วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ประวัติย่อ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

ประวัติย่อ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ณ วัดภูริทัตตถิรวาส เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2413 ที่บ้านคำบง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ในสกุลแก่นท้าว เป็นตะกูลนักรบ เพียแก่นท้าวเป็นปู่ ปู่เคยผ่านศึกทุ่งเชียงขวาง นายคำด้วงเป็นบิดา นางจันทร์เป็นมารดา นับถือพระพุทธศาสนาตลอดมา บุคลิกลักษณะ ร่างเล็ก ผิวขาวแดง คล่องแคล่ว ว่องไว สติปัญญาเฉลียวฉลาด มีความประพฤติ อัธยาศัยเรียบร้อย ชอบศึกษาธรรมะ รักในเพศนักบวชประจำนิสัย อุปสมบทอายุ 22 ปี ที่วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี พระอริยกวีเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสีทาเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณเป็นอนุศาสนาจารย์ ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามเบื้องยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) เดินธุดงค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะแรก 24 พรรษา บั้นปลายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 พรรษา ที่วัดป่าบ้านหนองผือ 5 พรรษา (2487-2492) มรณะภาพ 2492 ที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร อายุ 80 ปี

หลวงปู่มั่น ภูริทัตตมหาเถระ (1)
๑ ชาติกำเนิดและการอุปสมบท
ท่าน กำเนิดในสกุลแก่นแก้ว บิดาชื่อคำด้วง มารดาชื่อจันทร์ เพียแก่นท้าวเป็นปู่ นับถือพุทธศาสนา เกิดวันพฤหัสบดีเดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๐ เดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานีมีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๗ คน ท่านเป็นบุตรคนหัวปีท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวขาวแดงแข็งแรงว่องไวสติปัญญาดีมาตั้งแต่กำเนิดฉลาดดี
เป็นผู้ว่านอนสอนง่ายได้เรียนอักขรสมัยในสำนักของอา คือเรียนอักษรไทยน้อย อักษรไทย อักษรธรรมและอักษรขอมอ่านออกเขียนได้นับว่าท่านเรียนได้รวด เร็ว เพราะมีความทรงจำดี และมีความขยันหมั่นเพียรชอบการเล่าเรียนศึกษา
เมื่อ ท่านอายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชา เป็นสามเณรในสำนักวัดบ้านคำบง ใครเป็นบรรพชาจารย์ไม่ปรากฏ ครั้นบวชแล้วได้ศึกษาหาความรู้ทางพระศาสนามีสวดมนต์และสูตรต่างๆ ในสำนักบรรพชาจารย์ จดจำได้รวดเร็ว อาจารย์เมตตาปรานีมาก เพราะ เอาใจใส่ในการเล่าเรียนดี ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้
เมื่อ อายุท่านได้ ๑๗ ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยการงานทางบ้านท่านก็ได้ลาสิกขาออกไปช่วยงาน ของบิดามารดาเต็มความสามารถ ท่านเล่าว่าเมื่อลาสิกขาไปแล้วยังคิดที่จะบวชอีกอยู่เสมอไม่ลืมเลย คงเป็นเพราะอุปนิสัยในทางบวชมาแต่ก่อนอย่างหนึ่งอีกอย่าง หนึ่งเพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า
พระอริยกวี ( อ่อน ) พระอุปฌาย์ของหลวงปู่
"เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก"
