลิกเดินจงกรมแล้วท่านก็ขึ้นไปกุฏิ และลูกศิษย์ผู้เคยปฏิบัติอุปัฏฐากท่านคือ ท่านอาจารย์วัน ก็ขึ้นไปนั่งอยู่กับท่าน
ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปนมัสการท่านแล้วนั่งอยู่ โดยไม่ได้พูดอะไร ๆ กับท่านเลย ท่านพูดเอ่ยมาว่าจิตรของท่านอุ่นเป็นอย่างนั้น ๆ ตั้งอยู่อย่างนั้น ๆ เรียกว่าจิตรอันนั้น ๆ ทีเดียวข้าพเจ้านั่งตัวแข็งเลย พูดอะไร ๆ ไม่ออก ทั้งดีใจ ทั้งเสียใจและทั้งกลัวท่าน ละอายท่าน ถ้าจะกราบเรียนท่านอย่างอื่น ๆ ไปก็กลัวท่านจะเล่นงานเราอย่างหนัก แต่ทุกวันนี้คิดเสียดายเมื่อภายหลังว่า เรานี้มันโง่ถึงขนาดนี้จริง ๆ จะเรียนท่านว่าจิตรเป็นอย่างนั้น แล้วข้าน้อยจะทำอย่างไรอีกจิตรจึงเจริญหลุดพ้นไปได้ สมกับคำโบราณว่า อายครูบ่ฮู้ อายชู้บ่ดี คำนี้มันถูกเอาเสียจริง ๆ
๓. ครั้งสมัยท่านกำลังแสดงธรรมเรื่อง ความหลุดพ้นและอริยสัจธรรม ๔ ข้าพเจ้าได้นั่งอยู่ตรงหน้าตรงตาของท่าน ตั้งจิตรสำรวม ส่งไปตามกระแสธรรมของท่านพร้อมทั้ง กำหนดพิจารณาไปด้วย จิตรข้าพเจ้าเลยรวมลงพับเดียวปรากฏว่าดวงจิตรของข้าพเจ้านี้คลายกับเครื่องนาฬิกากำลังเดินหมุนเวียนอยู่ พอนิมิตแล้วจิตรก็ถอนออกมาพอดี
ถูกท่านเทศน์ใหญ่เลยว่า จิตรพระอรหัตต์ทั้งหลายนั้น จิตรท่านไม่หมุนเวียนอีก ไม่หันต่อไปอีก จึงได้นามว่าอะระหัน แปลว่า ไม่หัน ท่านเหล่านั้นจะเอา อะ ไปไส่แล้ว ไม่เหมือนเรา เรามีแต่หันอย่างเดียวไม่หยุดไม่หย่อน พระอรหันต์นั้นท่านตัดกงหันได้แล้ว ท่านทำลายกงสังสารจักร์ขาดไปแล้วด้วย อรหัตตมรรค ข้าพเจ้านั่งฟังอยู่ครั้งนั้นจึงเกิดความมหัศจรรย์อย่างใหญ่หลวง
ท่านอาจารย์มั่น นั้นไม่แสดงธรรมด้วยหูหนังตาหนังเหมือนพวกเราท่านจก (ล้วง) เอาหัวใจผู้ฟังมาแสดงจริง ๆ ธรรมของท่านที่แสดงจึงถึงจิตรถึงใจของผู้ฟัง อย่างพวกเราแสดงให้กันฟังอยู่ทุกวันนี้มีแต่คนตาบอด ผู้แสดงบอด ผู้ฟังก็บอด บอดต่อบอดจูงกันไม่รู้ว่าจะไปถึงไหน จะไปโดนเอาหลักเอาตอ ตกเหว ตกขุม ที่ไหนไม่
ทราบกันเลย ผู้เทศน์ก็มีกิเลส ผู้ฟังก็มีกิเลสกันทั้งนั้น ผู้เทศน์เล่าก็หวังเอาแต่กัณฑ์เทศน์ ไม่เทศน์เอาคน มันจึงไกลกันแสนไกล สมกับพระพุทธเจ้าว่า ธรรมของสัตตบุรุษกับธรรมของอสัตตบุรุษไกลกันเหมือนฟ้ากับแผ่นดิน คำหนึ่งว่า ดูกรอานนท์ ถ้าธรรมของเราตถาคตไปสิงในจิตรของพระอรหันต์ผู้สิ้นจากกิเลสแล้ว ธรรมของเราก็เป็นธรรมแท้ไม่ปลอมแปลง ถ้าเมื่อใดธรรมของตถาคตนี้ไปสิงอยู่ในจิตรปุถุชนผู้มีกิเลส ธรรมของเราก็กลายเป็นธรรมปฏิรูปคือ ธรรมปลอมแปลง ถ้าผู้เขียนนี้เขียนไปมาก ๆ ก็เหมือนดูว่าเทศน์ไปอีกแหละ มันเป็นการเอามะพร้าวมาขายสวนไปจึงขอเขียนเรื่องท่านอาจารย์มั่นต่อไป
๔. วันหนึ่งตอนเช้ากำลังฉันจังหัน พระเณรกำลังแจกอาหารลงใส่ในบาตร และพระผู้อุปัฏฐากท่านก็กำลังจัดอาหารหวานคาวลงใส่ในบาตรท่านอาจารย์มั่น ถ้าเป็นอาหารของแข็งหรือใหญ่ ต่างองค์ก็ต่างเอามีดหั่น หรือโขลกด้วยครก ต่างคนต่างกระทำด้วยความเคารพจริง วันนั้นข้าพเจ้าได้มองไปเห็นพระท่านทำ ก็นึกเกิดปิติขึ้นมาด้วยความเลื่อมใสปล่อยใจเลื่อนลอยไปว่า แหม…พระลูกศิษย์ลูกหาของครูบาอาจารย์นี้ตั้งใจปฏิบัติอุปัฏฐากด้วยความเคารพเลื่อมใสจริง เอ๊ะ…ครั้งพุทธกาล โน้นบรรดาพระสาวกทั้งหลายนั้น จะมีสานุศิษย์ปฏิบัติอุปัฏฐากดี ๆ อย่างนี้ไหมหนอ คิดแล้วก็ไม่นึกไม่ฝันเลยว่า เราเป็นบ้าคิดเรื่องราวให้ไปกระทบกระทั่งจิตรใจของท่าน
ครั้นต่อมาในวันหลังบรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายที่เคยปฏิบัติอุปัฏฐากท่าน ก็เข้าไปจะปฏิบัติ ถูกท่านห้ามอย่างใหญ่ว่า หยุดอย่ามาทำนะ วันนั้น ท่านดุเอาจริง ๆ ครั้นต่อมาวันหลังอีก จะเข้าไปปฏิบัติ ท่านเล่นงานอย่างใหญ่อีกว่า ทำไมห้ามไม่ฟังเดี๋ยวถูกค้อนตีเอาแหละ แล้วท่านก็บ่นว่า มันมาดูถูกกัน การปฏิบัติอุปัฏฐากอย่างนี้ ในครั้งพุทธกาลโน้น พระสาวกไม่มีดอก วันนั้นไม่มีใครเข้าไปใกล้ท่านได้เลย การจัดสิ่งของลงในบาตร ท่านจัดเอง การอุปัฏฐากท่านนั้นจำเป็นต้องงดไปหลายวัน
ต่อมาท่านอาจารย์มหาบัว ท่านเป็นลูกศิษย์อาวุโสกว่าหมู่ พรรษาท่านขณะนั้นคงได้ในราว ๑๖ พรรษา จึงได้เรียกบรรดาสานุศิษย์รุ่นน้อย มีท่านอาจารย์วัน ท่านอาจารย์เนตร อาจารย์คำพอง อาจารย์สุวัจน์ อาจารย์จันโสม บ้านนาสีดา และข้าพเจ้า พร้อมอีกหลาย ๆ รูป ไปประชุมกันที่กุฏิท่านอาจารย์มหาบัว ว่าเรื่องนี้เป็นใครหนอได้นึกได้คิดอย่างว่านี้ เป็นเหตุให้ครูบาอาจารย์เดือดร้อน ผมเองว่าพิจารณาเห็นว่าคง
ไม่มีไครดอก เพราะว่าใคร ๆ ที่ได้มาอยู่ก็ได้มอบกายถวายชีวิตกับท่านแล้ว ต่างคนก็ต่างเคารพนับถือท่าน ผมว่าจะเป็นอุบายท่านอาจารย์ทรมานพวกเราเฉย ๆ ดอก ตามที่ผมได้อยู่กับท่านมาหลายปี ผมเองเคยถูกท่านทรมาน ดูว่าเรานี้จะปฏิบัติอุปัฏฐากท่านเอาจริง เอาจังไหม หรือสักแต่ว่าทำเพื่อแก้เก้อเฉย แต่นี้ไปพวกเราต้องเข้าไปทำปฏิบัติท่านเลย ท่านจะฆ่าจะแกงจะต้มอย่างไรเราก็ยอม เสียสละ นี้ท่านอาจารย์มหาบัวแนะนำสานุศิษย์รุ่นเล็ก ๆ ต่อมาก็เลยเข้าไปอุปัฏฐากท่าน
ครั้งนี้ท่านไม่ว่าอะไร เพราะจะห้ามไว้ก็ไม่ฟัง เป็นหน้าที่ข้อวัตรของสานุศิษย์ผู้หวังดีจะทำกัน แต่นั้นมาก็ไม่มีใครปรารภเรื่องนี้อีก แม้แต่ท่านอาจารย์มั่น ก็ไม่ว่าอะไรตลอดถึงวันท่านนิพานของท่านยังปิดบังไว้ ครั้นต่อมาประมาณ ๒๐ กว่าปี ข้าพเจ้าจึงมารำลึกถึงบุญคุณ ของท่านอาจารย์มั่นดู จึงนึกขึ้นมาได้ว่า เมื่ออยู่กับท่านอาจารย์มั่น ถูกท่านเทศน์กัณฑ์ใหญ่ สมัยนั้นเราผู้ที่ไม่มีสตินี้แหละ เป็นเหตุทำให้หมู่เพื่อนครูบาอาจารย์องค์อื่น ๆ เดือดร้อนไปตามกัน เมื่อมานึกทวนจิตรรู้มันก็สายเสียแล้ว จะทำอย่างไรดี จะไปขอขมาโทษคารวะท่าน ท่านก็ไม่อยู่ในโลกไหนภพไหน จึงนึกคิดขึ้นมาได้ว่าเหลืออยู่แต่โอวาทคำสอนของท่านนี้แหละให้เราเราต้องขอขมาโทษเคารพนักถือธรรมของท่านที่ให้ไว้นี้แหละ นึกขึ้นได้แล้วก็เบาใจ ต่อมานี้แหละ ท่านผู้อ่านทั้งหลาย คนเรานี้แม้แต่จิตรของตัวเราเองนี้ นึกคิดไปแล้วก็ยังไม่รู้ว่าขณะนี้เราคิดเรื่องอะไร มันจะไปรู้จิตรนึกคิดคนอื่นได้อย่างไร ทั้งวันทั้งคืนทั้งปีทั้งเดือนผ่านไปผ่านไปหมดไปเฉย ๆ ไม่ได้ทบทวนตรวจดูการดูจิตรของตนเลย อย่างท่านอาจารย์มั่นนั้นท่านเคยพูดให้ได้ยินบ่อยว่า ผมเองพิจารณาเห็นจิตรเห็นกายอยู่ทุก ๆ เวลาเช่น เห็นกายเป็นร่างกระดูกอย่างนั้นแหละ เอาผ้ามาห่มมาคลุมก็เห็นเอาผ้ามาคลุมร่างกระดูกอยู่อย่างนั้น ท่านอ่านเรื่องนี้แล้วจงระวัง อย่าให้เป็นดังจิตรของข้าพเจ้าผู้เขียนนี้เลย เรื่องนี้ข้าพเจ้าผู้ถูกมาเองจึงอดปิดบังไว้ไม่ได้ เป็นของอัศจรรย์ ข้อหนึ่งที่เคยประสบเหตุการณ์มากับท่านอาจารย์มั่น จริง ๆ
๕. วันหนึ่งตอนบ่ายท่านอาจารย์มั่นจะสรงน้ำ ตามธรรมดาเวลาสรงน้ำมีพระปฏิบัติท่านอาจารย์ในราวสัก ๓ รูปไม่ขาด ครั้งนั้น มีพระรูปหนึ่งท่านองค์ชอบหัวดื้อหน่อย และชอบทดลองสิ่งต่าง ๆ ด้วย พระองค์นั้นจึงคิดทดลองดูว่าท่านอาจารย์มั่นนี้จะรู้ไหม จึงคิดในขณะไปสีขาให้ท่านว่า กกขา (ต้นขา) นี้ขาวเหมือนขาผู้หญิงเลย พอนึกเท่านั้น ท่านอาจารย์มั่นจึงพูดขึ้นว่า เอ๊ะ ท่านนี้เป็นบ้าจริง ๆ เว้ย แล้ว
พระองค์นั้นก็ถอยออก จึงมานึกว่าเอ๊ะ….ท่านอาจารย์จะรู้จริง ๆ หรืออย่างไรหนอ แกยังสงสัยอยู่ พอวันหลังก็มาปฏิบัติเวลาท่านอาบน้ำอีก พอสีเหงื่อไคลขาท่านก็ลองนึกดูอีก ครั้งนี้ท่านดุเอาอย่างใหญ่เลยว่า ท่านนี้ออกหนี อย่ามาทำเลย ไปหนี ๆ ไล่ใหญ่ อันนี้ข้าพเจ้าผู้เขียนก็ได้ไปปฏิบัติท่านอาจารย์ในเวลานั้นเหมือนกัน อันนี้นึกว่าท่านอาจารย์มั่นนั้นท่านชำนาญทางปรจิตวิชาจริง ๆ จึงหาได้ยากอีกในโลกอันนี้
๖. สมัยหนึ่งเป็นเวลาออกพรรษาแล้วนายวัน และนางทองสุข ร้านศิริผล นครราชสีมา ได้มาถวายกฐิน ครั้งนั้นมีครูบาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่ นายวันนิมนต์มาด้วยมากองค์ เช่น ท่านอาจารย์ สิงห์ ใหญ่ อาจารย์ฝั้น อาจารย์สีโห วัดป่าสุมนามัยบ้านไผ่ ท่านอาจารย์องค์นี้ ไม่เคยมาและไม่เคยเห็นท่านอาจารย์มั่นเลย ได้ไปพักอยู่กุฏิเล็ก ๆ ห่างจากกุฏิท่านอาจารย์มั่น ประมาณ ๔ เส้น ขณะนั้นท่านอาจารย์สีโหอาบน้ำ ข้าพเจ้าและพระอื่น ๆ มาปฏิบัติท่านขณะนั้นท่านอาจารย์สีโห จึงพูดกับข้าพเจ้าขึ้นเบา ๆ ว่า เอ๊ะ ท่านอาจารย์มั่นนี้ รูปร่างหน้าตาเหมือนผมนิมิตเห็นท่านไม่ผิดเลย ว่าลักษณะท่านคน น้อย ๆ คางแบน ๆ บัดนี้เราจะได้ฟังเทศน์ท่าน เรานี้อยากให้เทศน์จริง ๆ ว่า เรานี้มันคาอยู่อะไร ทำไมจึงไม่เห็นตนคา ว่าแล้วก็ผลัดเปลี่ยนผ้า ข้าพเจ้าก็เลยไปกุฏิพอตอนค่ำครูบาอาจารย์ต่างก็ไปชุมนุมที่กุฏิท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์สีโหก็อยู่นั่นแหละ ท่านอาจารย์มั่นก็ทักทายปราศรัยกับท่านอาจารย์องค์นั้นองค์นี้ไป พอท่านมองไปเห็นท่านอาจารย์สีโห นั่งอยู่ ท่านเลยพูดขึ้นว่า ท่านสีโหนี้ก็มีแต่ไปหากินข้าวต้มขนมเขาอยู่แต่ในเมืองนี่นา ทำไมไม่เห็นเข้าป่าไปภาวนาเล่า ว่าแล้วท่านหัวเราะ ใครก็หัวเราะกัน เพราะเป็นเรื่องขบขัน ผู้ฟังเพลินดูคล้ายกับว่าท่านพูดเล่น แต่ที่จริงท่านพูดตามเหตุที่ท่านรู้ทางจิตร