พระครูวิเวกพุทธกิจ หลวงปู่เสาร์ กันตสีลมหาเถร พระอาจารย์กรรมฐาน
คำสั่ง ของยายนี้ คอยสะกิดใจอยู่เสมอ ครั้นอายุท่านได้ ๒๒ ปี ท่านเล่าว่ามีความอยากบวชเป็นกำลัง จึงอำลาบิดา มารดาบวชท่านทั้งสองก็อนุญาตตามประสงค์ท่านได้
เข้าศึกษาในสำนักพระอาจารย์เสาร์ ( หลวงปู่เสาร์ ) กันตสีโล วัดเลียบ เมืองอุบล จังหวัดอุบลราชธานี
อุปสมบท เป็นภิกษุภาวะในพุทธศาสนา ณ วัดศรีทอง(วัดศรีอุบลรัตนาราม)อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระ อุปฌายะ พระครูสีทาชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ ( สุ่ย ) เป็นพระอนุสาวนาจารย์เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๖
พระอุปัชฌายะขนานนามมคธให้ว่า "ภูริทัตโต" แปลว่า "ผู้ให้ปัญญา ผู้แจกจ่ายความฉลาด" เสร็จอุปสมบทกรรมแล้ว ได้กลับมาศึกษาวิปัสสนาธุระกับพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ณ วัดเลียบต่อไป เมื่อแรกอุปสมบทท่านพำนักอยู่วัดเลียบ โดยได้เรียนกรรมฐานจากพระอาจารย์เสาร์เมื่องอุบลเป็นปกติ และได้ออกไปอาศัยอยู่วัดบูรพาราม เมือง อุบลราชธานีเป็นครั้งคราว
ใน ระหว่างนั้นได้ศึกษาข้อปฏิบัติเบื้องต้น อันเป็นส่วน แห่งพระวินัย คือ อาจาระความประพฤติมารยาท อาจริยวัตร และอุปัชฌายวัตรปฏิบัติได้เรียบร้อยดีจนเป็นที่ไว้วางใจของพระอุปัชฌาจารย์ และได้ศึกษาข้อปฏิบัติอบรมจิตใจคือเดินจงกรมนั่งสมาธิกับการสมาทานธุดงควัตรต่างๆ
คัดลอกจาก : http://www.geocities.com/luangpumun/his1.html
๒ บำเพ็ญเพียร
ใน สมัยต่อไปได้แสวงหาวิเวกบำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่างๆ ตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฏที่แจ้ง หุบเขา ซอกเขา ห้วย ธารเขา เงื้อมเขา ท้องถ้ำ เรือนว่างทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้าง ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง แล้วลงไปศึกษากับนักปราชญ์ทางกรุงเทพ จำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนาราม หมั่นไปสดับธรรมเทศนากับเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ( จันทร์ ) ๓ พรรษา แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือถ้ำสาริกา เขาใหญ่ นครนายก ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงามและถ้ำสิงห์โตลพบุรีจนได้รับความรู้แจ่มแจ้งในพระธรรมวินัย สิ้นความสงสัยในสัตถุศาสนา จึงกลับมาภาคอีสานทำการอบรม
สั่งสอนสมถวิปัสสนา แก่สหธรรมิกและอุบาสกอุบาสิกาต่อไป มีผู้เลื่อมใสปฏิบัติตามมากขึ้นโดยลำดับ มีศิษยานุศิษย์แพร่หลายกระจายทั่วภาคอีสาน
ในกาลต่อมาได้ลงไปพักจำพรรษาที่วัดประทุมวนาราม กรุงเทพฯ อีก ๑ พรรษาแล้ว ไปเชียงใหม่ กับเจ้าพระคุณอุบาลี ( จันทร์ ) จำพรรษาวัดเจดีย์หลวง ๑ พรรษาแล้วออก ไปพักตามที่วิเวกต่างๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้นๆนานถึง ๑๑ ปี จึงได้กลับมาจังหวัดอุบลราชธานีพักจำพรรษาอยู่ที่วัดโนนนิเวศน์เพื่ออนุเคราะห์สาธุชนในที่นั้น ๒ พรรษาแล้วมาอยู่ในเขตจังหวัดสกลนครจำพรรษาที่วัดป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมืองสกลนคร ( ปัจจุบันคืออำเภอ โคกศรีสุพรรณ ) ๓ พรรษา จำพรรษาที่วัดป่าหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม ๕ พรรษาเพื่อสงเคราะห์สาธุชนในถิ่นนั้น มีผู้สนใจในธรรมปฏิบัติได้ติดตามศึกษา อบรมจิตใจมากมาย ศิษยานุศิษย์ของท่านได้แพร่กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ยังเกียรติคุณของท่านให้ฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไป
๓ ปัจฉิมวัย
ใน วัยชรานับแต่ พ.ศ.๒๔๘๔ เป็นต้นมาท่านหลวงปู่มั่นมาอยู่ที่จังหวัดสกลนคร เปลี่ยนอิริยาบถ ไปตามสถานที่วิเวกผาสุกวิหารหลายแห่ง คือ เสนาสนะป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง ( ปัจจุบันเป็นอำเภอโคกศรีสุพรรณ ) บ้าง แถวนั้นบ้าง
ครั้น พ.ศ. ๒๔๘๗ จึงย้ายไปอยู่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จนถึงปีสุดท้ายแห่งชีวิต ตลอดเวลา ๘ ปีในวัยชรานี้ท่านได้เอาธุระอบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์ทางสมถวิปัสสนาเป็นอันมาก ได้มีการเทศนาอบรมจิตใจศิษยานุศิษย์เป็นประจำวันศิษย์ผู้ใกล้ชิด ได้บันทึกธรรมเทศนาของท่านไว้และได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นเผยแพร่แล้วให้ชื่อว่า "มุตโตทัย"
มาถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีที่ท่านมีอายุย่างเข้า ๘๐ ปี ท่านเริ่มอาพาธเป็นไข้ ศิษย์ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด ก็ได้เอาธุระรักษาพยาบาล ไปตามกำลังความสามารถ อาการอาพาธก็สงบไปบ้างเป็นครั้งคราวแต่แล้วก็กำเริบขึ้นอีก เป็นเช่นนี้เรื่อยมา จนจวนออกพรรษา อาพาธก็กำเริบมากขึ้น ข่าวนี้ได้กระจายไปโดยรวดเร็ว พอออกพรรษา ศิษยานุศิษย์ผู้อยู่ใกล้ไกล ต่างก็ทยอยกันเข้ามา ปรนนิบัติ พยาบาล ได้เชิญหมอแผนปัจจุบันมา
ตรวจ และรักษาแล้วนำมาพักที่เสนาสนะป่าบ้านภู่ อำเภอพรรณานิคม เพื่อสะดวกแก่ผู้รักษา และศิษยานุศิษย์ที่จะมาเยี่ยมพยาบาล อาการอาพาธมีแต่ทรงกับทรุดลงโดยลำดับ ครั้น เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้นำท่านมาพักที่วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง เมืองสกลนคร โดยพาหนะรถยนต์ของแขวงการทางมาถึงวัดเวลา ๑๒.๐๐น. เศษ ครั้นถึงเวลา ๒.๒๓ น. ของวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ปีเดียวกันท่านก็ได้ถึงมรณภาพด้วยอาการสงบในท่างกลางศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย มีเจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์เป็นต้น สิริชนมายุของท่านอาจารย์ได้ ๗๙ ปี ๙ เดือน ๒๑ วันรวม ๕๖ พรรษา
ซึ่งท่านหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในเวลานั้น ไว้ใน "ประวัติท่านพระอาจารย์มั่นฯ" ไว้ว่า
"องค์ท่าน เบื้องต้นนอนสีหไสยาสน์ คือ นอนตะแคงข้างขวา แต่เห็นว่าท่านจะเหนื่อยเลยค่อย ๆ ดึงหมอนที่หนุนอยู่ ข้างหลัง ท่านออกนิดหนึ่ง เลยกลายเป็นท่านนอนหงายไป พอท่านรู้สึกก็พยายามขยับตัวกลับคืนท่าเดิม แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะหมดกำลัง พระอาจารย์ใหญ่ก็ช่วยขยับหมอนที่หนุนหลังท่านเข้าไป แต่ดูอาการท่านรู้สึกเหนื่อยมาก เลยต้องหยุด กลัวจะกระเทือน ท่านมากไป ดังนั้น