๗. ครั้นต่อมาอีกเช้า เวลาฉันจังหัน ครั้งนั้นครูบาอาจารย์ที่เป็นพระแขกติดตามมากับองค์กฐินนายวัน แม่ทองสุข เช่น อาจารย์สิงห์ อาจารย์สีโห อาจารย์อ่อน อาจารย์ฝั้น และพระอื่น ๆ อีกมาก ได้ไปรวมกันฉันที่ศาลาหลังใหญ่เพราะที่หอฉันที่ไม่เพียงพอ จึงฉันอยู่ที่หอฉันก็มีแต่พระเณรเจ้าถิ่นเท่านั้น ครั้งนั้นบันดาอาหารหวานคาว พวกโยมทั้งหลายเลยเอาขึ้นไปแต่หอฉันที่อาจารย์มั่นอยู่ ไม่มีใครแบ่งไปศาลาใหญ่เลย พระผู้แจกอาหารเช่นอาจารย์วัน อาจารย์ทองคำ และข้าพเจ้าผู้เขียนนี้ด้วย ก็บังเอิญลืมแบ่งไปจริง ๆ พอฉันเสร็จแล้วไม่มีใครว่าอะไรอีกครูบา
อาจารย์ทั้งหลายที่ฉันอยู่ศาลาหลังใหญ่ก็ฉันแต่ อาหารที่ได้มาในบาตร ไม่มีใครพูดอะไร เพราะกลัวความกระทบกระเทือนจะไปถึงท่านอาจารย์ใหญ่ พอตื่นเช้าวันหลังเท่านั้นแหละ ท่านอาจารย์มั่นเลยว่า โยมชาวบ้านหนองผือเลยว่า พวกโยมทำอาหารมาให้พระฉันกันอย่างไร อาตมาได้ยินว่า ท่านอาจารย์สิงห์ บ่นว่าอาหารจาง อาหารจางอยู่ พระพวกภัตตุเทศที่แจกอาหารเลย สืบถามดูความจริงแล้ว ลืมแบ่งอาหารไปศาลาหลังใหญ่ปล่อยให้ครูบาอาจารย์ฉันแต่ข้าวที่ไม่มีอะไร ๆ กันทั้งนั้น จึงเป็นเหตุให้ท่านอาจารย์มั่นรู้เรื่องราวโดยไม่มีไครบอก อันนี้เป็นของอัศจรรย์ข้อหนึ่งตามข้าพเจ้าเคยผ่านเหตุการณ์มาในเรื่องท่านอาจารย์มั่น
๘. เรื่องอดีตชาติก่อนท่านอาจารย์มั่นพูดว่า สมัยพระโสณะกับพระอุตตระมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแคว้นสุวรรณภูมิ คือ นครปฐมเดี๋ยวนี้ ท่านอาจารย์มั่นนี้ได้เป็นสามเณรน้อยมาด้วย ท่านว่าสมัยนั้นท่าน ข้องคาอยู่ในการปรารถนาพุทธภูมิท่านจึงไม่ได้สำเร็จมรรคผลอะไร ท่านกล่าวว่าสมัยนั้นน้ำทะเลขึ้นไปจรดกับจังหวัดสระบุรี หรือเขาวงพระจันทร์ ส่วนพระโสณะและพระอุตตระนั้นชอบใช้ไม้เท้า ทางกกเป็น ๘ เหลื่อม ทางปลายนั้นเป็น ๑๖ เหลื่อม ท่านว่าเมืองไทยเรานี้มีคนมีบุญวาสนามากมาเกิดบ่อย ๆ และเป็นที่ชุมนุมของเทวดามเหศักดิ์ผู้มีฤทธิ์มาก ทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่น พระบรมสารีริกธาตุก็เสด็จมาอยู่ในเมืองไทย ประเทศอินเดียไม่ค่อยมี เพราะเมืองไทยเรามีพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองกว่าประเทศอื่น ฉะนั้นเมืองไทยเรา จึงเป็นเมืองแสนสงบสุข อุดมสมบูรณ์เป็นเอกราชมานาน เพราะเป็นดินแดนที่เกิดของนักปราชญ์ทั้งหลาย พูดถึงตอนนี้เป็นเหตุให้เราคนไทยที่เป็นเจ้าของประเทศภาคภูมิใจมาก และ ภาคภูมิใจที่ได้มาเกิดในเมืองไทยที่มีครูบาอาจารย์ผู้วิเศษมาโปรดนี้ได้ยินจาก ท่านพระครูสีลขันธ์สังวร (อาจารย์อ่อนสี) วัดพระงาม ท่าบ่อ พูดให้ฟัง เพราะอาจารย์องค์นี้ท่านได้อยู่กับท่านอาจารย์มั่นตั้ง ๖ ปี ท่านรู้ดีเรื่องอาจารย์มั่น ใครสนใจไปเรียนถามท่านก็ได้
๙. เรื่องเข้าสมาธิเวทยิตนิโรธสมาบัติ ท่านอาจารย์อ่อนสี วัดพระงาม เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า เรื่องเข้าเวยิตนิโรธนี้ เคยมีครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่กราบเรียนท่านอาจารย์มั่น ท่านตอบว่า พระอรหันต์จำพวกได้อภิญญา ๖ และ ปฏิสัมภิทา ๔ จิตรถึงจตุตถญาณแล้วจึงเข้าได้อย่างพระมหาสารีบุตร พระมหากัสสป ท่านเข้าได้ถึง ๗ - ๘ วัน จำพวกพระอรหันต์สุกขวิปัสโก เตวิโช อันนี้เข้าไม่ได้ ท่านอาจารย์มั่นพูดว่า เอาน่า
เชื่ออ้ายเฒ่าเถอะน่า และท่านเคยเตือนลูกศิษย์ว่า อย่าไปคิดมันเลยเรื่องนี้ ว่าแต่สิ้นกิเลสตัณหาก็พอ พวกเรานี้มันหมดยุคผู้มีบุญวาสนามากแล้ว วาสนาของสัตว์โลกนับวันแต่จะด้อยลงไปทุกทียิ่งเลย ๒๕๐๐ ปี ไปแล้วคนที่จะสำเร็จมรรคผลเพียงแค่แต่พระโสดาบันนี้ก็ยาก ท่านว่าดังนั้น อย่าอยากดีอยากดังเกินไปมันจะไม่พ้นทุกข์ นี้ท่านเตือนสานุศิษย์ อย่างท่านอาจารย์ลี วัดอโศการามก็เคยพูดบ่อย ๆ ว่า เลย ๒๕๐๐ ไปแล้วคนจะทำความดีได้ยาก มีแต่คนชั่วเอาความชั่วมาทับถมกัน จริงอยู่คำนี้สมัยทุกวันนี้พระท่านถือธุดงค์ไปเจริญสมณธรรมอยู่ป่าอยู่เขา ไกลแสนไกล สูงแสนสูงเท่าใด คนยังไปรบกวนถามบัตรถามเบอร์ท่าน ไม่ถามเรื่องบุญเหมือนสมัยที่ท่านอาจารย์มั่นยังมีชีวิตอยู่ ถามกันแต่เรื่องเบอร์ทั้งนั้น พระสมัยนี้ก็แสวงหาแต่อย่างนั้นเหมือนกัน แล้วมันจะดีขึ้นได้อย่างไร ใครก็หาแค่มนุษย์สมบัติ ไม่หานิพพานสมบัติ พระท่านผู้หวังจะขามจากโลกก็พลอยลำบากไปด้วย เพราะโลกเขาไม่อยากให้ขามไปเลย
ข้าพเจ้าได้ค้นดูหนังสือโบราณคือ หนังสืออุรังคธาตุตอนหนึ่งว่า พระมหากัสสปเถระเจ้าได้สร้างพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ทางฝ่ายฆราวาสมีพระยาคำแดง พระยาเมืองอินทปัตถานคร พระยานันทเสน พระยาปิงคราช พระยาสุมิตถานคร โปรดให้เขียนรูปม้าอัสดรใส่พระธาตุ โดยผินหน้าไปทางทิศเหนือแม่น้ำโขง ผินหางไปทางทิศใต้แม่น้ำโขง แล้วพระมหากัสสปเถระเจ้าจึงทำนายพยากรณ์ไว้ว่า ต่อไปครั้งหน้าศาสนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อถวายสร้อย ศาสนาแถบแม่น้ำโขงนี้จะเจริญรุ่งเรือง จะมีพระอรหันต์เกิดขึ้นแถบสายแม่น้ำโขง อันนี้ข้าพเจ้าบอกตรง ๆ เลยว่ามันต้องเป็นสมัยอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์เสาร์นี้ไม่มีผิดจริง ๆ เพราะพระทั้งสององค์ท่านนี้ก็เป็นคนชาวอุบลซึ่งมีเขตต์จรดกับแม่น้ำโขง และเวลาท่านสององค์นี้เที่ยวเทศนาโปรดประชาชนก็เทียวโปรดตามสายแม่น้ำโขง นี้เป็นคำสันนิษฐานของข้าพเจ้า จะผิดหรือถูกประการใด ขอพิจารณาดูเถิดและให้อภัยแก่ข้าพเจ้าผู้เขียนด้วย
อีกตอนหนึ่งในหนังสือพุทธทำนายว่า ใกล้ศาสนา ๒๕๐๐ จะมีผู้มีบุญวาสนามาเกิด มี พระยาธรรมมิกราชมาปกครองบ้านเมือง ฝ่ายพระศาสนาจะมีพระอรหันต์มาเทศน์โปรดบ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรืองวัฒนาถาวร พระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเจริญเรื่องทางด้านปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรม เรื่องนี้ได้มีครู
บาอาจารย์บางรูปได้ยินท่านอาจารย์มั่น เคยพูดว่ามันเจริญมาแล้วแต่พระเจ้าแผ่นดินรัชการที่ ๔ ท่านก็เป็นจอมปราชญ์ ปกครองบ้านเมือง ได้ปรับปรุงทางคณะสงฆ์ และได้ปรับปรุงบ้านเมืองให้เจริญ จนมาถึงรัชการที่ ๕ บ้านเมืองได้เจริญถึงขีด ท่านว่าดังนั้น ส่วนฝ่ายพระศาสนาก็มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระองค์ท่านก็ได้ปรับปรุงด้านการศึกษาปริยัติธรรมนี้ขึ้นมาจนถึงสมัยทุกวันนี้ ด้านปฏิบัติปฏิเวธธรรมอันนี้มันเจริญอยู่กับผู้ปฏิบัติ ผู้ไม่ปฏิบัติก็ไม่เห็นความเจริญ มันไม่ใช่ทั่วไป ผู้ใดปฏิบัติเห็นมรรคผลนิพพาน ก็ว่ามรรคผลนิพพานยังอยู่เหมือนเดิม ไม่ไปไหน พระพุทธเจ้าปรินิพพานไป ท่านไม่ได้เอามรรคผลนิพพานไปด้วยคงอยู่ตามเดิม ( เอสะ ธัมโม สะนันตะโน ) พระธรรมเป็นของมีมาแต่ดั่งเดิม ไม่ไปไหน พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่า ดูกรอานนท์ เมื่อใดภิกษุในพระศาสนานี้ยังปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่ พระอรหันต์จะไม่ว่างจากโลก อันนี้คำพูดของท่านผู้เห็นธรรมแล้วหลุดพ้นแล้วพูด ทีนี้เราผู้มืดมนและข้องคาอยู่ มาพูดกันตามความเห็นแล้วว่า พระผู้วิเศษคือ พระอรหันต์ จะมาเที่ยวเทศนาโปรดประชาชนนั้น ข้าพเจ้าว่าไม่ใช่อื่นไกลคือ ท่านเจ้าคุณอุบาลี ซึ่งเป็นนักเทศน์เอกในประเทศไทยและท่านอาจารย์เสาร์ ท่านอาจารย์มั่น นี้แหละ ไม่ใช่ท่านเหาะมาทางอากาศ มาประกาศว่า ข้าพเจ้านี้คือพระอรหันต์จะมาโปรดท่านเน้อ อย่างพวกเรานึกคิดกัน ท่านได้สำเร็จแล้วก็แล้วกันไป หลุดพ้นแล้วก็แล้วกันไป ไม่ใช่ว่าจะหามแข่งหามเสงเหมือนกลองยาว เคยมีพระบางพวกหามไปเข้าสมาธิให้คนดู อันอย่างนั้นมันไม่มีในพระสาวกเสียแล้ว และ พระพุทธเจ้าก็ไม่ปรากฏว่าพระองค์เข้านิโรธสมาบัติแล้วให้สาวกหามไปให้คนดูว่า มาเน้อ มาดูเราเข้านิโรธ อย่างนี้ไม่มี พระวินัยก็ปรับอาบัติไว้แล้วว่า ภิกษุใดบอกอุตตริมนุสสธรรมแก่ชาวโลกเขาปรับอาบัติปาจิตตีย์ ดังนี้ ท่านผู้มีจิตรหลุดพ้นแล้วท่านไม่โอ้อวด ไม่อยากดังเหมือนพวกเราที่มีกิเลสอยู่ดอก ถึงบอกไปคนอื่นเขาจะเชื่ออย่างไร เขาไม่เห็นด้วย มีแต่เขาจะว่าท่านนี้บ้าแล้วกระมัง ฉะนั้นการบอกเปิดเผยธรรมวิเศษที่มีในตนนี้ นอกจากอาบัติแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์ผลได้ น้อยกว่าผลเสีย จะประสาอะไรแต่สาวกของพระพุทธเจ้า แม้แต่พระองค์เองได้ประกาศว่า เราเป็นสยุมภูผู้ตรัสรู้เอง คนอื่นก็ยังเชื่อยากทั้งตำราพวกพราหมณ์ก็ทำนายกันทั้งประเทศอินเดียว่าพระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้ในโลก เมื่อพระองค์เที่ยวประกาศพระศาสนา คนบางจำพวกก็ยังไม่เชื่อพระองค์ จนได้แข่งฤทธิ์แข่งเดชกับพระองค์จะเอาอย่างไรกับ