การนอนท่านในวาระสุดท้ายจึงเป็นท่าหงายก็ไม่ใช่ ท่าตะแคงข้างขวาก็ไม่เชิง เป็นเพียงท่าเอียง ๆ อยู่เท่านั้น เพราะสุดวิสัย ที่จะแก้ไขได้อีก อาการท่านกำลังดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง บรรดาศิษย์ซึ่งโดยมากมีแต่พระกับเณร ฆราวาสมีน้อย ที่นั่งอาลัยอาวรณ์ ด้วยความหมดหวังอยู่ขณะนั้น ประหนึ่งลืมหายใจไปตาม ๆ กัน เพราะจิตพะว้าพะวังอยู่กับอาการท่าน ซึ่งกำลังแสดง อย่างเต็มที่ เพื่อถึงวาระสุดท้ายของท่านอยู่แล้ว ลมหายใจท่านปรากฏว่า ค่อยอ่อนลงทุกทีและละเอียดไปตาม ๆ กัน ผู้นั่งดู ลืมกระพริบตา เพราะอาการท่านเต็มไปด้วยความหมดหวังอยู่แล้ว ลมค่อยอ่อนและช้าลงทุกทีจนแทบไม่ปรากฏ วินาทีต่อไปลมก็ค่อย ๆ หายเงียบไป อย่างละเอียดสุขุม จนไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า ท่านได้สิ้นไปแล้วแต่วินาทีใด เพราะอวัยวะทุกส่วน มิได้แสดงอาการผิดปกติ เหมือนสามัญชนทั่ว ๆ ไปเคยเป็นกัน ต่างคนต่างสังเกตจ้องมองจนตาไม่กระพริบ สุดท้ายก็ไม่ได้เรื่องพอให้สะดุดใจเลยว่า "ขณะท่านลาขันธ์ ลาโลกที่เต็มไปด้วยความกังวลหม่นหมองคือขณะนั้น " ดังนี้
พอเห็นท่าไม่ได้การ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ พูดเป็นเชิงไม่แน่ใจขึ้นมาว่า "ไม่ใช่ท่านสิ้นไปแล้วหรือ " พร้อมกับยก นาฬิกาขึ้นดูเวลา ขณะนั้นเป็นเวลาตี ๒ นาฬิกา ๒๓ นาที จึงได้ถือเวลามรณภาพของท่าน พอทราบว่าท่านสิ้นไปแล้วเท่านั้น มองดูพระเณรที่นั่งรุมล้อมท่านอยู่เป็นจำนวนมาก เห็นแต่ความโศกเศร้าเหงาหงอย และน้ำตาบนใบหน้าที่ไหลซึมออกมา ทั้งไอทั้งจาม ทั้งเสียงบ่นพึมพำ ไม่ได้ถ้อยได้ความ ใครอยู่ที่ไหน ก็ได้ยินเสียงอุบอิบพึมพำ ทั่วบริเวณนั้น บรรยากาศเต็มไปด้วยความเงียบเหงาเศร้าใจ อย่างบอกไม่ถูก เราก็เหลือทน ท่านผู้อื่นก็เหลือทน ปรากฏว่าเหลือแต่ร่างครอบตัวอยู่เวลานั้น ต่างองค์ต่างนิ่งเงียบไปพักหนึ่ง ราวกับโลกธาตุได้ดับลง ในขณะเดียวกับขณะที่ท่านอาจารย์ลาสมมติคือขันธ์ก้าวเข้าสู่แดนเกษม ไม่มีสมมติความกังวลใด ๆ เข้าไปเกี่ยวข้องวุ่นวายอีก ผู้เขียนแทบหัวอกจะแตกตายไปกับท่านจริง ๆ เวลานั้นทำให้รำพึงรำพัน และอัดอั้นตันใจไปเสียทุกอย่าง ไม่มีทางคิดพอขยับขยายจิตที่กำลังว้าวุ่น ขุ่นเป็นตม เป็นโคลนไปกับการจากไปของท่าน พอให้เบาบางลงบ้าง จากความแสนรัก แสนอาลัยอาวรณ์ที่สุดจะกล่าว ที่ท่านว่าตายทั้งเป็นเห็นจะได้แก่คนไม่เป็นท่าคนนั้นแล
ดวงประทีปที่เคยที่เคยสว่างไสวมาประจำชีวิตจิตใจได้ดับวูบสิ้นสุดลง ปราศจากความอบอุ่นชุ่มเย็นเหมือนแต่ก่อนมา ราวกับว่าทุกสิ่งได้ขาดสะบั้นหั่นแหลกเป็นจุณไปเสียสิ้น ไม่มีสิ่งเป็นที่พึ่งพอเป็นที่หายใจได้เลย มันสุด มันมุด มันด้าน มันตีบตันอั้นตู้ ไปเสียหมดภายในใจ ราวกับโลกธาตุนี้ ไม่มีอะไรเป็นสาระ พอเป็นที่เกาะของจิตผู้กำลังกระหายที่พึ่ง ได้อาศัยเกาะพอได้หายใจ แม้เพียงวินาทีหนึ่งเลย ทั้งที่สัตว์โลกทั่วไตรภพ อาศัยกันประจำภพกำเนิดตลอดมา แต่จิตมันอาภัพอับวาสนาเอาอย่างหนักหนา จึงเห็นโลกธาตุ เป็นเหมือนยาพิษเอาเสียหมดเวลานั้น ไม่อาจเป็นที่พึ่งได้ ปรากฏแต่ท่านพระอาจารย์มั่นองค์เดียว เป็นชีวิตจิตใจ เพื่อฝากอรรถ ฝากธรรม และฝากเป็นฝากตายทุกขณะลมหายใจเลย ......"
ตลอดชีวิตขององค์หลวงปู่ ด้วยความที่ท่านหวัง เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เหตุนั้นท่านจึงไม่อยู่เป็นที่เป็นทางหลักแหล่ง เฉพาะแห่งเดียว เที่ยวไปเพื่อประโยชน์ แก่ชนในสถานที่นั้น ๆ ดังนี้
1. ณ กาลสมัยนั้น (พ.ศ.2447) ท่านอาจารย์มั่น ฯ อยู่วัดเลียบมานาน จึงได้เข้าไปจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม (วัดสระปทุม) กรุงเทพฯ และทางเขาพระงาม จังหวัดลพบุรี
จนถึง พ.ศ.2457 ครั้นแล้วท่านจึงมาหาสหธรรมทางอุบลราชธานี จำพรรษาที่วัดบูรพาในจังหวัดนั้น เมื่อปี พ.ศ.2458 ท่านมีพรรษาได้ 25 พรรษา
2. พ.ศ.2459 จำพรรษาที่ภูผากูด บ้านหนองสูง อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม
3. พ.ศ.2460 จำพรรษาที่บ้านดงปอ "ห้วยหลวง" อำเภอเพ็ญ จ.อุดรธานี
4. พ.ศ.2461 จำพรรษาที่ถ้ำผาบิ้ง จงหวัดเลย
5. พ.ศ.2462 จำพรรษาที่บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
6. พ.ศ.2463 จำพรรษาที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
7. พ.ศ.2464 จำพรรษาที่บ้านห้วยทราย อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม
8. พ.ศ.2465 จำพรรษาที่ตำบลหนองลาด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร
9. พ.ศ.2466 จำพรรษาที่วัดมหาชัย อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำพู
10. พ.ศ.2467 จำพรรษาที่บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
11. พ.ศ.2468 จำพรรษาที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย (วัดอรัญวาสี ปัจจุบัน)
12. พ.ศ.2469 จำพรรษาที่บ้านสามผง อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
13. พ.ศ.2470 จำพรรษาที่บ้านหนองขอน อ.บุง (ปัจจุบัน อ.หัวตะพาน) จังหวัดอำนาจเจริญ
14. พ.ศ.2471 จำพรรษาที่กรุงเทพฯ วัดปทุมวนาราม หรือวัดสระปทุม
15. พ.ศ.2472-2482 จำพรรษาที่จังหวัดเชียงใหม่
16. พ.ศ.2483-2482 จำพรรษาที่วัดโนนนิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
17. พ.ศ.2485 จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคก อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร
18. พ.ศ.2486 จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านนามน อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร
19. พ.ศ.2487 จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคก อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร
20. พ.ศ.2488-2492 จำพรรษาอยู่ที่บ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
มรณภาพ ณ ที่วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2492 เวลา 02.23 น. สิริชนมายุรวมได้ 80 ปี
คัดลอกจาก : http://www.geocities.com/luangpumun/his2.html และ http://www.geocities.com/luangpumun/his3.html
๔ พระธาตุ