มนุษย์ผู้มืดหนา ฉะนั้นเรื่องอาจารย์มั่นนี้ก็เหมือนกัน ต้องถูกปิดบังไว้ตั้ง ๒๐ กว่าปีจึงมีวี่แววขึ้นเดียวนี้เอง………………………
จากคุณ : (อิ_อิ) [ 23 ก.ย. 2545]
ความคิดเห็นที่ 7 : (อภิสิทธิ์)
สาธุ ขอบพระคุณนะครับ หลวงปู่อุ่นท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่เทสก์และหลวงปู่เทสก์ได้ฝากให้ท่านมาปฏิบัติกับหลวงปู่มั่นก่อนที่หลวงปู่มั่นจะนิพพาน หลวงปู่อุ่นท่านมรณะเมื่อปีที่แล้ว 2544 อายุ 79 ปี กระดูกท่านกายเป็นพระธาตุ ในงานพระราชทานเพลิงศพเดือนกรกฎาคม 2545 หลวงตาบัวได้เป็นประธาน และมีหลวงปู่เหรียญ หลวงปู่ท่อน หลวงปู่ต่าง ๆ หลายรูปก็ได้มาร่วมงานนี้ ตอนที่หลวงปู่อุ่นอยู่ท่านได้สร้างเจดีย์เพื่อระลึกถึงหลวงปู่มั่นที่วัดดอยบันไดสวรรค์ บ้านหนองคำ ต.อูบมุง อ.หนองวัวซอ จ.อุดร มีพระที่ท่านปฏิบัติดีหลายท่านที่เรายังไม่รู้ ท่านไม่ค่อยแสดงตัวเท่าไหร่แล้วแต่ว่าใครจะมีโอกาสได้พบท่านเหล่านั้น
จากคุณ : อภิสิทธิ์ [ 23 ก.ย. 2545]

ประวัติย่อ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

ประวัติย่อ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ณ วัดภูริทัตตถิรวาส เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2413 ที่บ้านคำบง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ในสกุลแก่นท้าว เป็นตะกูลนักรบ เพียแก่นท้าวเป็นปู่ ปู่เคยผ่านศึกทุ่งเชียงขวาง นายคำด้วงเป็นบิดา นางจันทร์เป็นมารดา นับถือพระพุทธศาสนาตลอดมา บุคลิกลักษณะ ร่างเล็ก ผิวขาวแดง คล่องแคล่ว ว่องไว สติปัญญาเฉลียวฉลาด มีความประพฤติ อัธยาศัยเรียบร้อย ชอบศึกษาธรรมะ รักในเพศนักบวชประจำนิสัย อุปสมบทอายุ 22 ปี ที่วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี พระอริยกวีเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสีทาเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณเป็นอนุศาสนาจารย์ ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามเบื้องยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) เดินธุดงค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะแรก 24 พรรษา บั้นปลายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 พรรษา ที่วัดป่าบ้านหนองผือ 5 พรรษา (2487-2492) มรณะภาพ 2492 ที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร อายุ 80 ปี

หลวงปู่มั่น ภูริทัตตมหาเถระ (1)
๑ ชาติกำเนิดและการอุปสมบท
ท่าน กำเนิดในสกุลแก่นแก้ว บิดาชื่อคำด้วง มารดาชื่อจันทร์ เพียแก่นท้าวเป็นปู่ นับถือพุทธศาสนา เกิดวันพฤหัสบดีเดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๐ เดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานีมีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๗ คน ท่านเป็นบุตรคนหัวปีท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวขาวแดงแข็งแรงว่องไวสติปัญญาดีมาตั้งแต่กำเนิดฉลาดดี
เป็นผู้ว่านอนสอนง่ายได้เรียนอักขรสมัยในสำนักของอา คือเรียนอักษรไทยน้อย อักษรไทย อักษรธรรมและอักษรขอมอ่านออกเขียนได้นับว่าท่านเรียนได้รวด เร็ว เพราะมีความทรงจำดี และมีความขยันหมั่นเพียรชอบการเล่าเรียนศึกษา
เมื่อ ท่านอายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชา เป็นสามเณรในสำนักวัดบ้านคำบง ใครเป็นบรรพชาจารย์ไม่ปรากฏ ครั้นบวชแล้วได้ศึกษาหาความรู้ทางพระศาสนามีสวดมนต์และสูตรต่างๆ ในสำนักบรรพชาจารย์ จดจำได้รวดเร็ว อาจารย์เมตตาปรานีมาก เพราะ เอาใจใส่ในการเล่าเรียนดี ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้
เมื่อ อายุท่านได้ ๑๗ ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยการงานทางบ้านท่านก็ได้ลาสิกขาออกไปช่วยงาน ของบิดามารดาเต็มความสามารถ ท่านเล่าว่าเมื่อลาสิกขาไปแล้วยังคิดที่จะบวชอีกอยู่เสมอไม่ลืมเลย คงเป็นเพราะอุปนิสัยในทางบวชมาแต่ก่อนอย่างหนึ่งอีกอย่าง หนึ่งเพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า
พระอริยกวี ( อ่อน ) พระอุปฌาย์ของหลวงปู่
"เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก"
พระครูวิเวกพุทธกิจ หลวงปู่เสาร์ กันตสีลมหาเถร พระอาจารย์กรรมฐาน
คำสั่ง ของยายนี้ คอยสะกิดใจอยู่เสมอ ครั้นอายุท่านได้ ๒๒ ปี ท่านเล่าว่ามีความอยากบวชเป็นกำลัง จึงอำลาบิดา มารดาบวชท่านทั้งสองก็อนุญาตตามประสงค์ท่านได้
เข้าศึกษาในสำนักพระอาจารย์เสาร์ ( หลวงปู่เสาร์ ) กันตสีโล วัดเลียบ เมืองอุบล จังหวัดอุบลราชธานี
อุปสมบท เป็นภิกษุภาวะในพุทธศาสนา ณ วัดศรีทอง(วัดศรีอุบลรัตนาราม)อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระ อุปฌายะ พระครูสีทาชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ ( สุ่ย ) เป็นพระอนุสาวนาจารย์เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๖
พระอุปัชฌายะขนานนามมคธให้ว่า "ภูริทัตโต" แปลว่า "ผู้ให้ปัญญา ผู้แจกจ่ายความฉลาด" เสร็จอุปสมบทกรรมแล้ว ได้กลับมาศึกษาวิปัสสนาธุระกับพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ณ วัดเลียบต่อไป เมื่อแรกอุปสมบทท่านพำนักอยู่วัดเลียบ โดยได้เรียนกรรมฐานจากพระอาจารย์เสาร์เมื่องอุบลเป็นปกติ และได้ออกไปอาศัยอยู่วัดบูรพาราม เมือง อุบลราชธานีเป็นครั้งคราว
ใน ระหว่างนั้นได้ศึกษาข้อปฏิบัติเบื้องต้น อันเป็นส่วน แห่งพระวินัย คือ อาจาระความประพฤติมารยาท อาจริยวัตร และอุปัชฌายวัตรปฏิบัติได้เรียบร้อยดีจนเป็นที่ไว้วางใจของพระอุปัชฌาจารย์ และได้ศึกษาข้อปฏิบัติอบรมจิตใจคือเดินจงกรมนั่งสมาธิกับการสมาทานธุดงควัตรต่างๆ
คัดลอกจาก : http://www.geocities.com/luangpumun/his1.html
๒ บำเพ็ญเพียร
ใน สมัยต่อไปได้แสวงหาวิเวกบำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่างๆ ตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฏที่แจ้ง หุบเขา ซอกเขา ห้วย ธารเขา เงื้อมเขา ท้องถ้ำ เรือนว่างทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้าง ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง แล้วลงไปศึกษากับนักปราชญ์ทางกรุงเทพ จำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนาราม หมั่นไปสดับธรรมเทศนากับเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ( จันทร์ ) ๓ พรรษา แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือถ้ำสาริกา เขาใหญ่ นครนายก ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงามและถ้ำสิงห์โตลพบุรีจนได้รับความรู้แจ่มแจ้งในพระธรรมวินัย สิ้นความสงสัยในสัตถุศาสนา จึงกลับมาภาคอีสานทำการอบรม
สั่งสอนสมถวิปัสสนา แก่สหธรรมิกและอุบาสกอุบาสิกาต่อไป มีผู้เลื่อมใสปฏิบัติตามมากขึ้นโดยลำดับ มีศิษยานุศิษย์แพร่หลายกระจายทั่วภาคอีสาน
ในกาลต่อมาได้ลงไปพักจำพรรษาที่วัดประทุมวนาราม กรุงเทพฯ อีก ๑ พรรษาแล้ว ไปเชียงใหม่ กับเจ้าพระคุณอุบาลี ( จันทร์ ) จำพรรษาวัดเจดีย์หลวง ๑ พรรษาแล้วออก ไปพักตามที่วิเวกต่างๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้นๆนานถึง ๑๑ ปี จึงได้กลับมาจังหวัดอุบลราชธานีพักจำพรรษาอยู่ที่วัดโนนนิเวศน์เพื่ออนุเคราะห์สาธุชนในที่นั้น ๒ พรรษาแล้วมาอยู่ในเขตจังหวัดสกลนครจำพรรษาที่วัดป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมืองสกลนคร ( ปัจจุบันคืออำเภอ โคกศรีสุพรรณ ) ๓ พรรษา จำพรรษาที่วัดป่าหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม ๕ พรรษาเพื่อสงเคราะห์สาธุชนในถิ่นนั้น มีผู้สนใจในธรรมปฏิบัติได้ติดตามศึกษา อบรมจิตใจมากมาย ศิษยานุศิษย์ของท่านได้แพร่กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ยังเกียรติคุณของท่านให้ฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไป
๓ ปัจฉิมวัย
ใน วัยชรานับแต่ พ.ศ.๒๔๘๔ เป็นต้นมาท่านหลวงปู่มั่นมาอยู่ที่จังหวัดสกลนคร เปลี่ยนอิริยาบถ ไปตามสถานที่วิเวกผาสุกวิหารหลายแห่ง คือ เสนาสนะป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง ( ปัจจุบันเป็นอำเภอโคกศรีสุพรรณ ) บ้าง แถวนั้นบ้าง
ครั้น พ.ศ. ๒๔๘๗ จึงย้ายไปอยู่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จนถึงปีสุดท้ายแห่งชีวิต ตลอดเวลา ๘ ปีในวัยชรานี้ท่านได้เอาธุระอบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์ทางสมถวิปัสสนาเป็นอันมาก ได้มีการเทศนาอบรมจิตใจศิษยานุศิษย์เป็นประจำวันศิษย์ผู้ใกล้ชิด ได้บันทึกธรรมเทศนาของท่านไว้และได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นเผยแพร่แล้วให้ชื่อว่า "มุตโตทัย"
มาถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีที่ท่านมีอายุย่างเข้า ๘๐ ปี ท่านเริ่มอาพาธเป็นไข้ ศิษย์ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด ก็ได้เอาธุระรักษาพยาบาล ไปตามกำลังความสามารถ อาการอาพาธก็สงบไปบ้างเป็นครั้งคราวแต่แล้วก็กำเริบขึ้นอีก เป็นเช่นนี้เรื่อยมา จนจวนออกพรรษา อาพาธก็กำเริบมากขึ้น ข่าวนี้ได้กระจายไปโดยรวดเร็ว พอออกพรรษา ศิษยานุศิษย์ผู้อยู่ใกล้ไกล ต่างก็ทยอยกันเข้ามา ปรนนิบัติ พยาบาล ได้เชิญหมอแผนปัจจุบันมา
ตรวจ และรักษาแล้วนำมาพักที่เสนาสนะป่าบ้านภู่ อำเภอพรรณานิคม เพื่อสะดวกแก่ผู้รักษา และศิษยานุศิษย์ที่จะมาเยี่ยมพยาบาล อาการอาพาธมีแต่ทรงกับทรุดลงโดยลำดับ ครั้น เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้นำท่านมาพักที่วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง เมืองสกลนคร โดยพาหนะรถยนต์ของแขวงการทางมาถึงวัดเวลา ๑๒.๐๐น. เศษ ครั้นถึงเวลา ๒.๒๓ น. ของวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ปีเดียวกันท่านก็ได้ถึงมรณภาพด้วยอาการสงบในท่างกลางศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย มีเจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์เป็นต้น สิริชนมายุของท่านอาจารย์ได้ ๗๙ ปี ๙ เดือน ๒๑ วันรวม ๕๖ พรรษา
ซึ่งท่านหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในเวลานั้น ไว้ใน "ประวัติท่านพระอาจารย์มั่นฯ" ไว้ว่า
"องค์ท่าน เบื้องต้นนอนสีหไสยาสน์ คือ นอนตะแคงข้างขวา แต่เห็นว่าท่านจะเหนื่อยเลยค่อย ๆ ดึงหมอนที่หนุนอยู่ ข้างหลัง ท่านออกนิดหนึ่ง เลยกลายเป็นท่านนอนหงายไป พอท่านรู้สึกก็พยายามขยับตัวกลับคืนท่าเดิม แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะหมดกำลัง พระอาจารย์ใหญ่ก็ช่วยขยับหมอนที่หนุนหลังท่านเข้าไป แต่ดูอาการท่านรู้สึกเหนื่อยมาก เลยต้องหยุด กลัวจะกระเทือน ท่านมากไป ดังนั้น การนอนท่านในวาระสุดท้ายจึงเป็นท่าหงายก็ไม่ใช่ ท่าตะแคงข้างขวาก็ไม่เชิง เป็นเพียงท่าเอียง ๆ อยู่เท่านั้น เพราะสุดวิสัย ที่จะแก้ไขได้อีก อาการท่านกำลังดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง บรรดาศิษย์ซึ่งโดยมากมีแต่พระกับเณร ฆราวาสมีน้อย ที่นั่งอาลัยอาวรณ์ ด้วยความหมดหวังอยู่ขณะนั้น ประหนึ่งลืมหายใจไปตาม ๆ กัน เพราะจิตพะว้าพะวังอยู่กับอาการท่าน ซึ่งกำลังแสดง อย่างเต็มที่ เพื่อถึงวาระสุดท้ายของท่านอยู่แล้ว ลมหายใจท่านปรากฏว่า ค่อยอ่อนลงทุกทีและละเอียดไปตาม ๆ กัน ผู้นั่งดู ลืมกระพริบตา เพราะอาการท่านเต็มไปด้วยความหมดหวังอยู่แล้ว ลมค่อยอ่อนและช้าลงทุกทีจนแทบไม่ปรากฏ วินาทีต่อไปลมก็ค่อย ๆ หายเงียบไป อย่างละเอียดสุขุม จนไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า ท่านได้สิ้นไปแล้วแต่วินาทีใด เพราะอวัยวะทุกส่วน มิได้แสดงอาการผิดปกติ เหมือนสามัญชนทั่ว ๆ ไปเคยเป็นกัน ต่างคนต่างสังเกตจ้องมองจนตาไม่กระพริบ สุดท้ายก็ไม่ได้เรื่องพอให้สะดุดใจเลยว่า "ขณะท่านลาขันธ์ ลาโลกที่เต็มไปด้วยความกังวลหม่นหมองคือขณะนั้น " ดังนี้
พอเห็นท่าไม่ได้การ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ พูดเป็นเชิงไม่แน่ใจขึ้นมาว่า "ไม่ใช่ท่านสิ้นไปแล้วหรือ " พร้อมกับยก นาฬิกาขึ้นดูเวลา ขณะนั้นเป็นเวลาตี ๒ นาฬิกา ๒๓ นาที จึงได้ถือเวลามรณภาพของท่าน พอทราบว่าท่านสิ้นไปแล้วเท่านั้น มองดูพระเณรที่นั่งรุมล้อมท่านอยู่เป็นจำนวนมาก เห็นแต่ความโศกเศร้าเหงาหงอย และน้ำตาบนใบหน้าที่ไหลซึมออกมา ทั้งไอทั้งจาม ทั้งเสียงบ่นพึมพำ ไม่ได้ถ้อยได้ความ ใครอยู่ที่ไหน ก็ได้ยินเสียงอุบอิบพึมพำ ทั่วบริเวณนั้น บรรยากาศเต็มไปด้วยความเงียบเหงาเศร้าใจ อย่างบอกไม่ถูก เราก็เหลือทน ท่านผู้อื่นก็เหลือทน ปรากฏว่าเหลือแต่ร่างครอบตัวอยู่เวลานั้น ต่างองค์ต่างนิ่งเงียบไปพักหนึ่ง ราวกับโลกธาตุได้ดับลง ในขณะเดียวกับขณะที่ท่านอาจารย์ลาสมมติคือขันธ์ก้าวเข้าสู่แดนเกษม ไม่มีสมมติความกังวลใด ๆ เข้าไปเกี่ยวข้องวุ่นวายอีก ผู้เขียนแทบหัวอกจะแตกตายไปกับท่านจริง ๆ เวลานั้นทำให้รำพึงรำพัน และอัดอั้นตันใจไปเสียทุกอย่าง ไม่มีทางคิดพอขยับขยายจิตที่กำลังว้าวุ่น ขุ่นเป็นตม เป็นโคลนไปกับการจากไปของท่าน พอให้เบาบางลงบ้าง จากความแสนรัก แสนอาลัยอาวรณ์ที่สุดจะกล่าว ที่ท่านว่าตายทั้งเป็นเห็นจะได้แก่คนไม่เป็นท่าคนนั้นแล
ดวงประทีปที่เคยที่เคยสว่างไสวมาประจำชีวิตจิตใจได้ดับวูบสิ้นสุดลง ปราศจากความอบอุ่นชุ่มเย็นเหมือนแต่ก่อนมา ราวกับว่าทุกสิ่งได้ขาดสะบั้นหั่นแหลกเป็นจุณไปเสียสิ้น ไม่มีสิ่งเป็นที่พึ่งพอเป็นที่หายใจได้เลย มันสุด มันมุด มันด้าน มันตีบตันอั้นตู้ ไปเสียหมดภายในใจ ราวกับโลกธาตุนี้ ไม่มีอะไรเป็นสาระ พอเป็นที่เกาะของจิตผู้กำลังกระหายที่พึ่ง ได้อาศัยเกาะพอได้หายใจ แม้เพียงวินาทีหนึ่งเลย ทั้งที่สัตว์โลกทั่วไตรภพ อาศัยกันประจำภพกำเนิดตลอดมา แต่จิตมันอาภัพอับวาสนาเอาอย่างหนักหนา จึงเห็นโลกธาตุ เป็นเหมือนยาพิษเอาเสียหมดเวลานั้น ไม่อาจเป็นที่พึ่งได้ ปรากฏแต่ท่านพระอาจารย์มั่นองค์เดียว เป็นชีวิตจิตใจ เพื่อฝากอรรถ ฝากธรรม และฝากเป็นฝากตายทุกขณะลมหายใจเลย ......"
ตลอดชีวิตขององค์หลวงปู่ ด้วยความที่ท่านหวัง เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เหตุนั้นท่านจึงไม่อยู่เป็นที่เป็นทางหลักแหล่ง เฉพาะแห่งเดียว เที่ยวไปเพื่อประโยชน์ แก่ชนในสถานที่นั้น ๆ ดังนี้
1. ณ กาลสมัยนั้น (พ.ศ.2447) ท่านอาจารย์มั่น ฯ อยู่วัดเลียบมานาน จึงได้เข้าไปจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม (วัดสระปทุม) กรุงเทพฯ และทางเขาพระงาม จังหวัดลพบุรี
จนถึง พ.ศ.2457 ครั้นแล้วท่านจึงมาหาสหธรรมทางอุบลราชธานี จำพรรษาที่วัดบูรพาในจังหวัดนั้น เมื่อปี พ.ศ.2458 ท่านมีพรรษาได้ 25 พรรษา
2. พ.ศ.2459 จำพรรษาที่ภูผากูด บ้านหนองสูง อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม
3. พ.ศ.2460 จำพรรษาที่บ้านดงปอ "ห้วยหลวง" อำเภอเพ็ญ จ.อุดรธานี
4. พ.ศ.2461 จำพรรษาที่ถ้ำผาบิ้ง จงหวัดเลย
5. พ.ศ.2462 จำพรรษาที่บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
6. พ.ศ.2463 จำพรรษาที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
7. พ.ศ.2464 จำพรรษาที่บ้านห้วยทราย อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม
8. พ.ศ.2465 จำพรรษาที่ตำบลหนองลาด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร
9. พ.ศ.2466 จำพรรษาที่วัดมหาชัย อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำพู
10. พ.ศ.2467 จำพรรษาที่บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
11. พ.ศ.2468 จำพรรษาที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย (วัดอรัญวาสี ปัจจุบัน)
12. พ.ศ.2469 จำพรรษาที่บ้านสามผง อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
13. พ.ศ.2470 จำพรรษาที่บ้านหนองขอน อ.บุง (ปัจจุบัน อ.หัวตะพาน) จังหวัดอำนาจเจริญ
14. พ.ศ.2471 จำพรรษาที่กรุงเทพฯ วัดปทุมวนาราม หรือวัดสระปทุม
15. พ.ศ.2472-2482 จำพรรษาที่จังหวัดเชียงใหม่
16. พ.ศ.2483-2482 จำพรรษาที่วัดโนนนิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
17. พ.ศ.2485 จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคก อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร
18. พ.ศ.2486 จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านนามน อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร
19. พ.ศ.2487 จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคก อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร
20. พ.ศ.2488-2492 จำพรรษาอยู่ที่บ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
มรณภาพ ณ ที่วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2492 เวลา 02.23 น. สิริชนมายุรวมได้ 80 ปี
คัดลอกจาก : http://www.geocities.com/luangpumun/his2.html และ http://www.geocities.com/luangpumun/his3.html
๔ พระธาตุ
หลังองค์หลวงปู่มั่นลาขันธ์เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ จึงได้มี การจัดถวายพระเพลิงศพหลวงปู่ ณ วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนครในวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓ เมื่อถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว อัฐิขององค์หลวงปู่ได้ถูกแบ่งแจกไปตามจังหวัดต่างๆ และประชาชนได้เถ้าอังคารไป
ต่อมาปรากฏว่าอัฐิธาตุขององค์หลวงปู่ที่แจกจ่ายไปยังที่ต่างๆ ก็กลายเป็น พระธาตุไปหมด แม้แต่เส้นผมของท่าน ที่มีผู้เก็บไปบูชา ในที่ต่างๆ ก็กลายเป็น พระธาตุ ได้เช่นเดียวกับอัฐิของท่าน
ปัญหาเรื่องอัฐิหลวงปู่มั่นกลายเป็นพระธาตุนี้ พระธรรมวิสุทธิมงคลหรือ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ศิษย์ขององค์หลวงปู่ รูปหนึ่งได้อธิบายไว้ว่า
"อัฐิพระอรหันต์ก็ดี ของสามัญชนก็ดี ต่างก็เป็นธาตุดินเช่นเดียวกัน การที่อัฐิกลายเป็นพระธาตุได้นั้น ขนอยู่กับใจหรือจิตเป็นสำคัญ อำนาจจิตของพระอรหันต์ ท่านเป็นอริยจิตเป็นจิตที่บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส เครื่องโสมมต่างๆ อำนาจซักฟอกธาตุขันธ์ให้เป็นธาตุบริสุทธิ์ ไปตามส่วนของตน อัฐิจึงกลายเป็นพระธาตุไปได้ แต่อัฐิหรือกระดูกสามัญชนทั่วไป แม้จะเป็นธาตุดินเช่นเดียวกัน แต่จิตสามัญชนทั่วไป เต็มไปด้วยกิเลส จิตไม่มีอำนาจและคุณภาพที่จะซักฟอกธาตุขันธ์ของตนให้บริสุทธิ์ได้
อัฐิจึงจำต้องเป็นสามัญธาตุไปตามวิสัยจิตของคนมีกิเลส จะเรียกไปตามภูมิของจิตภูมิของธาตุว่า อริยจิต อริยธาตุ และสามัญจิต สามัญธาตุ ก็คงไม่ผิด เพราะคุณสมบัติของ
จิต ของธาตุ ระหว่างพระอรหันต์ กับสามัญชน ย่อมแตกต่างกันอย่างแน่นอน ดังนั้นอัฐิ จึงจำเป็นต้องต่างกันอยู่ดี
ผู้สำเร็จอรหันต์ทุกองค์ เวลานิพพาน อัฐิต้องกลายเป็นพระธาตุด้วยกันหมดทั้งสิ้นหรือเปล่านั้น ข้อนี้ยังเป็นเรื่องน่าสงสัย ไม่แน่ใจว่าจะเป็นไปได้อย่างนั้นทุกๆ องค์ เพราะว่าระหว่างกาลเวลาที่บรรจุอรหันต์ จนถึงวันนิพพานนั้น พระอรหันต์แต่ละองค์ มีเวลาสั้นยาว แตกต่างกัน พระอรหันต์ที่บรรลุธรรมวิเศษแล้ว มีเวลาทรงขันธ์อยู่นานปี เวลานิพพานนานถึง อัฐิย่อมมีทาง กลายเป็น พระธาตุ ได้โดยไม่มีปัญหา เพราะระยะเวลาที่ทรงขันธ์อยู่นาน
เช่นเดียวกันกับความสืบต่อแห่งชีวิต ด้วยการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกาย มีลมหายใจเป็นต้น มีการเข้าสมาบัติประจำ อิริยาบถเสมอ ซึ่งเป็นการซักฟอกธาตุขันธ์ให้บริสุทธิ์ไปตามส่วนของตนทุกวันทุกคืนโดยลำดับ
ครั้นถึงเวลานิพพานอัฐิจึงกลายเป็นพระธาตุไป เมื่อผสมกันเข้ากับธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งแผ่กระจายอยู่ทุกอณูบรรยากาศของโลก
ส่วนพระอรหันต์ที่บรรลุอรหัตผลแล้วมิได้ทรงขันธ์อยู่นานเท่าที่ควร เมื่อถึงเวลานิพพาน อัฐิจะกลายเป็นพระธาตุ เหมือนพระอรหันต์ ที่ทรงขันธ์อยู่นานหรือไม่นั้น ยังเป็นปัญหาที่ตอบไม่สนิทใจ
พระอรหันต์ที่เป็นทันธาภิญญา คือผู้รู้ได้ช้าค่อยเป็นค่อยไป เช่น บำเพ็ญไปถึงขั้นอนาคามิผล แล้วติดอยู่นานกว่าจะก้าวขึ้น อรหัตภูมิได้ ต้องพิจารณาท่องเที่ยวไปมา อยู่ในระหว่างอรหัตมรรค กับอรหัตผล จนกว่าจิตจะชำนิชำนาญและมีกำลังเต็มที่จึงผ่านไปได้
ในขณะที่กำลังพิจารณาอยู่ในขั้นอรหัตมรรค เพื่ออรหัตผลนี้ เป็นอุบายวิธีซักฟอกธาตุขันธ์ไปในตัวด้วย เวลานิพพาน อัฐิอาจกลายเป็นพระธาตุได้ ส่วนพระอรหันต์ที่เป็นขิปาภิญญาคือ รู้ได้เร็ว บรรลุอรหันต์ได้เร็ว และนิพพานไปเร็ว พระอรหันต์ประเภทนี้ ไม่แน่ใจว่าอัฐิจะเป็นพระธาตุได้หรือไม่ประการใด เพราะจิตบริสุทธิ์ของท่านเหล่านี้ ไม่มีเวลาทรงและซักฟอกธาตุขันธ์อยู่นานเท่าที่ควร"
๕ ปฏิปทาท่านพระอาจารย์มั่น
"ธุดงควัตรที่ท่านถือปฏิบัติเป็นอาจิณ ๔ ประการ
๑. บังสุกุลิกังคธุดงค์ ถือนุ่งห่มผ้าบังสุกุล นับตั้งแต่วันอุปสมบทมา ตราบจนกระทั่งถึง วัยชรา จึงได้พักผ่อน ให้คหบดีจีวรบ้างเพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ศรัทธานำมาถวาย
๒. บิณฑบาตกังคธุดงค์ ถือภิกขาจารวัตร เที่ยวบิณฑบาต มาฉัน เป็นนิตย์ แม้อาพาธ ไปในละแวกบ้านไม่ได้ ก็บิณฑบาตในเขตวัด บนโรงฉัน จนกระทั่งอาพาธ ลุกไม่ได้ ในปัจฉิมสมัยจึงงดบิณฑบาต
๓. เอกปัตติกังคธุดงค์ ถือฉันในบาตร ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์ จนกระทั่งถึงสมัยอาพาธหนักจึงงด
๔. เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียว เป็นนิตย์ตลอดมา แม้ถึงอาพาธหนักในปัจฉิมสมัยก็มิได้เลิกละ
ส่วนธุดงควัตรนอกนี้ ได้ถือปฏิบัติเป็นครั้งคราว ที่นับว่าปฏิบัติได้มาก ก็คือ อรัญญิกกังคธุดงค์ ถืออยู่ เสนาสนะป่าห่างบ้านประมาณ ๒๕ เส้น หลีกเร้นอยู่ในที่สงัดตามสมณวิสัยเมื่อถึงวัยชราจึงอยู่ใน เสนาสนะ ป่าห่างจากบ้านพอสมควร ซึ่งพอเหมาะกับกำลังที่จะภิกขาจารบิณฑบาตเป็นที่ที่ปราศจากเสียงอื้ออึง ประชาชนยำเกรงไม่รบกวน นัยว่าในสมัยที่ท่านยังแข็งแรง ได้ออกจาริกโดดเดี่ยวแสวงวิเวกไปในดงพงลึกจน สุดวิสัยที่ศิษยานุศิษย์ จะติดตามไปถึงได้ก็มี เช่นในคราวไปอยู่ทางภาคเหนือเป็นต้น ท่านไปวิเวกบนเขาสูง อันเป็นที่อยู่ของพวกมูเซอร์ ยังชาวมูเซอร์ซึ่งพูดไม่รู้เรื่องกันให้บังเกิดศรัทธาในพระศาสนาได้"
พระอริยคุณคุณาธาร วัดเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น เรียบเรียง
"...พ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ท่านพาดำเนินอย่างถูกต้องแม่นยำ ถือเอาธุดงควัตร ๑๓ ("...ธุดงค์ 13 แต่ละข้อ มีความหมายในการปราบปราม กิเลสทุกประเภทได้อย่างอัศจรรย์ ยากที่คาดให้ทั่วถึงได้ดังนี้ 1.บิณฑบาตเป็นวัตร 2.บิณฑบาตตามลำดับบ้าน 3.ไม่รับอาหารที่ตามส่งทีหลัง 4.ฉันในบาตร 5.ฉันหนเดียวในวันหนึ่งๆ 6.ถือผ้าสามผืน 7.ถือผ้าบังสุกุล 8.อยู่รุกขมูลร่มไม้ 9.อยู่ป่า 10.อยู่ป่าช้า 11.อยู่กลางแจ้ง 12.อยู่ในที่เขาจัดให้ 13.ถือไม่อยู่อิริยาบถนอน...") นี้เป็นพื้นเพในการดำเนิน และการประพฤติ

สังเขปประวัติหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

สังเขปประวัติ
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล นับเป็นศิษย์อาวุโสรุ่นแรกสุดของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายอรัญญวาสีในยุคปัจจุบัน
พระเถระที่เป็นสหธรรมิก และมีอายุรุ่นเดียวกันกับหลวงปู่ดูลย์ ได้แก่ หลวงปู่สิงห์
ขนฺตยาคโม วัดป่าสาลวัน จ. นครราชสีมา และหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล
จ. หนองบัวลำภู
ด้วยความปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของหลวงปู่ดูลย์ ท่านจึงมีศิษย์สำคัญๆหลายองค์ ศิษย์รุ่นแรกๆก็มี หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ. สกลนคร หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม จ. อุดรธานี หลวงปู่สาม อกิญฺจโน วัดป่าไตรวิเวก จ. สุรินทร์ และพระเทพสุธาจารย์ (หลวงปู่โชติ คุณสมฺปนฺโน) วัดวชิราลงกรณ์ อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา
สำหรับศิษย์อาวุโสของหลวงปู่ดูลย์ ได้แก่ พระวิสุทธิธรรมรังสี (หลวงพ่อเปลี่ยน โอภาโส) วัดป่าโยธาประสิทธิ์ จ. สุรินทร์ พระชินวงศาจารย์ วัดกระดึงทอง จ. บุรีรัมย์ หลวงพ่อสุวัจน์ สุวโจ วัดถ้ำศรีแก้ว จ. สกลนคร และพระราชวรมุนี วัดบูรพาราม จ. สุรินทร์ เป็นต้น
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เป็นพระอริยเจ้าที่มีคุณธรรมล้ำลึก ท่านเน้นการปฏิบัติภาวนามากกว่าการเทศนาสั่งสอนสำหรับพระสงฆ์และญาติโยมที่เข้าไปกราบนมัสการและขอฟังธรรมะ หลวงปู่มักจะให้ธรรมะสั้นๆ แต่มีความล้ำลึกสูงชั้นเสมอ ท่านจะเทศน์เรื่องจิตเพียงอย่างเดียว โดยจะย้ำให้เราพิจารณาจิตในจิตอยู่เสมอ
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เกิดปีชวด วันที่ ๔ ตุลาคม ๒๔๓๑ ที่บ้านปราสาท ต. เฉนียง อ. เมือง จ. สุรินทร์ ท่านเกิดในตระกูล "เกษมสินธุ์" เป็นบุตรคนหัวปี ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๔ คน
เมื่ออายุ ๒๒ ปี หลวงปู่ได้อุปสมบทที่วัดจุมพลสุทธาวาส อ. เมือง จ. สุรินทร์ โดยมีท่านพระครูวิมลศีลพรต (ทอง) เป็นพระอุปัชฌาย์ ในพรรษาที่ ๖ หลวงปู่ได้เดินทางด้วยเท้าไปจังหวัดอุบลราชธานี พำนักอยู่ที่วัดสุทัศนาราม เพื่อเรียนปริยัติธรรม สอบได้นักธรรมชั้นตรี แล้วเรียนบาลีไวยากรณ์ต่อถึงแปลมูลกัจจายน์ได้
หลวงปู่ได้รู้จักชอบพอกับหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันดีในนามของแม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรม ในสายของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าทำการเผยแผ่ธรรมะในสายพุทโธ จนแพร่หลายมาตราบเท่าทุกวันนี้
ในปีที่ ๒ ที่หลวงปู่ไปพำนักอยู่ใน จ. อุบลราชธานีนั้น หลวงปู่มั่นได้ธุดงค์มาพำนักอยู่
ณ วัดบูรพา ในเมืองอุบลราชธานี หลวงปู่ดูลย์ และหลวงปู่สิงห์ สองสหายผู้ใคร่ธรรม ได้ไปกราบนมัสการและฟังธรรมของพระอาจารย์ใหญ่ เกิดความอัศจรรย์ใจและศรัทธาเป็นที่ยิ่งจึงตัดสินใจเลิกละการเรียนด้านปริยัติธรรม แล้วออกธุดงค์ตามหลวงปู่มั่นต่อไป นับเป็นศิษย์หลวงปู่มั่นในสมัยแรก และได้ร่วมเดินธุดงค์ตามหลวงปู่มั่นไปในที่ต่างๆอยู่นานปี
หลวงปู่ดูลย์เที่ยวธุดงค์หาความวิเวกตามป่าเขานานถึง ๑๙ ปี จึงได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการคณะสงฆ์ให้หลวงปู่เดินทางไปประจำอยู่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อจัดการศึกษาด้านปริยัติธรรม และเผยแผ่ข้อปฏิบัติทางกัมมัฏฐานไปด้วยกัน หลวงปู่จึงได้ไปพำนักอยู่ประจำที่ ที่วัดบูรพาราม อ. เมือง จ. สุรินทร์ มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๗ จวบจนบั้นปลายชีวิตของท่าน