หลังองค์หลวงปู่มั่นลาขันธ์เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ จึงได้มี การจัดถวายพระเพลิงศพหลวงปู่ ณ วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนครในวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓ เมื่อถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว อัฐิขององค์หลวงปู่ได้ถูกแบ่งแจกไปตามจังหวัดต่างๆ และประชาชนได้เถ้าอังคารไป
ต่อมาปรากฏว่าอัฐิธาตุขององค์หลวงปู่ที่แจกจ่ายไปยังที่ต่างๆ ก็กลายเป็น พระธาตุไปหมด แม้แต่เส้นผมของท่าน ที่มีผู้เก็บไปบูชา ในที่ต่างๆ ก็กลายเป็น พระธาตุ ได้เช่นเดียวกับอัฐิของท่าน
ปัญหาเรื่องอัฐิหลวงปู่มั่นกลายเป็นพระธาตุนี้ พระธรรมวิสุทธิมงคลหรือ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ศิษย์ขององค์หลวงปู่ รูปหนึ่งได้อธิบายไว้ว่า
"อัฐิพระอรหันต์ก็ดี ของสามัญชนก็ดี ต่างก็เป็นธาตุดินเช่นเดียวกัน การที่อัฐิกลายเป็นพระธาตุได้นั้น ขนอยู่กับใจหรือจิตเป็นสำคัญ อำนาจจิตของพระอรหันต์ ท่านเป็นอริยจิตเป็นจิตที่บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส เครื่องโสมมต่างๆ อำนาจซักฟอกธาตุขันธ์ให้เป็นธาตุบริสุทธิ์ ไปตามส่วนของตน อัฐิจึงกลายเป็นพระธาตุไปได้ แต่อัฐิหรือกระดูกสามัญชนทั่วไป แม้จะเป็นธาตุดินเช่นเดียวกัน แต่จิตสามัญชนทั่วไป เต็มไปด้วยกิเลส จิตไม่มีอำนาจและคุณภาพที่จะซักฟอกธาตุขันธ์ของตนให้บริสุทธิ์ได้
อัฐิจึงจำต้องเป็นสามัญธาตุไปตามวิสัยจิตของคนมีกิเลส จะเรียกไปตามภูมิของจิตภูมิของธาตุว่า อริยจิต อริยธาตุ และสามัญจิต สามัญธาตุ ก็คงไม่ผิด เพราะคุณสมบัติของ
จิต ของธาตุ ระหว่างพระอรหันต์ กับสามัญชน ย่อมแตกต่างกันอย่างแน่นอน ดังนั้นอัฐิ จึงจำเป็นต้องต่างกันอยู่ดี
ผู้สำเร็จอรหันต์ทุกองค์ เวลานิพพาน อัฐิต้องกลายเป็นพระธาตุด้วยกันหมดทั้งสิ้นหรือเปล่านั้น ข้อนี้ยังเป็นเรื่องน่าสงสัย ไม่แน่ใจว่าจะเป็นไปได้อย่างนั้นทุกๆ องค์ เพราะว่าระหว่างกาลเวลาที่บรรจุอรหันต์ จนถึงวันนิพพานนั้น พระอรหันต์แต่ละองค์ มีเวลาสั้นยาว แตกต่างกัน พระอรหันต์ที่บรรลุธรรมวิเศษแล้ว มีเวลาทรงขันธ์อยู่นานปี เวลานิพพานนานถึง อัฐิย่อมมีทาง กลายเป็น พระธาตุ ได้โดยไม่มีปัญหา เพราะระยะเวลาที่ทรงขันธ์อยู่นาน
เช่นเดียวกันกับความสืบต่อแห่งชีวิต ด้วยการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกาย มีลมหายใจเป็นต้น มีการเข้าสมาบัติประจำ อิริยาบถเสมอ ซึ่งเป็นการซักฟอกธาตุขันธ์ให้บริสุทธิ์ไปตามส่วนของตนทุกวันทุกคืนโดยลำดับ
ครั้นถึงเวลานิพพานอัฐิจึงกลายเป็นพระธาตุไป เมื่อผสมกันเข้ากับธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งแผ่กระจายอยู่ทุกอณูบรรยากาศของโลก
ส่วนพระอรหันต์ที่บรรลุอรหัตผลแล้วมิได้ทรงขันธ์อยู่นานเท่าที่ควร เมื่อถึงเวลานิพพาน อัฐิจะกลายเป็นพระธาตุ เหมือนพระอรหันต์ ที่ทรงขันธ์อยู่นานหรือไม่นั้น ยังเป็นปัญหาที่ตอบไม่สนิทใจ