นับตั้งแต่บัดนั้นมา แสงแห่งรัศมีของพระธรรม ทั้งทางปริยัติและทางปฏิบัติ ก็เริ่มฉายแสงรุ่งเรืองตลอดมาโดยหลวงปู่รับภาระทั้งฝ่ายคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ บริหารงานพระศาสนาอย่างเต็มกำลังสามารถ ในปฏิปทาส่วนตัวของท่านนั้นไม่เคยละทิ้งกิจธุดงค์ บำเพ็ญเพียรทางใจอย่างสม่ำเสมอตลอดมา พร้อมทั้งอบรมทางสมาธิภาวนาแก่ผู้สนใจปฏิบัติทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ด้วยเหตุที่หลวงปู่มีเมตตาธรรมสูง จึงช่วยสงเคราะห์บุคคลทั่วไปได้อย่างกว้างขวางโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ
หลวงปู่มีสุขภาพอนามัยดีเป็นเยี่ยม แข็งแรง ว่องไว ผิวพรรณผ่องใส มีเมตตาเป็นอารมณ์ สงบเสงี่ยม เยือกเย็นทำให้ผู้ใกล้ชิด และผู้ได้กราบไหว้ เกิดความเคารพเลื่อมใสศรัทธาอย่างสนิทใจ
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระอริยเจ้าผู้ประเสริฐ ได้ละเสียซึ่งสังขารเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ สิริรวมอายุได้ ๙๖ ปี กับ ๒๖ วัน พระธาตุของท่านได้เก็บรักษาไว้ให้สาธุชนได้สักการะที่พิพิธภัณฑ์กัมมัฏฐาน ในบริเวณวัดบูรพาราม อ. เมือง จ. สุรินทร์

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล2

จิต คือ พุทธะ
พระพุทธเจ้าทั้งปวงและสัตว์โลกทั้งสิ้นไม่ได้เป็นอะไรเลยนอกจากเป็นเพียง ‘จิตหนึ่ง’ นอกจากจิตหนึ่งแล้วไม่ได้มีอะไรตั้งอยู่เลย จิตหนึ่งซึ่งปราศจากการตั้งต้นนี้ เป็นสิ่งซึ่งไม่ได้เกิดขึ้น และไม่อาจจะถูกทำลายได้เลย
มันไม่ใช่สิ่งของมีสีเขียวหรือสีเหลือง และไม่มีทั้งรูป ไม่มีทั้งการปรากฏ มันไม่ถูกนับรวมอยู่ในบรรดาสิ่งต่าง ๆ ที่มีการตั้งอยู่ หรือไม่มีการตั้งอยู่ ไม่อาจจะลงความเห็นว่าเป็นของใหม่หรือของเก่า มันไม่ใช่ของยาว ของสั้น ของใหญ่ ของเล็ก
ทั้งนี้ เพราะมันอยู่เหนือขอบเขต เหนือการวัด เหนือการตั้งชื่อ เหนือการทิ้งร่องรอยไว้ หรือแม้การเปรียบเทียบทั้งหมดทั้งสิ้น
จิตหนึ่งนี้เป็นสิ่งซึ่งเราเห็นว่าตำตาเราอยู่แท้ ๆ แต่จงลองไปใช้เหตุผล (ว่ามันเป็นอะไร เป็นต้น) กับมันเข้าดูซิ เราจักหล่นลงไปสู่ความผิดพลาดทันที สิ่งนี้มันเป็นเหมือนกับของว่าง อันปราศจากขอบทุก ๆ ด้าน ซึ่งไม่อาจหยั่งหรือวัดได้
จิตหนึ่งนี้เท่านั้น เป็นพุทธะ ไม่มีแตกต่างระหว่างพุทธะกับสัตว์โลกทั้งหลาย เพียงแต่ว่าสัตว์โลกทั้งหลายไปยึดมั่นต่อรูปธรรมต่าง ๆ เสีย และเพราะเหตุนั้น เขาจึงแสวงหาพุทธภาวะจากภายนอก การแสวงหาของสัตว์เหล่านั้นนั่นเองทำให้เขาพลาดจากพุทธภาวะ การทำสิ่งนี้เท่ากับการใช้สิ่งซึ่งเป็นพุทธะให้เที่ยวแสวงหาพุทธะ และการใช้จิตให้เที่ยวจับฉวยจิต แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะพยายามถึงสุดความสามารถของเขาอยู่ตั้งกัปหนึ่งเต็ม ๆ เขาก็จะไม่สามารถลุถึงพุทธภาวะได้เลย
เขาไม่รู้ว่า ถ้าเขาเองเพียงแต่หยุดความคิดปรุงแต่ง และหมดความกระวนกระวายเพราะการแสวงหาเสียเท่านั้น พุทธะก็จะปรากฏตรงหน้าเขา เพราะว่าจิตนี้ก็คือพุทธะนั่นเอง พุทธะก็คือสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงนั่นเอง สิ่ง ๆ นี้ในเมื่อปรากฏอยู่ที่สามัญสัตว์ จะเป็นสิ่งเล็กน้อยก็หาไม่ เมื่อปรากฏอยู่ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะเป็นสิ่งใหญ่หลวงก็หาไม่
สำหรับการบำเพ็ญปารมิตาทั้ง ๖ ก็ดี การบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติที่คล้าย ๆ กันอีกเป็นจำนวนมากก็ดี หรือการได้บุญมากมายนับไม่ถ้วน เหมือนจำนวนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาเลยก็ดี เหล่านี้นั้นจงคิดดูเถิด ถ้าเราเป็นผู้สมบูรณ์โดยสัจจะพื้นฐานในทุก ๆ กรณีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นจิตหนึ่ง หรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพุทธะทั้งหลายอยู่แล้ว เราก็ไม่ควรพยายามจะเพิ่มเติมอะไรให้แก่สิ่งซึ่งสมบูรณ์อยู่แล้วนั้น ด้วยการบำเพ็ญวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ซึ่งไร้ความหมายเหล่านั้นไม่ใช่หรือ เมื่อไรโอกาสอำนวยให้ทำก็ทำมันไป และเมื่อโอกาสผ่านไปแล้ว อยู่เฉย ๆ ก็แล้วกัน
ถ้าเรายังไม่เห็นตระหนักอย่างเด็ดขาดลงไปว่าจิตนั้นคือพุทธะก็ดี แล้วเราไปยึดมั่นถือมั่นต่อรูปธรรมต่าง ๆ อยู่ก็ดี ต่อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ อยู่ก็ดี และต่อวิธีการบำเพ็ญบุญกุศลต่าง ๆ อยู่ก็ดี แนวความคิดของเราก็ยังคงผิดพลาดอยู่ ไม่เข้าร่องเข้ารอยกันกับ ‘ทาง’ ทางโน้นเสียเลย
จิตหนึ่งนี้เท่านั้นเป็นพุทธะ ไม่มีพุทธะอื่นใดที่ไหนอีก ไม่มีจิตอื่นใดที่ไหนอีก มันแจ่มจ้าและไร้ตำหนิเช่นเดียวกับความว่าง คือ มันไม่มีรูปร่างและปรากฏการณ์ใด ๆ เลย การใช้จิตของเราปรุงแต่งคิดฝันไปต่าง ๆ นั้นเท่ากับเราละทิ้งเนื้อหาอันเป็นสาระเสีย แล้วไปผูกพันตัวเองอยู่กับรูปธรรมซึ่งเป็นเหมือนกับเปลือก พุทธะซึ่งมีอยู่ตลอดกาลนั้น ไม่ใช่พุทธะของความยึดมั่นถือมั่น
การปฏิบัติปารมิตาทั้ง ๖ และการบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติที่คล้ายคลึงกันอีกเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน ด้วยเจตนาที่จะไปเป็นพุทธะสักองค์หนึ่งนั้น เป็นการปฏิบัติชนิดคืบหน้าทีละขั้น ๆ แต่พุทธะซึ่งมีอยู่ตลอดกาลดังกล่าวแล้วนั้น หาใช่พุทธะที่ลุถึงได้ด้วยการปฏิบัติเป็นขั้น ๆ เช่นนั้นไม่ เรื่องมันเพียงแต่ ‘ตื่น’ และ ‘ลืมตา’ ต่อจิตหนึ่งนั้นเท่านั้น และไม่มีอะไรที่จะต้องบรรลุถึงอะไร นี่แหละคือพุทธะที่แท้จริง พุทธะและสัตว์โลกทั้งหลาย คือ ‘จิต’ จิตหนึ่งนี้เท่านั้น ไม่มีอะไรอื่นนอกไปจากนี้อีกแล้ว
จิตเป็นเหมือนกับความว่าง ซึ่งภายในนั้นย่อมไม่มีความสับสนและความไม่ดีต่าง ๆ ดังจะเห็นได้ในเมื่อดวงอาทิตย์ผ่านไปในที่ว่างนั้น ย่อมส่องแสงไปได้ทั้งสี่มุมโลก เพราะว่าเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น ย่อมให้ความสว่างทั่วทั้งพื้นโลก ความว่างที่แท้จริงนั้น มันก็ไม่ได้สว่างขึ้น และเมื่อพระอาทิตย์ตก ความว่างก็ไม่ได้มืดลง ปรากฏการณ์ของความสว่าง และความมืดย่อมสับเปลี่ยนซึ่งกันและ
กัน แต่ธรรมชาติของความว่างนั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลงอยู่นั่นเอง จิตของพุทธะและของสัตว์โลกทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น
ถ้าเรามองดูพุทธะ ว่าเป็นผู้แสดงออกซึ่งความปรากฏของสิ่งที่บริสุทธิ์ ผ่องใส และรู้แจ้งก็ดี หรือมองดูสัตว์โลกทั้งหลายว่า เป็นผู้แสดงออกซึ่งความปรากฏของสิ่งที่โง่เง่า มืดมน และมีอาการสลบไสลก็ดี ความรู้สึกนึกคิดเหล่านี้ อันเป็นผลเกิดมาจากความคิดยึดมั่นต่อรูปธรรมนั้น จะกันเราไว้เสียจากความรู้อันสูงสุด ถึงแม้ว่าเราจะได้ปฏิบัติมาตลอดกี่กัปนับไม่ถ้วน ประดุจเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาแล้วก็ตาม มีแต่จิตหนึ่งนี้เท่านั้น ไม่มีสิ่งอื่นใดแม้แต่อนุภาคเดียวที่จะอิงอาศัยได้ เพราะจิตนั้นเอง คือ พุทธะ
เมื่อพวกเราเป็นเพียงนักศึกษาเรื่อง ‘ทาง’ ทางโน้น ยังไม่ลืมตาต่อสิ่งซึ่งเป็นสาระ กล่าวคือ ‘จิต’ นี้ พวกเราจะปิดบังจิตนั้นเสีย ด้วยความคิดปรุงแต่งของเราเอง พวกเราจะแสวงหาพุทธะนอกตัวเราเอง พวกเราจะยังคงยึดมั่นถือมั่นต่อรูปธรรมทั้งหลาย ต่อการปฏิบัติเมาบุญต่าง ๆ และสิ่งอื่น ๆ ทำนองนั้น ทั้งหมดนี้เป็นอันตราย ไม่ใช่หนทางอันนำไปสู่ความรู้อันสูงสุดนั้นแต่อย่างใดเลย
เนื้อแท้แห่งสิ่งสูงสุดสิ่งนี้ โดยภายในแล้วย่อมเหมือนกับท่อนไม้หรือก้อนหิน คือภายในนั้นปราศจากการเคลื่อนไหว และโดยภายนอกแล้วย่อมเหมือนกับความว่าง กล่าวคือ ปราศจากขอบเขตหรือสิ่งกีดขวางใด ๆ สิ่งนี้มันไม่ใช่เป็นฝ่ายนามธรรมหรือฝ่ายรูปธรรม มันไม่มีที่ตั้งเฉพาะ ไม่มีรูปร่าง และไม่อาจจะหายไปได้เลย
จิตนี้ไม่ใช่จิตซึ่งเป็นความคิดปรุงแต่ง มันเป็นสิ่งซึ่งอยู่ต่างหาก ปราศจากการเกี่ยวข้องกับรูปธรรมโดยสิ้นเชิง ฉะนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายและสัตว์โลกทั้งปวงก็เป็นเช่นนั้น ถ้าพวกเราเพียงแต่สามารถปลดเปลื้องตนเองออกเสียจากความคิดปรุงแต่งเท่านั้น พวกเราจะประสบความสำเร็จทุกอย่าง
หลักธรรมที่แท้จริงก็คือ ‘จิต’ นั่นเอง ซึ่งถ้านอกไปจากนั้นแล้ว มันก็ไม่มีหลักธรรมใด ๆ เลย จิตนั่นแหละคือหลักธรรม ซึ่งถ้านอกไปจากนั้นแล้วก็ไม่ใช่จิต แต่จิตนั้น โดยตัวมันเองก็ไม่ใช่จิต แต่ถึงกระนั้นมันก็ยังไม่ใช่ มิใช่จิต การที่จะกล่าวว่าจิตนั้นไม่ใช่จิต ดังนี้นั่นแหละ ย่อมหมาย
ความถึงสิ่งบางสิ่งซึ่งมีอยู่จริง สิ่งนี้มันอยู่เหนือคำพูด ขอจงเลิกละการคิดและการอธิบายเสียให้หมดสิ้น เมื่อนั้น เราอาจกล่าวได้ว่า คลองแห่งคำพูดก็ได้ถูกตัดขาดไปแล้ว ‘พฤติของจิต’ ก็ถูกเพิกถอนขึ้นสิ้นเชิงแล้ว
จิตนี้คือพุทธโยนิอันบริสุทธิ์ ซึ่งมีประจำอยู่แล้วในคนทุกคน สัตว์ซึ่งมีความรู้สึกนึกคิด กระดุกกระดิกได้ทั้งหมดก็ดี พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงก็ดี ล้วนแต่เป็นของแห่งธรรมชาติอันหนึ่งนี้เท่านั้น ไม่มีแตกต่างกันเลย ความแตกต่างทั้งหลายเกิดขึ้นจากเราคิดผิด ๆ เท่านั้น ย่อมนำเราไปสู่การก่อสร้างกรรมทั้งหลายทั้งปวงทุกชนิดไม่มีหยุด
ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะดั้งเดิมของเรานั้น โดยความจริงอันสูงสุดแล้ว เป็นสิ่งซึ่งไม่มีความหมายแห่งความเป็นตัวตนแม้แต่สักปรมาณูเดียว สิ่งนั้นก็คือ ‘ความว่าง’ เป็นสิ่งซึ่งมีอยู่ในที่ทุกแห่ง สงบเงียบ และไม่มีอะไรเจือปน มันเป็นสันติสุขที่รุ่งเรืองและเร้นลับ และก็หมดกันเพียงเท่านั้นเอง
จงเข้าไปสู่สิ่ง ๆ นี้ได้ลึกซึ้ง โดยการลืมตาต่อสิ่งนี้ด้วยตัวเราเอง สิ่งซึ่งอยู่ตรงหน้าเรานี้แหละ คือสิ่ง ๆ นั้น ในอัตราที่เต็มที่ทั้งหมดทั้งสิ้น และสมบูรณ์ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรนอกไปจากนี้อีกแล้ว
จิตก็คือพุทธะ (สิ่งสูงสุด) มันย่อมรวมสิ่งทุกสิ่งเข้าไว้ในตัวมันทั้งหมด นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้แล้วทั้งหลายเป็นที่สุดในเบื้องสูง ลงไปจนกระทั่งถึงสัตว์ประเภทที่ต่ำต้อยที่สุด ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานอยู่ด้วยอกและแมลงต่าง ๆ เป็นที่สุดในเบื้องต่ำ สิ่งเหล่านี้ทุกสิ่งนั้นย่อมมีส่วนแห่งความเป็นพุทธะเท่ากันหมด และทุก ๆ สิ่งมีเนื้อหาเป็นอันเดียวกันกับจิตหนึ่งนั้น ดังนั้น สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงได้เป็นสิ่งที่มีเนื้อหาเป็นอันเดียวกันกับพุทธะอยู่แล้วตลอดเวลา
ถ้าพวกเราเพียงแต่สามารถทำความเข้าใจในจิตของเราเองนี้ให้สำเร็จ แล้วค้นพบธรรมชาติอันแท้จริงของเราเองได้ ด้วยความเข้าใจอันนั้นเท่านั้น มันก็จะเป็นที่แน่นอนว่า ไม่มีอะไรที่พวกเราจำเป็นจะต้องแสวงหาแม้แต่อย่างใดเลย
จิตของเรานั้น ถ้าเราทำความสงบอยู่จริง ๆ เว้นขาดจากการคิดนึกซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของจิตแม้แต่น้อยที่สุดเสียให้ได้จริง ๆ ตัวแท้ของมันก็จะปรากฏออกมาเป็นความว่าง แล้วเราก็จะได้พบว่ามันเป็นสิ่งที่ปราศจากรูป มันไม่ได้กินเนื้อที่อะไร ๆ ที่ไหน ๆ แม้แต่จุดเดียว มันไม่ได้ตกลงสู่การบัญญัติว่าเป็นพวกที่มีความเป็นอยู่ หรือว่าไม่มีความเป็นอยู่แม้แต่ประการใดเลย เพราะเหตุที่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เรารู้สึกไม่ได้โดยทางอายตนะ เพราะจิตซึ่งเป็นธรรมชาติที่แท้ของคนเรานั้น มันเป็นครรภ์หรือเป็นกำเนิด ซึ่งไม่ได้มีใครทำให้เกิดขึ้น และไม่อาจจะถูกทำลายได้เลย
ในการทำปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ นั้น มันเปลี่ยนรูปของมันเองออกมาเป็นปรากฏการณ์ต่าง ๆ เพื่อสะดวกในการพูด เราพูดถึงจิตในฐานะที่เป็นตัวสติปัญญา แต่ในขณะที่มันไม่ได้ทำการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม คือไม่ได้เป็นตัวสติปัญญาที่คิดนึก หรือสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมานั้น มันเป็นสิ่งที่ไม่อาจถูกกล่าวถึงในการที่จะบัญญัติว่ามันเป็นความมีอยู่ หรือไม่ใช่ความมีอยู่
ยิ่งไปกว่านั้นอีก แม้ในขณะที่มันทำหน้าที่สร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมา ในฐานะที่ตอบสนองต่อกฎแห่งความเป็นเหตุและผลของกันและกันนั้น มันก็ยังเป็นสิ่งที่เรารู้สึกไม่ได้โดยทางอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมโนทวาร อยู่นั่นเอง ถ้าเราทราบความเป็นจริงข้อนี้ เราทำความสงบเงียบสนิทอยู่ในภาวะแห่งความไม่มีอะไรในขณะนั้น พวกเรากำลังเดินอยู่แล้วในทางแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายโดยแท้จริง ดังนั้น เราควรเจริญจิตให้หยุดอยู่บนความไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น
มูลธาตุทั้ง ๕ ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นวิญญาณนั้น มันเป็นของว่างเปล่า แต่ละมูลธาตุทั้ง ๔ ของรูปกายนั้นไม่ใช่เป็นสิ่งซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นตัวของเรา จิตจริงแท้นั้น ไม่มีรูปร่าง และไม่มีอาการมา ไม่มีอาการไป ธรรมชาติเดิมแท้ของเรานั้นเป็นสิ่ง ๆ หนึ่ง ซึ่งไม่มีการตั้งต้นขึ้นที่การเกิด และไม่มีการสิ้นสุดลงที่การตาย แต่เป็นของสิ่งเดียวรวด และปราศจากการเคลื่อนไหวใด ๆ ในส่วนลึกจริง ๆ ของมันทั้งหมด
จิตของเรากับสิ่งต่าง ๆ ซึ่งแวดล้อมเราอยู่นั้นเป็นสิ่ง ๆ เดียวกัน ถ้าเราสามารถทำความเข้าใจได้ตามนี้จริง ๆ เราจะได้ลุถึงความรู้แจ้งเห็นแจ้งได้โดยแวบเดียวในขณะนั้น และเราเป็นผู้ที่ไม่ต้องข้องเกี่ยวในโลกทั้งสามอีกต่อไป เราจะเป็นผู้อยู่เหนือโลก จะไม่มีการโน้มเอียงไปสู่การเกิดใหม่อีกแม้แต่นิดเดียว เราจะเป็นแต่ตัวของเราเองเท่านั้น ปราศจากความคิดปรุงแต่งโดยสิ้นเชิง และเป็นสิ่ง
ๆ เดียวกับสิ่งสูงสุดสิ่งนั้น และเราจะได้ลุถึงภาวะแห่งความที่ไม่มีอะไรปรุงแต่งได้อีกต่อไป ฉะนั้น นี้แหละคือหลักธรรมะที่เป็นหลักมูลฐานอยู่ในที่นี้
‘สัมมาสัมโพธิ’ เป็นชื่อของการเห็นแจ้งชัดว่าไม่มีธรรมใดเลยที่ไม่เป็นโมฆะ ถ้าเราเข้าใจความจริงข้อนี้แล้ว ของหลอกลวงทั้งหลายจะมีประโยชน์อะไรแก่เรา
ปรัชญาก็คือความรู้แจ้ง ความรู้แจ้งคือจิตต้นกำเนิดดั้งเดิมซึ่งปราศจากรูป ถ้าเราสามารถทำความเข้าใจได้ ผู้กระทำและสิ่งที่ถูกกระทำคือจิตและวัตถุ เป็นของสิ่งเดียวกันนั่นแหละ จะนำเราไปสู่ความเข้าใจอันลึกซึ้ง และลึกลับเหนือคำพูด และโดยความเข้าใจอันนี้เอง พวกเราจะได้ลืมตาต่อสัจธรรมที่แท้จริงด้วยตัวเราเอง
สัจธรรมที่แท้จริงของเรานั้น มันไม่ได้หายไปจากเรา แม้ในขณะที่เรากำลังหลงผิดอยู่ด้วยอวิชชา และไม่ได้รับกลับมาในขณะที่เรามีการตรัสรู้ มันเป็นธรรมชาติแห่งภูตตถตา ในธรรมชาตินี้ไม่มีทั้งอวิชชา ไม่มีทั้งสัมมาทิฏฐิ มันเต็มอยู่ในความว่าง และเป็นเนื้อหาอันแท้จริงของจิตหนึ่งนั้น เมื่อเป็นดังนั้นแล้ว อารมณ์ต่าง ๆ ที่จิตของเราได้สร้างขึ้น ทั้งฝ่ายนามธรรมและฝ่ายรูปธรรม จะเป็นสิ่งซึ่งอยู่ภายนอกของความว่างนั้นได้อย่างไร
โดยหลักมูลฐานแล้ว ความว่างนั้นเป็นสิ่งซึ่งปราศจากมิติต่าง ๆ แห่งการกินเนื้อที่ คือปราศจากกิเลส ปราศจากกรรม ปราศจากอวิชชา และปราศจากสัมมาทิฏฐิ พวกเราต้องทำความเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้งว่า โดยแท้จริงแล้ว ไม่มีอะไรเลย ไม่มีมนุษย์สามัญ ไม่มีพุทธะทั้งหลาย เพราะว่าในความว่างนี้ ไม่มีอะไรบรรจุอยู่แม้เท่าเส้นขนที่เล็กที่สุด อันจะเป็นสิ่งซึ่งจะมองเห็นได้โดยทางมิติ หรือกฎแห่งการกินเนื้อที่เลย มันไม่ต้องอาศัยอะไร และไม่ติดเนื่องอยู่กับสิ่งใด มันเป็นความงามที่ไร้ตำหนิ เป็นสิ่งซึ่งมีอยู่ได้โดยตัวมันเอง และเป็นสิ่งสูงสุดที่ไม่มีอะไรสร้างขึ้น มันเป็นเพชรพลอยที่อยู่เหนือการตีค่าทั้งปวงเสียจริง ๆ
เราต้องแยกรูปถอดด้วยวิชชามรรคจิต เหตุต้องละ ผลต้องละใช้ หนี้ก็หมด พ้นเหตุเกิด
สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตในจักรวาล มีนับไม่ถ้วนรวมแล้วมีรูปกับนาม สองอย่างเท่านั้น นามเดิมก็คือความว่างของจักรวาลเข้าคู่กัน เป็นเหตุเกิดตัวอวิชชา เกิดเหตุก่อ ที่ใดมีรูปที่นั้นต้องมีนาม ที่ใดมีนามที่นั้นต้องมีรูป รูปนามรวมกันเป็นเหตุเกิดปฏิกิริยา ให้เปลี่ยนแปลงตลอดกาล และเกิดกาลเวลาขึ้น คือรูปย่อมมีความดึงดูดซึ่งกันและกัน จึงเป็นเหตุให้รูปเคลื่อนไหว และหมุนรอบตัวเองตามปัจจัย รูปเคลื่อนไหวได้ ต้องมีนาม ความว่างคั่นระหว่างรูป รูปจึงเคลื่อนไหวได้
เมื่อสภาวธรรมเป็นอย่างนี้ สรรพสิ่งของวัตถุสสารมีชีวิตและไม่มีชีวิต จึงต้องเปลี่ยนแปลงเป็นไตรลักษณ์ เกิด ดับสืบต่อทุกขณะจิต ไม่มีวันหยุดนิ่งให้คงทนเป็นปัจจุบันทุกยามได้
จิตวิญญาณก็เกิดมาจากรูปนามของจักรวาล เพราะเป็นมายาหลอกลวงแล้วเปลี่ยนแปลงให้คนหลง จากรูปนามไม่มีชีวิต เปลี่ยนมาเป็นรูปนามมีชีวิต จากรูปนามมีชีวิต มาเป็นรูปนามมีชีวิตที่มีจิตวิญญาณ แล้วจิตวิญญาณก็เปลี่ยนแปลงแยกออกจากกันไป คงเหลือแต่นามว่างที่ปราศจากรูป นี้เป็นจุดสุดยอดของการหลอกลวงของรูปนาม
ต้นเหตุเกิดรูปนามของจักรวาล เป็นเหตุเกิดรูปนามพิภพต่าง ๆ ตลอดดวงดาวอันนับไม่ถ้วน เพราะไม่มีที่สิ้นสุด รูปนามพิภพต่าง ๆ เป็นเหตุให้เกิดรูปนามพืช รูปนามพืชเป็นเหตุให้เกิดรูปนามสัตว์เคลื่อนไหวได้ จึงเรียกกันว่าเป็นสิ่งมีชีวิต
ความจริงรูปนามจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตมันก็เคลื่อนไหวได้ เพราะมีรูปกับนามเป็นเหตุเป็นผลให้เกิดปฏิกิริยาอยู่ในตัว ให้เคลื่อนไหวตลอดกาลและเปลี่ยนแปลง เพราะมองด้วยตาเนื้อไม่เห็น จึงเรียกกันว่าเป็นสิ่งไม่มีชีวิต