พระอรหันต์ที่เป็นทันธาภิญญา คือผู้รู้ได้ช้าค่อยเป็นค่อยไป เช่น บำเพ็ญไปถึงขั้นอนาคามิผล แล้วติดอยู่นานกว่าจะก้าวขึ้น อรหัตภูมิได้ ต้องพิจารณาท่องเที่ยวไปมา อยู่ในระหว่างอรหัตมรรค กับอรหัตผล จนกว่าจิตจะชำนิชำนาญและมีกำลังเต็มที่จึงผ่านไปได้
ในขณะที่กำลังพิจารณาอยู่ในขั้นอรหัตมรรค เพื่ออรหัตผลนี้ เป็นอุบายวิธีซักฟอกธาตุขันธ์ไปในตัวด้วย เวลานิพพาน อัฐิอาจกลายเป็นพระธาตุได้ ส่วนพระอรหันต์ที่เป็นขิปาภิญญาคือ รู้ได้เร็ว บรรลุอรหันต์ได้เร็ว และนิพพานไปเร็ว พระอรหันต์ประเภทนี้ ไม่แน่ใจว่าอัฐิจะเป็นพระธาตุได้หรือไม่ประการใด เพราะจิตบริสุทธิ์ของท่านเหล่านี้ ไม่มีเวลาทรงและซักฟอกธาตุขันธ์อยู่นานเท่าที่ควร"
๕ ปฏิปทาท่านพระอาจารย์มั่น
"ธุดงควัตรที่ท่านถือปฏิบัติเป็นอาจิณ ๔ ประการ
๑. บังสุกุลิกังคธุดงค์ ถือนุ่งห่มผ้าบังสุกุล นับตั้งแต่วันอุปสมบทมา ตราบจนกระทั่งถึง วัยชรา จึงได้พักผ่อน ให้คหบดีจีวรบ้างเพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ศรัทธานำมาถวาย
๒. บิณฑบาตกังคธุดงค์ ถือภิกขาจารวัตร เที่ยวบิณฑบาต มาฉัน เป็นนิตย์ แม้อาพาธ ไปในละแวกบ้านไม่ได้ ก็บิณฑบาตในเขตวัด บนโรงฉัน จนกระทั่งอาพาธ ลุกไม่ได้ ในปัจฉิมสมัยจึงงดบิณฑบาต
๓. เอกปัตติกังคธุดงค์ ถือฉันในบาตร ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์ จนกระทั่งถึงสมัยอาพาธหนักจึงงด
๔. เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียว เป็นนิตย์ตลอดมา แม้ถึงอาพาธหนักในปัจฉิมสมัยก็มิได้เลิกละ
ส่วนธุดงควัตรนอกนี้ ได้ถือปฏิบัติเป็นครั้งคราว ที่นับว่าปฏิบัติได้มาก ก็คือ อรัญญิกกังคธุดงค์ ถืออยู่ เสนาสนะป่าห่างบ้านประมาณ ๒๕ เส้น หลีกเร้นอยู่ในที่สงัดตามสมณวิสัยเมื่อถึงวัยชราจึงอยู่ใน เสนาสนะ ป่าห่างจากบ้านพอสมควร ซึ่งพอเหมาะกับกำลังที่จะภิกขาจารบิณฑบาตเป็นที่ที่ปราศจากเสียงอื้ออึง ประชาชนยำเกรงไม่รบกวน นัยว่าในสมัยที่ท่านยังแข็งแรง ได้ออกจาริกโดดเดี่ยวแสวงวิเวกไปในดงพงลึกจน สุดวิสัยที่ศิษยานุศิษย์ จะติดตามไปถึงได้ก็มี เช่นในคราวไปอยู่ทางภาคเหนือเป็นต้น ท่านไปวิเวกบนเขาสูง อันเป็นที่อยู่ของพวกมูเซอร์ ยังชาวมูเซอร์ซึ่งพูดไม่รู้เรื่องกันให้บังเกิดศรัทธาในพระศาสนาได้"
พระอริยคุณคุณาธาร วัดเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น เรียบเรียง
"...พ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ท่านพาดำเนินอย่างถูกต้องแม่นยำ ถือเอาธุดงควัตร ๑๓ ("...ธุดงค์ 13 แต่ละข้อ มีความหมายในการปราบปราม กิเลสทุกประเภทได้อย่างอัศจรรย์ ยากที่คาดให้ทั่วถึงได้ดังนี้ 1.บิณฑบาตเป็นวัตร 2.บิณฑบาตตามลำดับบ้าน 3.ไม่รับอาหารที่ตามส่งทีหลัง 4.ฉันในบาตร 5.ฉันหนเดียวในวันหนึ่งๆ 6.ถือผ้าสามผืน 7.ถือผ้าบังสุกุล 8.อยู่รุกขมูลร่มไม้ 9.อยู่ป่า 10.อยู่ป่าช้า 11.อยู่กลางแจ้ง 12.อยู่ในที่เขาจัดให้ 13.ถือไม่อยู่อิริยาบถนอน...") นี้เป็นพื้นเพในการดำเนิน และการประพฤติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น