เมื่อรูปนามของพืชเปลี่ยนมาเป็นรูปนามของสัตว์ เป็นจุดตั้งต้นชีวิตของสัตว์ และเป็นเหตุให้เกิดจิตวิญญาณ การแสดงเคลื่อนไหวเป็นเหตุให้เกิดกรรม
สัตว์ชาติแรกมีแต่สร้างกรรมชั่ว สัตว์กินสัตว์ และความโกรธ โลภ หลง ตามเหตุปัจจัยภายนอกภายในที่มากระทบ กรรมที่สัตว์แสดงมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ๕ อย่าง ไปกระทบกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ๕ อย่าง แล้วก็เข้ามาประทับ บรรจุ บันทึก ถ่ายภาพ ติดอยู่กับรูปปรมาณู ซึ่ง
เป็นสุขุมรูป แฝงอยู่ในความว่าง เราไม่สามารถมองเห็นด้วยตาได้ ที่แฝงอยู่ในความว่างคั่นระหว่างตา หู จมูก ลิ้น กายนั้นไว้ได้หมดสิ้น
เมื่อสัตว์ชาติแรกเกิดนี้ได้ตายลง มีกรรมชั่วอย่างเดียวเป็นเหตุให้สัตว์ต้องเกิดอีก เพื่อให้สัตว์ต้องใช้หนี้เกิด กรรมชั่วที่ได้ทำไว้ แต่สัตว์เกิดขึ้นมาแล้วหายอมใช้หนี้เกิดกันไม่ มันกลับเพิ่มหนี้ให้เป็นเหตุเกิดทวีคูณจนปัจจุบันชาตินี้
ดังนั้น ด้วยอำนาจกรรมชั่วที่พวกสัตว์ติดอยู่ในสุขุมรูป ๕ กอง ตลอดเพศผู้เมีย เป็นสุขุมรูปที่ติดอยู่ใน ๕ กองนั้น ก็เกิดหมุนรวมกันเข้าเป็นรูปปรมาณูกลม คงรูปอยู่ได้ด้วยการหมุนรอบตัวเอง มิหยุดนิ่ง เป็นคูหาให้จิตได้อาศัยอยู่ในข้างใน เรียกว่า ‘รูปวิญญาณ’ หรือจะเรียกว่า ‘รูปถอด’ ก็ได้ เพราะถอดมาจากนามว่าง ภาวะคั่นรูปหยาบนั่นเอง ซึ่งเป็นสุขุมรูปแฝงอยู่ในความว่าง รูปวิญญาณจึงมีชีวิตอยู่ คงทนอยู่ยืนนานกว่ารูปหยาบ มีกรรมชั่วคอยรักษาให้หมุนคงรูปอยู่ ๑ ไม่มีเทพเจ้าองค์ใดฆ่าให้ตายได้ นอกจากนิพพานเท่านั้น รูปวิญญาณจึงจะสลาย ๑
เรื่องการแสดงกรรมของสัตว์ที่ประทับติดอยู่ในสุขุมรูป ตา หู จมูก ลิ้น กาย ๕ กองนั้น รวมกันเข้าเรียกว่า ‘จิต’ จึงมี ‘สำนักงานของจิต’ ติดอยู่ในวิญญาณ ๕ กอง รวมเป็นที่ทำงานของจิตกลาง และก็ติดต่อกับ ตา หู จมูก ลิ้น กายภายนอก ซึ่งเป็นสื่อติดต่อของจิต ดังนั้น ‘จิต’ กับ ‘วิญญาณ’ จึงไม่เหมือนกัน จิตเป็นตัวรู้นึกคิด ส่วนวิญญาณเป็นคูหาให้จิตได้อาศัยอยู่ และเป็นยานพาหนะพาจิตไปเกิด หรือจะไปไหน ๆ ก็ได้ เป็นชีวิต...รูปสุขุม๒ รูปที่ถอดมาจากรูปหยาบ มีรูปเพศผู้เมีย รูปตา หู จมูก ลิ้น กาย อยู่ในวิญญาณไว้ ได้เป็นเหตุเกิดสืบต่อภพชาติต่อไป
เมื่อสัตว์ตาย ชีวิตร่างกายหยาบของภพชาตินั้น ๆ ก็หมดไปตามอายุขัยชีวิตร่างกายหยาบของภพภูมิชาตินั้น ๆ ส่วนชีวิตแท้ รูปปรมาณู วิญญาณ จะไม่ตายสลายตาม จะต้องไปเกิดตามภพภูมิต่าง ๆ ตามเหตุปัจจัย มันเป็นวัฏฏะ หมุนเวียนเปลี่ยนไป โดยชีวิตแท้รูปถอดหรือวิญญาณหมุนรอบตัวเองนี้เอง เป็นเหตุให้จิตเกิดดับสืบต่อคอยรับเหตุการณ์ภายนอกภายในที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น
๑ เป็นส่วนที่มีอยู่ในต้นฉบับเดิมจากการถอดเทปครั้งแรก โดย ดร. ดาราวรรณ เด่นอุดม เมื่อ กรกฎาคม ๒๕๒๖ แต่ข้อความส่วนนี้ในไฟล์เสียงที่เป็นต้นฉบับในการถอดความครั้งนี้ขาดหายไป
๒ ส่วนที่เป็นจุดไข่ปลา คือ ส่วนที่ไม่สามารถถอดความจากไฟล์เสียงได้
กาย ใจ แล้วจิตก็เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยที่มากระทบ จะดีหรือชั่วก็สะสมเข้าไว้เป็นทุนเหตุเกิด เหตุดับ หรือปรุงแต่งต่อไป จนกว่ากรรมชั่วเหตุเกิดจะหมดไป ชีวิตรูปถอดหรือวิญญาณก็จะหยุดการหมุน รูปสุขุมรูปวิญญาณซึ่งเกิดมาจากกรรมชั่ว สืบต่อมาแต่ชาติแรกเกิด ก็จะสลายแยกออกจากกันไป คงรูปอยู่ไม่ได้ มันก็กระจายไป ส่วนกิจกรรมดี ธรรมะที่ติดอยู่กับวิญญาณ มันก็กระจายไปกับรูปปรมาณู คงเหลือแต่ความว่างที่คั่นช่องว่างของรูปปรมาณูทุก ๆ ช่อง ฉะนั้น โดยปราศจากรูปปรมาณู ความว่างนั้นจึงบริสุทธิ์และสว่าง รวมเข้ากับความว่าง บริสุทธิ์ สว่าง ของจักรวาลเดิม เข้าเป็นหนึ่ง เรียกว่านิพพาน
เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ พระองค์สร้างชีวิตพระพุทธศาสนา ให้ก่อเกิดเป็นชีวิตอย่างบริบูรณ์ดังพระประสงค์แล้ว พระพุทธองค์จึงได้ละวิภวตัณหานั้น เสด็จสู่อนุปาทิเสสนิพพาน คือเป็นผู้หมดสิ้นทุกตัณหา เป็นผู้ดับรอบ โดยลักษณาการแห่งอนุปาทิเสสนิพพานของพระพุทธองค์ก็คือ ลำดับแรก ก็ทรงเจริญฌานดิ่งสนิทเข้าไปจนถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ หมายความว่า เข้าไปดับลึกสุดอยู่เหนืออรูปฌาน
ในวาระแรกนั้น พระองค์ยังไม่ได้ดับขันธ์ต่าง ๆ ให้สิ้นสนิทเป็นเด็ดขาดแต่อย่างใด ยังเพียงเข้าไปเพื่อทรงกระบวนการแห่งการสู่นิพพาน หรือนิโรธ เป็นครั้งสุดท้ายแห่งชีวิต พูดง่าย ๆ ก็คือสู่สิ่งที่พระองค์ได้สร้าง ได้พากเพียรก่อเป็นทาง เป็นแบบอย่างไว้ เป็นครั้งสุดท้ายเสียหน่อย ซึ่งเรียกได้ว่าสิ่งอันเกิดมาจากที่พระองค์ได้ยอมอยู่กับธุลีทุกข์ อันเป็นธุลีทุกข์ที่มนุษย์ธรรมดาผู้มีจิตหยาบเกินกว่าจะสัมผัสมันว่าเป็นทุกข์
และกระบวนการกระทำจิตตนให้ถึงซึ่งสัญญาเวทยิตนิโรธนี้นั้น เป็นกระบวนการที่พระอนุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า พระผู้เป็นยอดแห่งศาสดาในโลกเท่านั้นที่ทรงค้นพบ ทรงนำมาตีแผ่เผยแจ้งออกสู่สัตว์โลกให้พึงปฏิบัติตาม เมื่อทรงสิ่งซึ่งสุดท้ายนี้แล้ว จึงได้ถอยกลับมาสู่ภาวะต้นคือปฐมฌาน แล้วจึงได้ตัดสินพระทัยสุดท้ายเสด็จดับขันธ์ต่าง ๆ ไปทีละขันธ์ วิญญาณขันธ์ในชีวิตและร่างกายนั้นได้ดับไปเสียตั้งแต่ก่อนจะเข้าสู่ปฐมฌานนานแล้ว เพราะต้องดับสังขารขันธ์และสังขารธรรมชั้นแรกเสียก่อน วิญญาณขันธ์จึงได้ดับ ดังนั้น จึงไม่มีเชื้อใดเหลืออยู่แห่งวิญญาณขันธ์ที่หยาบนั้น
๑ เป็นส่วนที่มีอยู่ในต้นฉบับเดิมจากการถอดเทปครั้งแรก โดย ดร. ดาราวรรณ เด่นอุดม เมื่อ กรกฎาคม ๒๕๒๖ แต่ข้อความส่วนนี้ในไฟล์เสียงที่เป็นต้นฉบับในการถอดความครั้งนี้ขาดหายไป
พระองค์เริ่มดับสังขารขันธ์หรือสังขารธรรมชั้นใน อันจะส่งผลให้ก่อเกิดวิภวตัณหาได้แล้วชั้นหนึ่งเสียก่อน จึงได้เลื่อนขึ้นสู่ทุติยฌาน แล้วจึงดับสัญญาขันธ์เลื่อนขึ้นสู่ตติยฌาน เมื่อพระองค์ดับสังขารขันธ์หรือสังขารธรรมชั้นในสุดอีกที ก็เป็นอันเลื่อนขึ้นสู่จตุตถฌาน คงมีแต่เวทนาขันธ์สุดท้ายแห่งชีวิต นั่นคือลักษณาการแห่งชั้นสุดท้ายของการจะดับสิ้นไม่เหลือ
เมื่อพระองค์ดับสังขารขันธ์หรือสังขารธรรมใหญ่สุดท้ายที่มีอยู่ทั้งสิ้นแล้ว ก็มาดับเวทนาขันธ์ อันเป็นจิตขันธ์ หรือนามขันธ์ที่มีจิตส่วนใน คือภวังคจิตเสียก่อน แล้วจึงได้ออกจากจตุตถฌาน พร้อมกับมาดับจิตขันธ์หรือนามขันธ์สุดท้ายจริง ๆ ของพระองค์เสียลงเพียงนั้น
นี่ พระองค์เข้าสู่นิพพานอยู่ตรงนี้ นั่นคือพระองค์ดับเวทนาขันธ์ในภาวะจิตตื่น หรือวิถีจิตอันเป็นปรกติของมนุษย์ ครบพร้อมทั้งสติและสัมปชัญญะ ไม่ได้ถูกภาวะอื่นใดครอบงำ เป็นภาวะจงใจ ไม่ถูกภาวะใดครอบคลุมอำพรางให้หลงใหลใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นภาวะแห่งตนเองอย่างบริบูรณ์
เมื่อเวทนาขันธ์สุดท้ายแท้ ๆ จริง ๆ ได้ถูกทำลายลงอย่างสนิท จึงเป็นผู้บริสุทธิ์ หมดสิ้นแล้วซึ่งสังขารธรรม และหมดเชื้อจิตขันธ์หรือนามขันธ์ทั้งปวงใด ๆ ในพระองค์ท่าน ไม่มีเหลือ คงทิ้งแต่รูปขันธ์อันจะมีชีวิตนั้นไม่ได้แน่ เพราะรูปไม่ใช่ชีวิต หากสิ้นนามเสียแล้วก็คือแท่ง ก็คือก้อนวัตถุหนึ่งนั้นเท่านั้นเอง
นั่นแล คือ ลำดับฌาน ที่พระอนุรุทธเถระเจ้าได้นำฌานจิตเข้าไปดู เป็นวิธีการดับโดยแท้ ดับโดยตรง โดยพระองค์เป็นผู้ดับเองเสียด้วย
คำสอนของพุทธะทั้งหมดในวัฏฏ์นี้ ก็คือการเพาะให้พุทธจิตนั้นผลิออกมาให้เราปรากฏเห็นเท่านั้นเอง เพียงแต่เราทำให้มันว่างจากความคิดปรุงแต่งต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่นำไปสู่การเกิดและการดับอยู่ตลอดกาล และนำไปสู่ความทุกข์เดือดร้อนใจของสัตว์โลก และโลกอื่นไปจริง ๆ เท่านั้น เราก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีวิธิปฏิบัติเพื่อการตรัสรู้และหาทางออกทั้งหลายทั้งสิ้นเลย
คำสอนของพุทธะทั้งหมดมีวัตถุประสงค์ข้อนี้เพียงข้อเดียว คือพาพวกเราข้ามขึ้นให้พ้นเสียจากภูมิแห่งความคิด บัดนี้ถ้ารีดความคิด หรือหยุดความคิดของเราได้สำเร็จแล้ว ประโยชน์อะไรด้วยธรรมทั้งหลายที่พุทธะได้สอนไว้ มันหมายถึงสามารถปฏิบัติจนหยุดคิดของความคิดปรุงแต่งต่าง ๆ เสียได้ ไม่มีอะไรสามารถปรุงให้จิตคิดไปตามอำนาจกิเลสตัณหาได้อีกต่อไป เป็นจิตที่ว่างจากสิ่งปรุงแต่งและความคิดทั้งปวง นั่นแหละเป็นตัวธรรม หรือพุทธะ หรือธรรมชาติเดิมแท้อยู่ในความเป็นเช่นนั้น เพราะเรานั้น ถ้าเราสามารถทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งแล้ว คำพูดของมนุษย์ไม่สามารถหว่านล้อม หรือเปิดเผยมันได้ ความตรัสรู้คือความไม่มีอะไรให้ระลึกถึง ผู้ถึงได้ก็ไม่พูดแล้ว ไม่พูดว่าเขารู้อะไร เพราะสิ่งนี้มันอยู่เหนือคำพูด๓
๓ การจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ครั้งแรกไม่มีข้อความในสองย่อหน้าสุดท้าย แต่ในไฟล์เสียงที่เป็นต้นฉบับในการถอดความครั้งนี้มีข้อความดังกล่าวอยู่ด้วย